วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > Facebook/Google : ทางออกภาษีโฆษณา กับการขยายตัวของ E-Commerce ไทย

Facebook/Google : ทางออกภาษีโฆษณา กับการขยายตัวของ E-Commerce ไทย

เมื่อเทคโนโลยีสื่อสารในปัจจุบันถูกพัฒนาจนรุดหน้าไปไกล ส่งผลให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้ง่าย จนให้ความรู้สึกว่า “ความห่างไกลกันคนละซีกโลกนั้น แทบไม่มีความหมายอีกต่อไป”

นอกจากความสะดวกรวดเร็วที่ได้รับในด้านการเชื่อมต่อระหว่างบุคคลแล้ว ความง่ายในการเข้าถึงข้อมูลและสาระสำคัญรวมไปถึงข่าวสารต่างๆ บนโลกใบนี้ย่อมดำเนินไปตามครรลองเดียวกัน

พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสื่อสาร ถูกหยิบใช้เป็นเครื่องมือสำหรับนักการตลาด และนักธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง หรือธุรกิจขนาดย่อม เพื่อเป็นช่องทางที่จะสื่อสารและนำเสนอข้อมูล รายละเอียดของสินค้า ให้ไปถึงมือกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดและสามารถวัดผลได้ทันท่วงที

ความทันสมัยของเทคโนโลยี รูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งาน รวมไปถึงความสามารถในการวัดผลและความพึงพอใจของลูกค้าได้ทันทีนั้น ส่งผลให้ธุรกิจ E-Commerce ทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีเครือข่ายบนโทรศัพท์มือถือ ที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้ง 3G และ 4G นั่นทำให้รูปแบบการซื้อขายบนตลาดออนไลน์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

มูลค่าตลาด E-Commerce ในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 240,000 ล้านบาท หรือมีการเติบโตอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ นอกเหนือไปจากความเร็วของเครือข่ายที่ถูกพัฒนาให้พร้อมรองรับจำนวนผู้คนที่ใช้งานแล้ว รูปแบบการทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ของธนาคารต่างถูกพัฒนาให้มีความสะดวก ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ

ข้อดีของการทำธุรกิจ E-Commerce ที่นอกจากจะไม่มีต้นทุนด้านพื้นที่สำหรับวางจำหน่ายสินค้าแล้ว ความสามารถของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ขายไม่ได้ถูกจำกัดพื้นที่อยู่ที่ใดเพียงที่เดียวทำให้จำนวนผู้ค้าออนไลน์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. สำรวจพบว่าในปี 2559 มีผู้ค้าออนไลน์ในประเทศจำนวน 527,324 ราย และมีมูลค่ารวมกว่า 2.52 ล้านล้าน คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด

จำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ค้าออนไลน์ รวมไปถึงความต้องการที่จะจัดระเบียบและป้องกันปัญหามิจฉาชีพหรือการหลอกลวงผู้บริโภค ทำให้บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงกำลังเร่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เพราะในปัจจุบันการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างมาก และกรมฯ ยังได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจ E-Commerce และวิธีการป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา โดยผู้ประกอบการควรได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานความน่าเชื่อถือและมีการกำกับดูแล

การจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ E-Commerce นอกจากจะได้รับเครื่องหมายรับรองจากการจดทะเบียน DBD Registered เพื่อยืนยันตัวตน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์แล้ว กรมการค้ายังสามารถติดตามพฤติกรรมการค้าของผู้ประกอบการธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต กรณีที่มีการร้องเรียนพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ยังได้กำหนดมาตรการให้การขายสินค้าผ่านออนไลน์ต้องแสดงราคาขาย พร้อมทั้งชนิด ประเภท ขนาด อื่นๆ รวมทั้งค่าบริการขนส่งสินค้าให้ชัดเจน และห้ามขายเกินราคาที่แสดงไว้ ส่วนมาตรการภาษีการค้าออนไลน์นั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์ด้วย

การขยายตัวของผู้ประกอบการธุรกิจ E-Commerce ในไทย ส่งสัญญาณให้ภาครัฐต้องตัดสินใจยื่นมือเข้ามาจัดระเบียบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น หรือต้องการเข้ามาควบคุมดูแล และนัยสำคัญในตอนท้ายที่เกี่ยวกับมาตรการภาษีการค้าออนไลน์ ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณา และคาดว่าจะมีกฎเกณฑ์หรือระเบียบใหม่ออกมาเร็วๆ นี้

Facebook และ Google ไม่ได้เป็นเพียงเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคม และเว็บไซต์ Search Engine อีกต่อไป เมื่อทั้งสองเว็บไซต์ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าด้วยเหตุผลการเติบโตของเครือข่ายสังคมที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากขึ้น หรือเพื่อต้องการให้เว็บไซต์ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญสำหรับผู้ที่มองเห็นช่องทางและโอกาสที่จะเติบโตทางธุรกิจ

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลข้อใดก็ตาม หากแต่ในปัจจุบันทั้ง Facebook และ Google ถูกใช้เป็นเสมือนพื้นที่ดิสเพลย์สำหรับจัดแสดงสินค้า และเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับการค้าขายในรูปแบบออนไลน์

ด้วยคำนิยามของ Facebook ที่ว่า It’s free and always free ทำให้อัตราการขยายตัวของผู้ใช้บริการ Facebook เติบโตอย่างรวดเร็ว และพบว่าปัจจุบันมีผู้ใช้งาน Facebook ทั่วโลกกว่า 1,500 ล้านยูสเซอร์ คิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั่วโลก และสำหรับประเทศไทยมีผู้ใช้บริการ Facebook จำนวน 41 ล้านยูสเซอร์ ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้งาน facebook มากเป็นอันดับ 8 ของโลก

