วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > New Retail: วิสัยทัศน์ Daniel Zhang อนาคตของ Alibaba?

New Retail: วิสัยทัศน์ Daniel Zhang อนาคตของ Alibaba?

แม้ว่าการประกาศวางมือของ Jack Ma และการส่งมอบตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร Alibaba ให้กับ Daniel Zhang เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจะทำให้ผู้คนจำนวนมากฉงนฉงายและสืบเสาะประวัติความเป็นมาเป็นไปเพื่อทำความรู้จักกับ Daniel Zhang บุรุษที่จะก้าวขึ้นมากุมบังเหียนอาณาจักรธุรกิจมูลค่าหลายล้านล้านบาทคนนี้ให้มากขึ้น

หากแต่ในความเป็นจริงกระบวนการในการส่งผ่านและเปลี่ยนถ่ายอำนาจใน Alibaba ดูจะได้รับการออกแบบและวางแผนมาแล้วเป็นอย่างดี เป็นกระบวนการที่ดำเนินการอย่างมีรูปธรรมและต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่ Jack Ma มอบตำแหน่ง CEO ให้กับ Jonathan Lu ในช่วงปี 2013-2015 ซึ่ง Alibaba กำลังจะเข้าจดทะเบียนใน NYSE

ในห้วงเวลาขณะนั้น Daniel Zhang ซึ่งเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Alibaba ตั้งแต่ปี 2007 ด้วยการดำรงตำแหน่ง CFO ของ Taobao Marketplace เว็บไซต์ขายของออนไลน์ของ Alibaba ที่ในขณะนั้นยังไม่ทำกำไร และมีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม 10 ล้านคนต่อวัน กำลังสร้างปรากฏการณ์และได้รับการขนานนามให้เป็น “ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าการชอปปิ้งของคนจีน”

แม้จะได้รับมอบหมายตำแหน่งเป็น CFO แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของเขา ทำให้เขาเข้าดูแลทั้งในส่วนงานด้านการดำเนินการและการเงิน และทำให้ Taobao ขยายไปสู่การทำธุรกิจแบบ B2C และกลายมาเป็น Taobao Mall โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม Taobao นับเฉพาะผู้ใช้งานบนมือถือมีมากถึง 189 ล้านคนต่อวัน

Zhang นำแนวความคิดว่าด้วยมหกรรมการลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายในช่วงหลังวันขอบคุณพระเจ้าของสหรัฐอเมริกา หรือ Black Friday มาปรับใช้ โดยการเลือกวันที่เป็นเทศกาลของคนจีนก่อนที่จะมาได้ข้อสรุปที่ลงตัวในวันที่ 11 เดือน 11 ซึ่งเรียกว่า วันคนโสดจีน มาเป็น gimmick

ปี 2009 คือปีแรกที่ Zhang และทีมงาน Taobao เปิดตัววันลดราคาให้คนจีนชอปปิ้งในวันคนโสดเป็นครั้งแรก ซึ่งผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยการเปิดตัววันแรกทำยอดขายได้ถึง 52 ล้านหยวนคิดเป็นเงินไทย 249 ล้านบาท นับเป็นการเติบโตของยอดจำหน่ายแบบก้าวกระโดดของ Tmall เพราะปกติมียอดจำหน่ายได้เพียงวันละ 10 ล้านหยวนเท่านั้น

รุ่งขึ้นในปีถัดมา 2010 กลายเป็นหลักไมล์สำคัญของ Tmall และมหกรรมการชอปปิ้งลดราคาในวันคนโสดจีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดไปอีกไกล เพราะยอดขายพุ่งทะยานจากปีก่อนหน้าถึง 1,700 เปอร์เซ็นต์โดยยอดจำหน่ายวันเดียวมีมูลค่ารวมกว่า 936 ล้านหยวน หรือประมาณ 4,489 ล้านบาท

ขณะที่มหกรรมชอปปิ้งลดราคาในปี 2011 หรือ 11.11.11 กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การค้าออนไลน์ของจีน เมื่อยอดจำหน่ายสินค้าลดราคาชอปปิ้งในวันคนโสดจีนทำยอดขายไปปิดที่ 3.4 พันล้านหยวนหรือ 1.63 หมื่นล้านบาท

ความสำเร็จแบบก้าวกระโดดที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องของการลดราคาชอปปิ้งวันคนโสดจีน ทำให้ในปี 2012 มีการตั้งเป้าว่าจะปิดยอดขายในวันคนโสดจีนที่ 1 หมื่นล้านหยวน แต่ปรากฏว่าเพียงแค่ครึ่งวันยอดการจำหน่ายก็แตะระดับ 1 หมื่นล้านหยวนที่ตั้งไว้เมื่อเวลา 13.30 ของวัน และเมื่อจบวันยอดขายก็พุ่งไปปิดที่ 1.9 หมื่นล้านหยวนหรือกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกินกว่าที่ตั้งเป้ากว่าเกือบเท่าตัว

ยอดการจำหน่ายในวันคนโสดจีนของ Alibaba เติบโตอย่างต่อเนื่องและก้าวข้ามหลักไมล์แสนล้านหยวนไปในปี 2016 ด้วยยอดการจำหน่ายรวม 1.21 แสนล้านหยวนหรือกว่า 5.8 แสนล้านบาท และดูเหมือนว่าสถิติจะมีไว้ให้ทำลายโดยในปี 2017 ที่ผ่านมา Alibaba สร้างสถิติใหม่ในวันคนโสดจีนด้วยการทำยอดขายเพียงครึ่งวันที่ 1.21 แสนล้านหยวน ล้มสถิติเก่าในปี 2016 และปิดยอดขายทั้งวันที่ 1.68 แสนล้านหยวน หรือ 8.3 แสนล้านบาท

