วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > Iskandar Malaysia จากระเบียงเศรษฐกิจสู่การปิดล้อม

Iskandar Malaysia จากระเบียงเศรษฐกิจสู่การปิดล้อม

ความพยายามในการกระตุ้นพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคจะวันออกของมาเลเซีย (East Coast Economic Region: ECER) ที่ดำเนินการผ่านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงรูปธรรมครั้งใหม่ที่ดำเนินผ่าน East Coast Rail Link (ECRL) อภิมหาโครงการที่มีมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่งทำพิธีวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ามาเลเซียได้ประกาศตัวที่จะคัดง้างบทบาทของสิงคโปร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมีนัยสำคัญ

เพราะนอกจากวันที่ 9 สิงหาคมจะถือเป็นวันชาติสาธารณรัฐสิงคโปร์ ที่ย้อนหลังกลับไปในปี 1965 หากแต่ในอีกมิติหนึ่งวันที่ 9 สิงหาคมในส่วนของมาเลเซีย ถือเป็นวันแห่งการขับไล่สิงคโปร์ หลังจากที่รัฐสภาแห่งสหพันธรัฐมาเลเซียลงมติขับสิงคโปร์ออกจากการเป็นสมาชิกในสหพันธรัฐ และทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศเอกราชเกิดใหม่ขึ้นมา

ความสัมพันธ์ที่ขมขื่นแบบทั้งรักทั้งชัง และความพยายามช่วงชิงบทบาทนำในภูมิภาคระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่ฝังรากลึกอยู่ภายใน และเมื่อรัฐเกิดใหม่อย่างสิงคโปร์สามารถระดมสรรพกำลังในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไกลกว่าสหพันธรัฐที่เป็นฝ่ายขับไล่ออกมา ยิ่งเป็นประหนึ่งแรงขับที่ผลักดันให้ผู้นำมาเลเซีย พยายามวางโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม เพื่อก้าวข้ามภาพหลอนแห่งความสำเร็จที่สิงคโปร์ได้รับยิ่งขึ้นไปอีก

จุดเปลี่ยนผ่านในเชิงนโยบายเศรษฐกิจครั้งสำคัญของมาเลเซียในการไล่ตามความสำเร็จของสิงคโปร์เกิดขึ้นเมื่อ Abdullah Ahmad Badawi ก้าวขึ้นเป็นผู้นำมาเลเซียด้วยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของมาเลเซียในเดือนตุลาคม 2003 ต่อจาก Mahathir Mohamad ที่นำพาประเทศมาต่อเนื่องกว่า 2 ทศวรรษ (1981-2003)

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของ Abdullah Badawi ติดตามมาพร้อมกับการประกาศทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่ไม่เน้นการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ หากแต่ด้วยการสร้างเสริมนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้ Abdullah Badawi ได้รับการกล่าวถึงในฐานะ Father of Human Capital Development ของมาเลเซีย

มรดกที่เกิดขึ้นจากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของ Abdullah Badawi ซึ่งได้รับการบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 9 (Ninth Malaysian Plan: 9MP) ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2010 อยู่ที่การสร้างระเบียงเศรษฐกิจที่ไล่เรียงตั้งแต่ Iskandar Malaysia (South Johor Economic Region: SJER) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในรัฐ Johor และเริ่มมีผลในทางปฏิบัติในเดือนพฤศจิกายน 2006

แผนพัฒนา Iskandar Malaysia ตั้งอยู่บนฐานของแนวความคิดและรูปแบบการพัฒนาที่ได้เกิดขึ้นจากกรณี Pearl River Delta Economic Zone ของจีน โดยหวังว่า Johor จะสามารถพัฒนาและผนึกผสานเข้ากับพัฒนาการที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ ไม่แตกต่างจากกรณีของพัฒนาการที่เกิดขึ้นบนความสัมพันธ์ระหว่างเซินเจิ้น (Shenzhen) และฮ่องกง และหนุนนำให้ Johor ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในปี 2025

ขณะที่หน่วยงานในชื่อ Iskandar Investment Berhad หรือในชื่อเดิม South Johor Investment Corporation Berhad ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในระดับภูมิภาค พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมการกระตุ้นพัฒนาการในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Catalyst Development) ควบคู่ไปด้วย

ขณะเดียวกัน Abdullah Badawi ยังผลักดันระเบียงเศรษฐกิจ Northern Corridor Economic Region (NCER) ที่ครอบคลุมพื้นที่ของรัฐ  Perlis, Penang, Kedah และตอนเหนือของรัฐ Perak ให้เป็นรูปเป็นร่างในทางปฏิบัติในเดือนกรกฎาคม 2007 เพื่อยกระดับให้ภูมิภาคนี้พัฒนาไปสู่การเป็นภูมิภาคที่มีความยั่งยืน ควบคู่กับความสมดุลทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม ภายในปี 2025

ก่อนที่จะย้อนกลับมาสู่ East Coast Economic Region: ECER ที่ประกอบส่วนด้วยรัฐทางชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายา ทั้ง Kelantan, Terengganu, Pahang และ Mersing ซึ่งเป็นเขตหนึ่งในทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ Johor โดยแผนพัฒนาพื้นที่ใน ECER ระยะเวลา 12 ปี เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2007 ซึ่งครอบคลุมทั้งการลงทุนด้านสาธารณูปการ และโครงข่ายคมนาคม รวมถึงการยกระดับท่าเรือน้ำลึกที่ Kuantan และ Kemaman

ระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 3 แห่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งการเรืองอำนาจของ Abdullah Badawi กำลังทำหน้าที่และได้รับการสานต่อจากรัฐบาลชุดต่อมาในยุคสมัยของ Najib Razak ซึ่งเป็นการต่อยอดที่ดูเหมือนว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้สูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า หลังจากที่จีนกำลังเร่งระดมแนวรุกการลงทุนตามยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Route Strategy) และ สร้อยไข่มุก (String of Pearls) อย่างหนักหน่วงและจริงจัง

