วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > PR News > KTIS – GGC เซ็นเอ็มโอยูกับ ‘เค็มโปลีส’ จากฟินแลนด์ ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนชานอ้อยเป็นเอทานอลคุณภาพสูง พร้อมพัฒนาสู่โครงการในไบโอคอมเพล็กซ์เฟส 2

KTIS – GGC เซ็นเอ็มโอยูกับ ‘เค็มโปลีส’ จากฟินแลนด์ ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนชานอ้อยเป็นเอทานอลคุณภาพสูง พร้อมพัฒนาสู่โครงการในไบโอคอมเพล็กซ์เฟส 2

กลุ่ม KTIS ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ GGC และเค็มโปลีส ผู้นำเทคโนโลยีชีวภาพระดับโลกจากฟินแลนด์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงแปรรูปชานอ้อยเป็นเอทานอลคุณภาพสูง ที่เพิ่มมูลค่าให้กับชานอ้อยตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ พร้อมต่อยอดการลงทุนเชิงพาณิชย์ในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์เฟส 2

วันนี้ (22 สิงหาคม 2561) ได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชานอ้อย ระหว่าง บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS, บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC และเค็มโปลีส จำกัด (Chempolis) จากประเทศฟินแลนด์

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวว่า ตามที่กลุ่ม KTIS และ GGC ได้มีข้อตกลงร่วมกันพัฒนาโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) โดยในเฟสแรกจะนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอล และมีชานอ้อยเป็นผลพลอยได้ ซึ่งชานอ้อยนอกจากสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อยได้แล้ว ยังสามารถนำไปเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและสารมูลค่าสูงอื่นๆ เช่น เฟอเฟอราล (Furfural), อะซีติก เอซิด (Acetic Acid) และ ลิกนิน (Lignin) แต่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะ เช่น เทคโนโลยีเซลลูโลสชีวมวล (Cellulosic Biomass Technology) ซึ่งพัฒนาโดยเค็มโปลีส ผู้นำด้านเทคโนโลยีชีวภาพระดับโลกจากฟินแลนด์

“การลงนามในบันทึกความเข้าใจสามฝ่าย คือ KTIS, GGC และเค็มโปลีส ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพัฒนาไปสู่โครงการที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากชานอ้อย ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตามนโยบายการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ต่อยอดที่มีมูลค่าสูงขึ้น อันจะส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศสูงขึ้นด้วย รายได้ของเกษตรกรก็จะสูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนใกล้เคียงก็จะมีเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

ทั้งนี้ พันธมิตรทั้งสามองค์กรจะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีที่เค็มโปลีสมีอยู่แล้ว หรือที่จะพัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อที่จะแปรรูปชานอ้อยให้เป็นผลิตภัณฑ์และสารเคมีคุณภาพสูงต่างๆ ที่สามารถใช้ทดแทนสารเคมีที่ผลิตจากสารตั้งต้นที่ไม่ใช่วัตถุดิบธรรมชาติได้ อันจะเป็นผลดีกับสิ่งแวดล้อมโลกด้วย ซึ่งหากศึกษาแล้วพบว่ามีโอกาสจะดำเนินโครงการเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะพัฒนาเป็นโครงการในเฟสที่สอง ของนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ต่อไป

สำหรับการลงทุนในช่วงแรก จะมีการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับโครงการในเฟสที่หนึ่ง และเฟสที่สอง และสร้างโรงงานผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย ใช้เงินลงทุนรวมประมาณแปดพันล้านบาท โดย KTIS และ GGC ลงทุนฝ่ายละห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณสองปีหลังจากได้รับอนุมัติการลงทุน ทั้งนี้ จะมีการหีบอ้อยประมาณสองล้านสี่แสนตันต่อปี มีกำลังการผลิตเอทานอลหกแสนลิตรต่อวัน

ใส่ความเห็น