ผลงานอันโดดเด่นของ Zhang ในการผลักดันอีคอมเมิร์ซและยอดขายของ Alibaba ทำให้เขาได้รับมอบหมายให้ขึ้นเป็นซีอีโอของ Alibaba ในปี 2015 พร้อมทั้งได้อยู่ในบอร์ดผู้อำนวยการของ Alibaba Group โดยนั่งเป็นประธานของ Cainiao Network ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้ง Alibaba Partnership และยังเป็นสมาชิกในกลุ่มคณะกรรมการของ Ant Financial

ในจดหมายของ Jack Ma ฉบับล่าสุด Ma เขียนไว้ว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานใน Alibaba ของ Zhang เขาได้ทำให้รายได้และธุรกิจของ Alibaba เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืนต่อเนื่องมาถึง 13 ไตรมาส นอกจากนั้น Zhang ยังได้รับการยกย่องจากสื่อจีนให้เป็น CEO ดีเด่นประจำปี 2018 พร้อมกับระบุว่า Zhang เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ มีไฟในการทำงาน มีหัวในการคิดสร้างสรรค์ และพัฒนารูปแบบทางธุรกิจอยู่เสมอ และระบุว่าเชื่อมั่นเป็นอย่างมากกับการนำ Alibaba ของ Zhang หลังจากนี้

ความสำเร็จของ Zhang ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นบนสุญญากาศ หากแต่เป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ที่แหลมคม ซึ่งนำให้ Zhang ซึ่งเคยทำงานในบริษัทเกมผันตัวมาอยู่กับ Alibaba ภายใต้เหตุผลที่เขาเชื่อว่า “อีคอมเมิร์ซมีอนาคตที่สดใส เพราะมันยังอยู่ในจุดเริ่มต้น ต่างกันกับธุรกิจเกม และผมคิดว่าอีคอมเมิร์ซมีความสำคัญกับชีวิตของผู้คนในชีวิตประจำอย่างอย่างแท้จริง”

ขณะที่หนทางท้าทายข้างหน้า Zhang ได้สะท้อนวิสัยทัศน์ของเขาผ่านบทสัมภาษณ์ ที่ระบุว่า Alibaba จะเติบโตไปด้วยกลยุทธ์ “New Retail” ที่เป็นการผสมผสานระหว่างออนไลน์ (e-commerce) และออฟไลน์ (หน้าร้าน) ที่ลงตัว ซึ่ง Zhang ประเมินว่า ธุรกิจห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีหน้าร้านยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูง เพียงแต่ต้องได้รับการยกระดับรูปแบบทางธุรกิจ รวมถึงการบริหารจัดการที่ต้องเป็นดิจิทัล

Zhang นับเป็นแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังยุทธศาสตร์ New Retail ที่ผสานทั้ง e-commerce และการจำหน่ายสินค้าผ่านหน้าร้านทางกายภาพไว้ด้วยกัน โดยมี Hema Supermarket เป็นประหนึ่งแบบทดลองรูปแบบธุรกิจที่ Alibaba กำลังจะปั้นให้เกิดและเติบโตขึ้นมา

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา Alibaba ภายใต้การนำของ Zhang ในฐานะ CEO ได้ใช้เงินลงทุนจำนวนมากเข้าซื้อกิจการร้านค้าและห้างสรรพสินค้า เพื่อเปิดหน้าร้านค้าปลีก ท่ามกลางความกังวลใจของผู้ลงทุนว่าเงินที่ Alibaba จ่ายไปจะได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่ เพราะส่วนต่างทางการค้าแบบเดิมอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างลดต่ำลง

หากแต่สำหรับ Alibaba และ Zhang กรณีดังกล่าวกำลังจะเป็นการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของวงการค้าปลีกครั้งใหญ่ และเป็นการผสานความชำนาญการของ Alibaba ไปสู่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ยังไม่นับรวมมิติที่ Alibaba สามารถใช้ประโยชน์จากร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมเหล่านี้เป็นทั้งหน้าสัมผัสและคลังกระจายสินค้าให้กับผู้รับบริการอีกด้วย

ขณะที่นักวิเคราะห์จากฝั่งฟากอเมริกาประเมินแนวความคิดว่าด้วย New Retail ของ Alibaba อาจเป็นจักรกลที่ช่วยหนุนนำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกของอเมริกากลับมาคึกคักและหวนคืนสู่วันที่งดงามอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทางสังคมของการออกไปชอปปิ้งในห้างสรรพสินค้า กระตุ้นการสร้างงาน รวมถึงการปลุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระดับชุมชนให้ฟื้นคืนตื่นขึ้น

ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ตัวแบบทางธุรกิจที่ Alibaba กำลังดำเนินอยู่นี้ กลายเป็นรอยทางที่คู่แข่งขันของ Alibaba ไม่ว่าจะเป็น Tencent หรือ JD.com ต่างก้าวย่างไปบนหนทางเดียวกันด้วยการสร้าง 7Fresh Supermarket ในกรณีของ JD.com รวมถึงการผนึกกำลังระหว่าง Tencent กับ Wanda Commercial Management Group ในการสร้างยุทธศาสตร์ smart retail ขึ้นมาเป็นคานงัดกับ New Retail ของ Alibaba ด้วย

วิสัยทัศน์ของ Daniel Zhang ว่าด้วย New Retail ที่ว่านี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงเข็มทิศที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาของ Alibaba ในอนาคตเท่านั้น หากในอีกด้านหนึ่งนี่คือยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของ Alibaba ที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุคหลัง Jack Ma และเป็นปฐมบทแห่งยุคสมัยของ Daniel Zhang ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในไม่ช้านับจากนี้

ใส่ความเห็น