วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > October Red Alert เศรษฐกิจโลกส่อวิกฤตรอบใหม่

October Red Alert เศรษฐกิจโลกส่อวิกฤตรอบใหม่

แม้สังคมไทยกำลังจะเดินหน้าสู่สมรภูมิการเลือกตั้งที่ทำให้พื้นที่ข่าวจำนวนหนึ่งถูกจัดสรรให้รายงานความเคลื่อนไหวและเป็นไปทางการเมือง ที่ประกอบส่วนด้วยท่วงทำนองของนักการเมืองที่ต่างพร้อมกระโจนเข้าสู่สนามการแข่งขันทั้งอย่างเปิดเผย โดยมีบางส่วนที่ยังสงวนท่าที

ขณะเดียวกันวิกฤตจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะที่อินโดนีเซียก็ดูจะเป็นกรณีที่น่าสนใจติดตามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และทำให้สังคมไทยต้องหันมาตั้งคำถามถึงขีดความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงและบรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นของหน่วยราชการและกลไกแวดล้อมว่ามีอยู่ในระดับใด มีกุญแจที่จะไขไปสู่การสร้างความมั่นใจให้กับสังคมได้มากน้อยเพียงใดหรือไม่

หากแต่ในภาพรวมระดับนานาชาติ ความเป็นไปของเศรษฐกิจมหภาคกำลังดำเนินไปภายใต้ภาวะสุ่มเสี่ยงจากผลกระทบของสงครามการค้าที่เริ่มขึ้นจากข้อขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งทำให้การลงทุนและกระบวนการผลิตที่จะหนุนนำการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้นอีกด้วย และอาจเป็นปัจจัยกดทับให้ความมุ่งหมายที่จะเร่งฟื้นคืนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเจริญรุดหน้าเป็นไปได้อย่างยากลำบากขึ้น

กรณีของสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ต้องออกมาร้องเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะชะงักงันและซบเซาลงในช่วงเวลานับจากนี้ และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกต้องเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้ง หลังจากที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤต subprime ในปี 2008 หรือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าสนใจติดตามจากคำเตือนของไอเอ็มเอฟในครั้งนี้ อยู่ที่การระบุว่า นอกจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะงักงันแล้ว ยังระบุว่าหากวิกฤตค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ยืดเยื้อและลุกลามต่อไป อาจทำให้ต้องเผชิญกับภาวะกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่มากถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับกระแสเงินไหลออกในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อ 10 ปีก่อน

วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังส่อเค้าจะถาโถมเข้าใส่เศรษฐกิจโลกครั้งใหม่นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากผลของสงครามการค้าแต่เพียงลำพังเท่านั้น หากยังประกอบส่วนด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินหลายสกุล ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดภาระหนี้ต่างประเทศของชาติในตลาดเกิดใหม่อย่างหนักหน่วง

ข้อมูลจากไอเอ็มเอฟ ได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา พบว่ากระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่แล้ว มากถึง 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้ประเทศส่วนใหญ่ดำเนินการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ยากลำบากมากขึ้น เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มเปลี่ยนแปลง และมีปัจจัยเสี่ยงที่ปรากฏเค้าลางมาตั้งแต่ต้นปีกำลังเริ่มส่งผลกระทบต่อภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงและแท้จริงยิ่งขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ได้รับการประเมินว่า นอกจากจะมีแนวโน้มส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเองแล้ว ท่าทีดังกล่าวยังบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความมั่นใจของนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลสร้างความเสียหายให้เกิดเป็นความสูญเสียที่มีผลกระทบกว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก

ข้อเท็จจริงที่สอดรับกับข้อสังเกตดังกล่าว ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากมาตรการและท่าทีล่าสุดของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเริ่มเจรจาข้อตกลงทางการค้าฉบับใหม่กับประเทศคู่ค้าไม่ว่าจะเป็น แคนาดา หรือเม็กซิโก เพื่อทดแทนข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งดูจะเป็นการผลักให้ระบบเศรษฐกิจโลกถอยห่างออกจากการเป็นระบบการค้าที่เปิดกว้าง ตามกฎกติกาและเป็นธรรมออกไปมากขึ้น และดูจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พร้อมจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจของโลกในอนาคต

ความกังวลใจดังกล่าว ทำให้ Christine Lagarde ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เตือนว่า ข้อพิพาททางการค้าและมาตรการกำแพงภาษีที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และกำลังส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโต ซึ่งประเทศต่างๆ ควรหาแนวทางและการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่โดยเร็วและร่วมกันปฏิรูปหลักเกณฑ์ทางการค้าโลกผ่านกรอบและองค์กรความร่วมมือทางการค้าที่มีอยู่

