วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Life > No sugar added/Sugar Free อ่านฉลากสักนิด ก่อนหยิบลงตะกร้า

No sugar added/Sugar Free อ่านฉลากสักนิด ก่อนหยิบลงตะกร้า

No sugar added/Sugar free ที่ปรากฏอยู่บนฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบนโลกโซเชียลอีกครั้ง โดยเฉพาะสายรักสุขภาพที่มักจะพลิกดูฉลากก่อนหยิบของลงตะกร้าทุกครั้ง ว่าแท้ที่จริงแล้วเหมือนหรือต่างกันอย่างไร “ไม่เติมน้ำตาล” คือไม่มีน้ำตาลเลยจริงๆ ใช่หรือไม่? และถ้าไม่มีน้ำตาลแต่ทำไมยังมีรสหวานอยู่?

No sugar added ปราศจากน้ำตาล?

มาที่คำแรกอย่าง “No sugar added” ถ้าเห็นฉลากนี้แล้วคิดว่าอาหารหรือผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีน้ำตาล คุณกำลังคิดผิด เพราะแท้ที่จริงแล้วคำว่า No sugar added ไม่ได้หมายถึงไม่มีน้ำตาล แต่เป็นฉลากที่บอกให้เรารู้ว่า หมายถึงผู้ผลิตไม่ได้มีการเติมน้ำตาลเพิ่มลงไปเท่านั้นเอง แต่ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ยังคงมีน้ำตาลตามธรรมชาติที่มีอยู่ในส่วนประกอบและวัตถุดิบอยู่ เช่น น้ำตาลที่มีอยู่ในผลไม้ ผัก น้ำผึ้ง นม และยังคงให้ความหวานอยู่ด้วยเช่นกัน

ส่วนฉลาก “Sugar Free” หมายถึง ผลิตภัณฑ์นั้นมีน้ำตาลอยู่ในปริมาณที่น้อยกว่า 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และส่วนใหญ่จะใช้สารให้ความหวานมาทดแทนการใช้น้ำตาล (Artificial sweeteners) โดยสารให้ความหวานนั้นก็ยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สารให้ความหวานไม่ให้พลังงานหรือน้ำตาลเทียม เช่น แอสปาแตม (Aspartame), สตีวีโอไซด์ (น้ำตาลจากหญ้าหวาน) ซูคราโลส และสารให้ความหวานที่ให้พลังงานแต่อยู่ในปริมาณต่ำ เช่น แมนนิทอล ไซลิทอล ซอร์บิทอล

น้ำตาลเป็นผู้ร้ายต่อสุขภาพ…จริงหรือ?
หลายคนมองว่าการรับประทานรสหวานหรือบริโภคน้ำตาลนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ แต่จริงๆ แล้ว น้ำตาลไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป เพราะร่างกายยังต้องใช้น้ำตาลเพื่อเป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แต่การบริโภคน้ำตาลที่เกินความต้องการของร่างกายนั่นต่างหากที่ควรระวัง โดยปริมาณที่แนะนำให้บริโภคน้ำตาลที่เติมเพิ่มในอาหารคือไม่ควรเกิน 4, 6 และ 8 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600 2,000 และ 2,400 กิโลแคลอรีต่อวันตามลำดับ

ถ้าเราบริโภคน้ำตาลที่เกินความต้องการของร่างกายจะก่อให้เกิดการสะสมและส่งผลเสียต่อร่างกายเช่น

– น้ำตาลเป็นสารเร่งให้ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอย เกิดอาการสิวอักเสบ ผิวแก่ก่อนวัย เพราะน้ำตาลจะเข้าไปทำปฏิกิริยาเปลี่ยนโครงสร้างของคอลลาเจนทำให้อีลาสติกน้อยลง

– น้ำตาลทำให้นักหนักเพิ่ม เกิดโรคอ้วน เพราะน้ำตาลที่บริโภคมากเกินที่ร่างกายต้องการจะถูกสะสมในรูปแบบของไขมันในร่างกาย

– กระตุ้นร่างกายให้ผลิตอินซูลินออกมามากเกินไป กระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย และยังสัมพันธ์กับระดับโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดอีกด้วย ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจตามมา

แต่สำหรับการสร้างสุขภาพที่ดีแล้ว ฉลากแสดงปริมาณน้ำตาลอาจยังไม่เพียงพอ การพลิกอ่านฉลากโภชนาการ ดูส่วนประกอบ ปริมาณสารอาหาร ก่อนที่จะเลือกหยิบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ลงตะกร้าคือสิ่งที่สำคัญ

ฉลากโภชนาการ คืออะไร? สำคัญแค่ไหน?
ฉลากโภชนาการ คือ ฉลากที่แสดงข้อมูลทางโภชนาการที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะระบุชนิดและปริมาณของสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นๆ ลงในกรอบสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า “กรอบข้อมูลโภชนาการ” โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

1. ฉลากโภชนาการเต็มรูปแบบ เป็นฉลากแบบเจาะลึกทุกรายละเอียด แสดงชนิดและปริมาณสารอาหารสำคัญทั้งสิ้น 15 รายการ ได้แก่ พลังงานทั้งหมด พลังงานจากไขมัน ไขมันทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว โคเลสเตอรอล โปรตีน คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด ใยอาหาร น้ำตาล โซเดียม วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 แคลเซียม และธาตุเหล็ก

2. ฉลากโภชนาการแบบย่อ ใช้ในกรณีที่ในอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นๆ มีสารอาหารตั้งแต่ 8 รายการ จากจำนวนที่กำหนดไว้ 15 รายการ

วิธีการอ่านฉลากโภชนาการเพื่อการเลือกบริโภคที่ดีต่อสุขภาพ
1. ดูปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภค คือ ปริมาณอาหารที่ผู้ผลิตแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานต่อ 1 ครั้ง โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยของคนไทยว่าหากรับประทานอาหารในปริมาณเท่านี้จะได้รับสารอาหารตามที่กำหนดไว้บนฉลาก

2. ดูจำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ เป็นจำนวนครั้งในการรับประทานผลิตภัณฑ์นั้นๆ จนหมด เมื่อรับประทานครั้งละหนึ่งหน่วยบริโภค

3. คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค คือ ปริมาณสารอาหารและพลังงานที่ผู้บริโภคจะได้รับเมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์นั้นหนึ่งหน่วยบริโภค

4. ดูร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน คือปริมาณสารอาหารในหนึ่งหน่วยบริโภคที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน ซึ่งคำนวณจากพลังงานที่คนไทยควรได้รับโดยเฉลี่ยต่อวันหรือ 2,000 กิโลแคลอรีนั่นเอง

ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏอยู่บนฉลากโภชนาการเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์สุขภาพได้ เช่น หากต้องการควบคุมน้ำหนัก ควรมองหาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีพลังงานต่ำ หรือในกรณีที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน นอกจากดูปริมาณน้ำตาลแล้ว ปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่บริโภคต่อวันก็สำคัญไม่แพ้กัน และสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการขับถ่าย ควรเลือกอาหารที่มีปริมาณของใยอาหารสูง เพื่อเป็นการเติมใยอาหารที่มีส่วนช่วยในการขับถ่าย เป็นต้น

สุขภาพที่ดีสร้างได้จากการเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ก่อนหยิบของลงตะกร้าครั้งต่อไป ลองพลิกอ่านฉลากโภชนาการสักนิดเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินของเราเอง.

ใส่ความเห็น