วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > Future Energy บนทางเลือกพลังงานไทย

Future Energy บนทางเลือกพลังงานไทย

บทบาทของกระทรวงพลังงานในบริบทของสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา ดูจะมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจติดตามไม่น้อย เพราะนอกจากจะมีประเด็นร้อนว่าด้วย ความพยายามจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ไว้ในส่วนหนึ่งในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนที่การประชุมสนช. เมื่อช่วงปลายมีนาคมจะมีมติให้กระทรวงพลังงานจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาการจัดตั้ง NOC ภายใน 60 วันและต้องรู้ผลภายใน 1 ปี

การมองหารูปแบบของ NOC ที่เหมาะสมและเป็นไปได้อย่างสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ทำให้คณะของเจ้ากระทรวงพลังงานไทยต้องเดินทางไปศึกษาดูงานด้านพลังงานไกลถึงนอร์เวย์และเดนมาร์กเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ภารกิจหลักของการดูงานที่นอร์เวย์และเดนมาร์กดังกล่าว แม้ด้านหนึ่งจะเน้นหนักไปที่การหาต้นแบบหรือโมเดลของ NOC ในการบริหารจัดการทรัพยากร และสัมปทานปิโตรเลียม แต่อีกมิติหนึ่งก็คือการแสวงหาหนทางและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อเติมเต็มและพัฒนาไปสู่ทางเลือกของพลังงานทดแทนอื่นๆ ทั้งพลังงานลม ขยะ พลังงานความร้อน

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ นับตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน-10 กันยายน กระทรวงพลังงานกำลังจะไปแสดงศักยภาพการพัฒนาพลังงานชีวภาพของประเทศไทย ในงาน Astana Expo 2017 ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “พลังงานแห่งอนาคต” (Future Energy) และหัวข้อย่อยว่าด้วย “Solutions for Tackling Humankind’s Greatest Challenge” หรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นความท้าทายยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ อีกด้วย

ช่วงเวลาสามเดือนของ Astana Expo 2017 ที่จะมีขึ้นนี้กระทรวงพลังงานได้กำหนดแนวคิดว่าด้วย “Bioenergy for All” เพื่อจัดแสดงในอาคารศาลาไทย (Thailand pavilion) โดยกระทรวงพลังงานจะนำเสนอข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจด้านพลังงานชีวภาพของไทย รวมทั้งข้อมูลด้านการเกษตรที่เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาพลังงาน ซึ่งเชื่อว่าไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากและเป็นดินแดนแห่งพืชผลพลังงาน

กรณีดังกล่าวถือเป็นความพยายามของกระทรวงพลังงานที่มีนโยบายในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านพลังงาน เพื่อต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานของประเทศให้เติบโตและก้าวหน้า

หากแต่สถานการณ์ที่ปรากฏขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมากลับพบว่าการพัฒนาพลังงานชีวภาพและพลังงานทางเลือกอื่นๆ ในสังคมไทยหลายกรณีกลับอยู่ในภาวะชะงักงัน ไม่คืบหน้าไปเท่าที่ควร ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับเอทานอลอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนข้อจำกัดในมิติที่ว่านี้

ปริมาณการผลิตเอทานอลของไทยที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2557-2559) ถือได้ว่าอยู่ในภาวะที่ไร้การเติบโต โดยมีกำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.1 ล้านลิตรต่อวันในปี 2557 มาสู่ 3.3 ล้านลิตรต่อวันในปี 2558 และ 3.5 ล้านลิตรต่อวันในปี 2559 โดยกำลังการผลิตที่ได้ทั้งหมดนี้ถูกใช้หมดไปกับความต้องการภายในประเทศเท่านั้น

เทียบกับบราซิลซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสนใจในการผลิตเอทานอล ภายใต้ความพยายามที่จะลดสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันถึงร้อยละ 80 ของความต้องการน้ำมันทั้งหมดในช่วง 4 ทศวรรษที่แล้วจากวิกฤตการณ์ oil shock ในปี 1973 มาสู่การเป็นประเทศที่ self- sufficiency ด้านน้ำมันมาตั้งแต่ปี 2006 และก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตเอทานอลจากอ้อยใหญ่ที่สุดในโลก หรือคิดเป็น 27% ของอุปทานเอทานอลทั่วโลกอีกด้วย