ถ้อยแถลงของ Lagarde เกิดขึ้นก่อนหน้าการจัดประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟในช่วงระหว่างวันที่ 12-14 ตุลาคมนี้ ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาวิบัติภัยทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกก็ขยายตัวเติบโตในระดับที่ต่ำ และมีจำนวนประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดน้อยลงไปทุกทีด้วย

ก่อนหน้านี้ ในรายงานของไอเอ็มเอฟ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม ได้คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า ไว้ที่ร้อยละ 3.9 พร้อมกับระบุว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายจับตามองการปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในการประชุมที่กำลังจะมีขึ้นอีกครั้ง

แม้ว่าความกังวลใจเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกจากหน่วยงานและองค์กรระดับโลก จะส่งเสียงสัญญาณเตือนหนักหน่วงขึ้น เป็นประหนึ่ง red alert ให้ทุกฝ่ายได้เตรียมตัวป้องกันและรับมือกับภาวะวิกฤตครั้งใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ทุกขณะ หากแต่สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ดูเหมือนพวกเขายังมั่นใจในแนวนโยบายและมาตรการที่ดำเนินอยู่

ในรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังสามารถรักษาระดับการเติบโตไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรซึ่งจะช่วยประคองกำลังซื้อฐานรากไว้ได้ พร้อมกับคาดการณ์ ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2561 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 อ่อนแรงลงจากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.8

มูลเหตุสำคัญที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอ่อนกำลังลง ผูกพันกับข้อเท็จจริงที่ว่ากลไกการขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมา พึ่งพาภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นด้านหลัก เมื่อภาคการส่งออกเผชิญกับแรงกดดันจากสงครามการค้า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจึงชะลอตัวลงตามไปด้วย

ขณะเดียวกันผลจากการปรับลดจำนวนลงของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งภาครัฐหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นกลไกที่ช่วยหนุนนำเศรษฐกิจไทย หากแต่ต้องเผชิญผลกระทบด้านลบไล่เรียงตั้งแต่เหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต มาจนถึงการถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการขอวีซ่าเข้าประเทศไทยที่ท่าอากาศยาน ซึ่งส่งผลลบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยในสายตาของนักท่องเที่ยวจีนอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนกำลังลงไปอย่างไม่อาจเลี่ยง

ตัวเลขชี้วัดความเป็นไปทางเศรษฐกิจไทยในห้วงที่ผ่านมาอีกประหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยอยู่ที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการเปิดเผยโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 102.57 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15

กรณีดังกล่าว สอดรับกับภาวะสวนทางในความรู้สึกของประชาชนโดยทั่วไป เพราะในขณะที่ภาครัฐโหมประโคมว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคกลับสะท้อนให้เห็นว่าราคาสินค้าหลายชนิดที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า นมสด นมผง ซีอิ๊ว ที่ทำให้ราคาอาหารทั้ง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง ปรับราคาขึ้นไปด้วย ในขณะที่รายได้ของพวกเขาไม่ได้ปรับขึ้นตาม

ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายว่าด้วยหมวดพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 โดยราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.98 ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในค่าโดยสารสาธารณะปรับตัวสูงขึ้นเป็นอีกภาระหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องเผชิญเพิ่มขึ้นด้วย

ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลานับจากนี้ ดูจะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนภายในประเทศ หรือการดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติให้หลั่งไหลเข้ามาช่วยหนุนนำกลไกทางเศรษฐกิจของไทยเท่านั้น

หากแต่โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายทั้งรัฐบาล คสช. ในปัจจุบันรวมถึงรัฐบาลใหม่ที่อาจมีขึ้นหลังการเลือกตั้งในปีหน้าอยู่ที่รัฐไทยจะสามารถตอบรับกับผลกระทบว่าด้วยข้อพิพาททางการค้าที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในระดับที่สูงขึ้นนี้อย่างไร และมีความพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤตค่าเงินและภาวะเงินทุนไหลออกในอนาคตมากน้อยเพียงใด

หากหรือบางทีความสนใจในสัญญาณเตือนภัยว่าด้วยภาวะเศรษฐกิจโลก อาจมีนัยสำคัญน้อยกว่าเสียงปี่กลองปี่พาทย์ที่กำลังขับเคลื่อนสังเวียนการเลือกตั้งเพื่อการช่วงชิงจังหวะก้าวของการขึ้นสู่อำนาจก็เป็นได้

ใส่ความเห็น