วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > Good Society Summit “Hope in Crisis” ภารกิจสร้างสังคมให้น่าอยู่ผ่านมูลนิธิเพื่อคนไทย

Good Society Summit “Hope in Crisis” ภารกิจสร้างสังคมให้น่าอยู่ผ่านมูลนิธิเพื่อคนไทย

ปัจจุบันสังคมไทยยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาในหลากหลายมิติ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม และการคอร์รัปชัน ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องทั้งสิ้น และแน่นอนว่าการแก้ปัญหาสังคมที่ซับซ้อนนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

ที่ผ่านมามีความพยายามในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชนออกมาให้เราได้เห็นกันไม่น้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “มูลนิธิเพื่อคนไทย” ที่พยายามแก้ปัญหาสังคมโดยสร้างกลไกอันเกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ

มูลนิธิเพื่อคนไทยเป็นอีกหนึ่งองค์กรสาธารณประโยชน์ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยเชื่อว่าการแก้ปัญหาสังคมขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนและหลากหลายนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนั้นจึงได้สร้างเครือข่ายจากองค์กรและหน่วยงานที่ทำงานในประเด็นต่างๆ ทางสังคมโดยตรง ผนวกกับความร่วมมือของประชาชนที่ถือว่าเป็นกำลังสำคัญ โดยมี “วิเชียร พงศธร” แชร์แมนกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ และผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานของมูลนิธิและกิจการเพื่อสังคมต่างๆ มากว่า 30 ปี เป็นหัวเรือใหญ่

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการผลักดันเรื่องการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม วิเชียรจึงได้จัดตั้งมูลนิธิยุวพัฒน์ขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เพื่อสนับสนุนและสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา โดยใช้กลไกต่างๆ ทั้งการระดมทุนผ่านร้านขายของมือสองอย่าง “ร้านปันกัน”, โครงการร้อยพลังการศึกษา, โครงการฟู้ด ฟอร์ กู้ด (Food for Good) เพื่อขจัดปัญหาเด็กทุพโภชนาการ รวมไปถึงการให้ทุนการศึกษาในระดับต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาด้านการศึกษาของไทย ก่อนที่จะขยายกิจการเพื่อสังคมในประเด็นอื่นๆ ต่อไปให้ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงมูลนิธิเพื่อคนไทยซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกลไกพัฒนาสังคมโดยประชาชนมีส่วนร่วม

มูลนิธิเพื่อคนไทยมีการดำเนินงานผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่อาจเป็นที่คุ้นตาของหลายๆ คนมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ” ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมแหล่งทุนและความต้องการของสังคม รวมถึงร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งด้านการศึกษา การพัฒนาเด็กปฐมวัย สร้างอาชีพ การจ้างงานผู้พิการ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างแคมเปญ “มือถือนี้ พี่ให้น้อง(เรียน)” ที่ระดมโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือแคมเปญ “Limited Education” ระดมทุนเพื่อช่วยเด็กไทยไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา

หรือจะเป็นเทใจดอทคอม (taejai.com) ที่เชื่อแน่ว่าหลายคนคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์ชื่อนี้กันเป็นอย่างดี “เทใจ” ถือเป็นการระดมทุนออนไลน์เพื่อสังคมแห่งแรกของประเทศไทยที่ทำหน้าที่เชื่อมโยง “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” เข้าไว้ด้วยกัน โดยเทใจจะคัดเลือกโครงการที่มีความน่าเชื่อถือและต้องการสร้างสรรค์สังคมที่ดี ก่อนจะนำมาระดมทุนผ่านออนไลน์

กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย ร่วมมือกับภาคตลาดทุนและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) รวม 10 บริษัท จัดตั้งกองทุนรวมหุ้น 10 กองทุน เพื่อลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนทางธุรกิจและนำไปใช้ในกิจกรรมเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน เช่น โครงการพัฒนาเกมเพื่อการเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันในห้องเรียน, โครงการ Big Open Data เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน

กองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคม ซึ่งร่วมมือกับบริษัท เช้นจ์ เวนเจอร์ จำกัด เปิดโอกาสให้เกิดนักข่าวและสื่อใหม่ๆ เพื่อให้เกิดสื่อที่มีคุณภาพ โปร่งใส แสวงหาความจริง และสร้างผลบวกต่อสังคมได้จริงๆ อย่างเช่นการทำ “เพจต้องแฉ Must share” ที่ทำหน้าที่เปิดเผยประเด็นการทุจริตคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ มูลนิธิเพื่อคนไทยยังให้การสนับสนุนและร่วมสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมให้สามารถขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมควบคู่ไปกับการอยู่รอดทางธุรกิจด้วยตัวเองต่อไปได้

อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่มูลนิธิเพื่อคนไทยใช้เป็นกระบอกเสียงและกลไกในการพัฒนาสังคมคือการจัดงาน “Good Society Expo” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เทศกาลทำดีหวังผล” ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นรูปแบบของ Online Virtual Conference ในชื่อ “Good Society Summit 2021: Hope in Crisis” ระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2564