บราซิลมีกำลังผลิตมากถึง 72.1 ล้านลิตรต่อวันในปี 2557 และเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 120 ล้านลิตรต่อวันในปี 2559 ขณะที่ความต้องการใช้ภายในประเทศอยู่ในระดับ 63.5-80 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น และเป็นเหตุให้บราซิลสามารถส่งออกเอทานอลไปสู่ตลาดโลกได้มากถึง 1.4-1.8 พันล้านลิตรตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ความสำเร็จของบราซิลไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการนำเอทานอลจากอ้อยมาใช้ทดแทนน้ำมันได้เกือบ 40% ของความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมดเท่านั้น หากบราซิลยังสามารถใช้น้ำอ้อยหรือกากน้ำตาลมาผลิตเป็นเอทานอล ทำให้มีความยืดหยุ่นในการเลือกผลิตระหว่างเอทานอลและน้ำตาลที่อาจให้ภาพของการบริหารจัดการและสร้างสมดุลทางทรัพยากรได้เป็นอย่างดี

และหากเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีสรรพกำลังทั้งในมิติของแหล่งสำรองน้ำมันดิบ เทคโนโลยีพลังงานหลากหลายรวมถึงปรมาณู หากแต่กำลังการผลิตเอทานอลของสหรัฐอเมริกากลับมีปริมาณมากถึง 146-160 ล้านลิตรต่อวัน และนับเป็นผู้ส่งออกเอทานอลรายใหญ่ของโลกและครองส่วนแบ่งกว่าร้อยละ 50 ที่ระดับ 3 พันล้านลิตรต่อปี

ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐไทยต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้อยให้ได้ 25% ภายใน 10 ปี (2555-2564) เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยกระจายความเสี่ยงในการจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าด้วย

หากประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการไปร่วมงาน Astana Expo 2017 ภายใต้ธีม Future Energy ที่กำลังนำเสนอนวัตกรรมและพัฒนาการด้านการบริหารจัดการพลังงานรูปแบบต่างๆ ในอนาคต ขณะที่ศาลาไทยกำลังจะนำเสนอแนวคิดว่าด้วย “Bioenergy for All” ที่จะเสนอผ่านนิทรรศการห้องต่างๆ ทั้ง “Our Ways, Our Thai”, “Farming the Future Energy”

รวมถึง “Energy Creation Lab” ที่จะแสดงถึงการพัฒนาพลังงานชีวภาพ และชีวมวลจากพืชพลังงานทั้งหมด 9 ชนิด ประกอบด้วย อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา หญ้าเนเปียร์ ข้าว ข้าวโพด มูลสัตว์ของเสีย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ในด้านหนึ่งสะท้อนตรรกะวิธีคิดที่น่าสนใจมากๆ

และเมื่อประกอบกับบทสัมภาษณ์ของเจ้ากระทรวงพลังงานที่ระบุว่า เศรษฐกิจของคาซัคสถานยังพึ่งพารายได้การส่งออกจากภาคพลังงานเป็นหลัก ในขณะที่เศรษฐกิจภาคการเกษตรของคาซัคสถานยังมีขนาดเล็กและไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังคาซัคสถาน ยิ่งทำให้นึกถึงคำกล่าวของนักธุรกิจใหญ่ชาวไทย ที่เคยนิยามอาหารว่าเป็น “พลังงานสำหรับคน”

บางทีการเข้าร่วม Astana Expo 2017 ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ก็คงไม่แตกต่างจากการไปนำเสนออัตลักษณ์ของสังคมไทยและการเน้นย้ำ Thainess ท่ามกลางสังคมโลกที่อุดมด้วยพลวัตและพัฒนาการที่ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ขณะที่ความมุ่งหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0ตามแนวทางของรัฐบาลก็คงต้องเริ่มจากการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่ค่อยๆ ขยับและปรับตัวให้ข้ามพ้นการผลิตแบบเดิมๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ ไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งอาจต้องอาศัยเวลาและรอคอยให้อนาคตที่ว่านี้เคลื่อนตัวมาถึง

ใส่ความเห็น