บทบาทของจีนในการเข้ามาขยายการลงทุนในมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่โครงการพัฒนา Iskandar Malaysia ในรัฐ Johor ไม่เพียงจะเป็นส่วนช่วยเติมเต็มความมุ่งหวังและเป้าหมายของมาเลเซีย ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนพัฒนาการโดยรวมของมาเลเซียเท่านั้น หาก Iskandar Malaysia ยังได้รับการเรียกขานว่ากำลังจะเป็น New Shenzhen ซึ่งสะท้อนมิติความเป็นไปได้อย่างมีนัยความหมาย

เพราะลำพังความเป็นไปของอภิมหาโครงการมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาทในโครงการที่ลงทุนโดย Country Garden Holdings ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากจีนที่จะลงทุนสร้างเมืองใหม่ขึ้นในทะเลนอกชายฝั่งของ Johor Bahru ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งช่องแคบมะละกา และแน่นอนสิงคโปร์เพื่อนบ้านของมาเลเซียอย่างไม่ต้องสงสัย

และหากพิจารณาผ่านความมุ่งหมายของ CDP (Comprehensive Development Plan) ที่กำหนดเป้าประสงค์การพัฒนาธุรกรรมในเชิงพาณิชย์ 6 ด้าน ซึ่งเป็นประหนึ่งเสาหลักในการดำเนินไปข้างหน้าสำหรับ Iskandar Malaysia ให้ครอบคลุมตั้งแต่การให้บริการด้านการศึกษา การสร้างสรรค์บริการทางการเงิน บริการด้านสุขภาพ โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยวด้วยแล้ว การเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้สั่นคลอนสถานภาพของสิงคโปร์ในระยะยาวไม่น้อยเลย

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในด้านหนึ่งอยู่ที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างจากจีนจำเป็นต้องมองหาตลาดใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มสัดส่วนภายในประเทศที่กำลังชะลอตัวและเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ซึ่งโครงการระเบียงเศรษฐกิจที่ Johor บริเวณปลายแหลมของคาบสมุทรมลายู ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์ถึงเกือบ 3 เท่า ดูจะเป็นคำตอบแห่งโอกาสที่ลงตัว

โครงการที่อยู่อาศัยซึ่งจะสร้างบนเกาะที่ได้จากการถมทะเล 4 เกาะสามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้มากถึง 7 แสนคน พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการอยู่อาศัยและสันทนาการ ทั้งอาคารสำนักงาน สวนสาธารณะ โรงแรม ศูนย์การค้า โรงเรียนนานาชาติ ถูกออกแบบให้อยู่ในพื้นที่สีเขียวภายใต้แนวคิด “Forest City” โดยการก่อสร้างได้เริ่มไปตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 และถือว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนกว่า 60 โครงการที่เกิดขึ้นในเขต Iskandar Malaysia บริเวณรอบ Johor Bahru

ผลของการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยอย่างเอิกเกริกใน Johor Bahru ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมากถึงกว่า 5 แสนยูนิต ในด้านหนึ่งได้ส่งผลให้เกิดการตกต่ำในการขายและส่งผลให้มีการแข่งขันด้านราคาเพิ่มขึ้น หากแต่ในอีกด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ดูจะยิ่งส่งผลให้ Johor มีข้อได้เปรียบเหนือสิงคโปร์ที่มีอัตราค่าที่ดินและที่พักอาศัยสูงกว่ายิ่งขึ้นไปอีก

คลื่นของบรรษัทพัฒนาที่ดินจากจีนที่ถาโถมเข้ามาในพื้นที่ ได้รับการประเมินว่าเป็นผลมาจากราคาที่ดินที่ต่ำและการเป็นทางเลือกทดแทนสิงคโปร์ โดยที่ผ่านมามีบริษัทที่เคยมีสำนักงานในสิงคโปร์ ย้ายสำนักงานเข้ามาใน Johor ขณะที่ศูนย์การค้าและแหล่งสันทนาการที่มีให้เลือกหลากหลายกลายเป็นจุดสนใจสำหรับชาวสิงคโปร์ที่จะเดินทางท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับเข้ามาที่ Johor Bahru มากขึ้นอีก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในกรณีของพัฒนาการในรอบทศวรรษที่ผ่านมาของ Iskandar Malaysia โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่พิเศษอย่าง Johor Bahru ซึ่งเป็นประหนึ่งปลายดาบที่จ่อยื่นมาติดอยู่ที่ลำคอ หรือการขับเคลื่อน ECRL ที่สอดคล้องทั้งในมิติของการยกระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจภายในของมาเลเซีย และยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจจากจีน ในด้านหนึ่งย่อมไม่ใช่สิ่งที่สิงคโปร์พึงใจนัก เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกลดทอนบทบาทและสถานะในระยะยาวแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในภาวะที่เสมือนหนึ่งถูกปิดล้อมทางโอกาสไปโดยปริยายด้วย

ภายใต้แนวคิดว่าด้วยการเชื่อมอาเซียน หรือ ASEAN Connectivity การแข่งขันและความพยายามที่จะช่วงชิงบทบาทในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ในความเป็นจริงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกรณีของมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่อาจมีความเป็นไปในเชิงประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์แบบความหวานที่ขมขื่นต่อกันเท่านั้น

หากแต่ปัจจัยสำคัญในการก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในระดับภูมิภาคอยู่ที่ความสามารถในการบริหารจัดการและการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติอย่างมีวิสัยทัศน์ และผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะที่มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น