พัดชา มหาทุมะรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ มูลนิธิเพื่อคนไทย เปิดเผยว่า “งาน Good Society Expo เป็นภาคต่อของงานคนไทยขอมือหน่อยที่มูลนิธิฯ ได้จัดขึ้นมา 7 ปีแล้ว ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น good society expo ในปีต่อๆ มา แต่ปีนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะจากสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถจัดงานแบบเดิมได้ จึงเปลี่ยนมาจัดแบบออนไลน์ แต่คาดว่าผลที่ได้รับจะขยายกว้างมากขึ้น เพราะออนไลน์ทำให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าร่วมงานได้สะดวกขึ้น”

Good Society Expo เป็นการเปิดพื้นที่เพื่อชวนให้ผู้คนออกมาทำเรื่องดีๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยที่มูลนิธิฯ จะร่วมมือกับองค์กรหรือธุรกิจเพื่อสังคมต่างๆ เพื่อจัดงานดังกล่าว อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิยุวพัฒน์, มูลนิธิเอ็นไลฟ์ และเครือข่ายจิตอาสา โดยได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นงานประจำปีของเครือข่ายจิตอาสาและธุรกิจเพื่อสังคมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจตลอดจนความร่วมมือจากภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรเอกชน เพิ่มมากขึ้นทุกปีด้วยเช่นกัน

ในปีที่ผ่านๆ มา งานดังกล่าวมักจัดขึ้นที่ห้างใหญ่ใจกลางเมืองอย่างเซ็นทรัลเวิลด์ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรภาคเอกชนที่สำคัญ ในรูปแบบของงานเอ็กซ์โป มีการออกบูธจัดกิจกรรมขององค์กรเพื่อสังคมต่างๆ รวมถึงเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ

สำหรับในปีนี้เป็นการจัดงานแบบออนไลน์ในคอนเซ็ปต์ “Hope in Crisis ในวิกฤตยังมีหวัง” ผ่านแพลตฟอร์มเว็บไซต์ http://goodsociety.network ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ตามที่ต้องการ ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา

ในส่วนของรายละเอียดงาน Good Society ในครั้งนี้ ประกอบด้วย เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น การสร้างธรรมาภิบาลทั้งในตลาดทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data) เพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน รวมถึงประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมอย่าง “การยกระดับธรรมาภิบาลของระบบรัฐสภา” รวมไปถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม ทั้งสาธารณสุข การศึกษา การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

อีกหนึ่งส่วนที่ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยคือ เวที Social Enterprise Thailand Forum 2021 ที่รวมธุรกิจเพื่อสังคมชั้นนำของเมืองไทยมาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและสร้างความร่วมมือใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาสังคมควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

นอกจากการเสวนาแล้ว ยังมีกิจกรรมในรูปแบบอื่น เช่น Class Buddy ที่ผู้สนใจสามารถเข้าเรียนกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายด้าน เช่น ผู้เชี่ยวชาญจาก Bitkub, The Standard, เพจการตลาดวันละตอน เพียงร่วมบริจาคเงินเพื่อนำไปจัดหาอุปกรณ์สื่อสารในการเรียนออนไลน์ให้กับเด็กๆ

และยังสามารถร่วมออกแบบกรุงเทพฯ ในแบบที่ต้องการ ผ่านเครื่องมือ Participatory Budgeting ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในไทย รวมถึงกิจกรรมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นการเผชิญหน้ากับความสูญเสียและเตรียมความพร้อมกับความตาย ผ่านกิจกรรมการทำพินัยกรรม และ Exclusive Live เตรียมพร้อมกับการจากลา โดย “เสือร้องไห้”

ซึ่งคณะทำงานได้เปิดเผยถึงที่มาของกิจกรรมดังกล่าวว่า สถานการณ์โควิดที่กำลังเผชิญอยู่นี้เป็นการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนตระหนักว่าเราอาจสูญเสียและจากกันได้ทุกเมื่อ การเตรียมรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ได้พันธมิตรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว อย่างมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์, Local Alike, อุทยานแห่งชาติแม่วงก์, อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพะงัน และ อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง และยูทูบเบอร์ โจโฉ – ทรงธรรม สิปปวัฒน์ จากช่อง JoCho Sippawat มาร่วมนำเสนอการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อรณรงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวที่ใส่ใจธรรมชาติ

คาดว่าภายในงานออนไลน์อีเวนต์ครั้งนี้จะยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจและจุดประกายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อีกมาก แต่แน่นอนว่าอรรถรสและการปฏิสัมพันธ์ที่ได้จากการจัดงานในรูปแบบเดิมคงไม่สามารถเทียบเท่ากันได้

แต่ถึงกระนั้นมูลนิธิเพื่อคนไทยยังคงมั่นใจว่าผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ด้อยไปกว่ากัน และการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ที่เปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด จะเป็นกลไกที่ทำให้สารที่ต้องการสื่อแพร่ออกไปได้กว้างขึ้นอีกด้วย

ใส่ความเห็น