วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > Ho Chi Minh City ไข่มุกแห่งตะวันออกไกล

Ho Chi Minh City ไข่มุกแห่งตะวันออกไกล

อาคารสีเหลืองครีมสไตล์โคโลเนียลฝรั่งเศสที่เป็นที่ทำการของเมือง ตั้งตระหง่านและทอดยาวไปตามถนน ด้านหน้าเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ “โฮจิมินห์” อดีตประธานาธิบดีและวีรบุรุษผู้มีบทบาทสำคัญในการกอบกู้อิสรภาพให้กับเวียดนาม รอบด้านรายล้อมด้วยโรงแรมหรูหรา ศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ ร้านค้าแบรนด์เนมหลากหลายยี่ห้อ คละเคล้าไปด้วยเสียงแตรรถจากกองทัพรถจักรยานยนต์ และผู้คนที่เดินขวักไขว่ไปมา

ที่นี่คือจัตุรัสของนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางความเจริญของประเทศเวียดนาม และเมืองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไข่มุกแห่งตะวันออกไกล”

นครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City) หรือชื่อเดิมคือ “ไซง่อน” (Saigon) ได้ชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศบริเวณแม่น้ำไซง่อน ห่างจากกรุงฮานอยซึ่งเป็นเมืองหลวงประมาณ 1,760 กิโลเมตร

โฮจิมินห์เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนาน อดีตเคยเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของฝรั่งเศส ในยุคที่ฝรั่งเศสเข้ายึดอินโดจีนเป็นอาณานิคม และตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสนานนับร้อยปี

ในปี 1954 ประเทศเวียดนามถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ไซง่อนในสมัยนั้นได้กลายมาเป็นเมืองหลวงของเวียดนามใต้ โดยมีกรุงฮานอยเป็นเมืองหลวงของเวียดนามเหนือ

หลังจากผ่านการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองของชาติตะวันตกมาอย่างยากลำบาก เวียดนามสามารถรวมประเทศได้อีกครั้งในปี 1976 ไซง่อนอดีตเมืองหลวงของเวียดนามใต้ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นนครโฮจิมินห์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ “โฮจิมินห์” ผู้นำการปฏิวัติที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการประกาศอิสรภาพของเวียดนาม และมีกรุงฮานอยเป็นเมืองหลวงของประเทศดังเดิม

ภาพความบอบช้ำที่สื่อสะท้อนออกมาจากพิพิธภัณฑ์สงคราม (War Remnants Museum) ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง บอกเล่าช่วงเวลาอันหนักหน่วงของการต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของชาติในอดีตได้อย่างชัดเจน

ปัจจุบันนครโฮจิมินห์ได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของตัวเองใหม่ พัฒนาเมืองจนกลายมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนที่สำคัญที่สุดของเวียดนาม แหล่งรวมความเจริญและทันสมัย เป็นหมุดหมายของนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ (Hochiminh Stock Exchange – HOSE) ตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกของประเทศเวียดนาม และเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

เครนขนาดใหญ่ที่กำลังทำหน้าหน้าที่ของมัน บ่งบอกถึงอาคารใหญ่น้อยที่กำลังถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอาคารสำนักงาน ร้านค้า โรงแรม และที่พักอาศัย เป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปในเมือง และในอนาคตอันใกล้จะมีการเปิดใช้รถไฟฟ้าใต้ดินแห่งนครโฮจิมินห์ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2020 เพื่อลดปัญหาการจราจรและรองรับการขยายตัวของเมืองที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้โฮจิมินห์ยังเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาติเตินเซินเญิ้ต (Tan Son Nhat International Airport) ท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดและรองรับผู้โดยสารได้มากที่สุดในประเทศ และยังมีแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า ท่าอากาศยานนานาชาติล็องถั่ญ (Long Thanh International Airport) ที่จังหวัดด่งนาย ห่างจากนครโฮจิมินห์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพียง 40 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2025 และเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก

ไม่เพียงเท่านั้นข่าวการปัดฝุ่นโครงการไฮสปีดเทรนจากฮานอยมายังโฮจิมินห์หลังชะลอโครงการมานานนับสิบปีให้กลับมาเป็นรูปธรรมอีกครั้ง ยังสร้างความน่าสนใจและฉายภาพความพยายามในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนามได้อย่างชัดเจน และยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้นครโฮจิมินห์เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของเวียดนามใต้และพัฒนาไปสู่เมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียในอนาคตอีกด้วย

ปัจจุบันนครโฮจิมินห์มีสถานะเป็นเขตบริหารแบบนครพิเศษ มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดในเวียดนาม และเป็นเมืองที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงสุดในประเทศด้วยเช่นกัน ทั้งการพัฒนาเมืองแบบก้าวกระโดด มีแนวโน้มการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งติดแม่น้ำอันเอื้อต่อการคมนาคมขนส่ง โฮจิมินห์จึงเป็นที่จับตามองของนานาประเทศและได้รับการขนานนามว่าเป็นไข่มุกแห่งตะวันออกไกล

แต่การเดินทางจนกว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หลังการรวมประเทศในปี 1976 รัฐบาลเวียดนามดำเนินการบริหารประเทศตามรูปแบบอุดมการณ์สังคมนิยมอย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จนัก ส่งผลให้ประเทศประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ

ต่อมาในปี 1986 รัฐบาลมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมือง ได้ประกาศใช้นโยบายปฏิรูปโด่ยเหม่ย (Doi Moi Renovation) ซึ่งเป็นการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่ตลาดเสรีและสอดคล้องกับกระแสโลกมากขึ้น โดยรัฐยังคงควบคุมกิจการของรัฐเอาไว้ แต่ผ่อนปรนให้ประชาชนสามารถดำเนินธุรกิจการค้าของตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม (SEDS) เพื่อวางเป้าหมายในการพัฒนาประเทศที่ทุกหน่วยงานมุ่งไปสู่ทิศทางเดียวกัน

หลังการประกาศใช้นโยบายโด่ยเหม่ย เวียดนามสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้หลายด้าน ทั้งการค้า การลงทุน การเงิน และการธนาคาร มีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน เพิ่มจำนวนชนชั้นกลางที่มีรายได้และกำลังซื้อสูงขึ้น เปลี่ยนประเทศเวียดนามจากประเทศที่เคยยากจนไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางได้สำเร็จ และนำมาสู่การพัฒนาประเทศอย่างทุกวันนี้ โดยมีนครโฮจิมินห์เป็นตัวอย่างการพัฒนาที่เห็นชัดที่สุด

กับประโยคที่ว่า “เวียดนามกำลังพัฒนาแซงหน้าไทย” ที่ผ่านการรับรู้ของเรามาหลายยุคหลายสมัย สร้างทั้งความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีทั้งที่จับตามองและเพิกเฉย มีทั้งที่คิดว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นและที่คิดว่ามันไม่มีโอกาสเป็นเช่นนั้น

จากภาพการพัฒนาของโฮจิมินห์ซิตี้ในปัจจุบัน การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของคนเวียดนามที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมมาจนถึงวันนี้ อาจทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้งว่า สิ่งที่เคยคิดมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

ใส่ความเห็น