แม้ว่าเดิมทีจุดมุ่งหมายของผู้พัฒนาเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมอย่าง Facebook เพียงเพื่อให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเข้าใช้บริการเท่านั้น หากแต่หลังการประสบความสำเร็จและจัดตั้งเป็นบริษัทเมื่อกลางปี ค.ศ.2004 และความนิยมถูกส่งต่อไปอย่างกว้างขวาง

หากจะเอ่ยถึงรายได้หลักของเว็บไซต์ Facebook และ Google ต้องบอกว่ารายได้แทบจะหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เป็นรายได้จากการโฆษณา โดยเฉพาะ Facebook ที่มีตัวเลขรายได้ไตรมาสสุดท้ายของปี 2016 ที่ทำรายได้มากถึง 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นรายได้จากการโฆษณาถึง 8.6 พันล้านดอลลาร์

ขณะที่รายได้ของ Google เมื่อปี ค.ศ.2016 ในช่วงไตรมาส 2 มีรายได้จากธุรกิจโฆษณาสูงถึง 19,100 ล้านดอลลาร์ นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้รวมของ Google ที่เคยทำสถิติเอาไว้ที่ 21,500 ล้านดอลลาร์

กระนั้นแม้ว่ายอดขายโฆษณารวมของ Google จะสูงถึง 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งแม้ว่าจะสูงกว่ารายได้จากขายโฆษณาของ Facebook ในไตรมาสเดียวกันที่ทำได้เพียง 6.2 พันล้านดอลลาร์ หากแต่อัตราการเติบโตของ Facebook กลับดูจะมีภาษีที่ดีกว่า Google เสียอีก

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่ารูปแบบพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป ส่งผลโดยตรงต่อการทำการตลาดและการโฆษณา ที่บรรดาผู้ประกอบการหรือนักการตลาดต้องเลือกใช้เครื่องมือเพื่อให้เกิดการเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด และในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถวัดผลรวมไปถึงการได้รับฟีดแบ็กที่รวดเร็ว

หลังจากคนไทยทำสถิติใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Facebook ด้วยเวลา 2.5 ชั่วโมงต่อวัน อาจจะเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ Facebook ตัดสินใจเข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ.2015 ซึ่งในครั้งนั้น Dan Neary รองประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Facebook ได้กล่าวไว้ว่า “การเปิดสำนักงานประจำประเทศไทยในครั้งนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ Facebook ที่มีต่อประเทศไทย รวมถึงการลงทุนของเราเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจไทย และยังช่วยให้ผู้ใช้งานชาวไทยและธุรกิจต่างๆ เชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น และมีความหมายมากยิ่งขึ้น โดยทีมงานกลุ่มเล็กๆ ซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงานประเทศไทยนั้น จะมุ่งเน้นให้การสนับสนุนแก่พันธมิตรของเราพร้อมกับต่อยอดพันธกิจของ Facebook ในการให้ทั่วโลกเชื่อมต่อถึงกันได้มากยิ่งขึ้น”

แม้ว่าการเข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทยของ Facebook จะช้ากว่า Google ไปหลายก้าว หากแต่จุดมุ่งหมายสำคัญที่นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพของเว็บไซต์ของตัวเองแล้ว อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการมองเห็นอัตราการเติบโตของตลาดออนไลน์ในประเทศไทยที่เริ่มจะมีศักยภาพมากขึ้น และการขยายเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยน่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับอัตราการขยายตัวนี้ได้ดีขึ้นอีกด้วย

กระนั้นในช่วงเวลานี้ประเด็นที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ในไทยแล้ว ประเด็นที่น่าจะขบคิดและได้รับการตั้งข้อสังเกตไม่น้อยคือเรื่อง “ภาษีโฆษณา” ที่นักการตลาดให้ความสนใจ แนวคิดการเก็บภาษีจากเงินค่าโฆษณาที่ส่งให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ เช่น Facebook และ Google แม้จะมีการคาดเดาถึงตัวเลขเม็ดเงินของค่าโฆษณาที่คนไทยใช้บริการนั้นน่าจะอยู่ที่ปีละ 12,000-15,000 ล้านบาท และหากจะต้องเสียภาษีน่าจะสามารถเก็บภาษีเข้ารัฐได้อย่างน้อย 2-3 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐพึงจะดำเนินการได้ในห้วงเวลานี้คือการเจรจากับ Facebook และ Google ให้มาจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย และดำเนินการเก็บภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นการป้องกันเงินที่จะไหลออกนอกประเทศแบบที่ไม่ได้มีการเก็บภาษีเลย

แม้ว่าแนวคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีจากรายได้ค่าโฆษณาจากทั้งสองเว็บไซต์ดังจะเป็นสิ่งที่ดีและน่าสนใจไม่น้อย กระนั้นต้องไม่ลืมว่าท้ายที่สุดแล้วภาระที่ตามมาจะถูกผลักไปให้ผู้ซื้อโฆษณา ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และคนสุดท้ายคือผู้บริโภค เพราะเมื่อทุกอย่างกลายเป็นต้นทุนของสินค้า ผู้ที่แบกรับราคาสินค้าที่สูงขึ้น คือผู้ที่อยู่ในวัฏจักรสุดท้ายของห่วงโซ่

แต่ถ้าหากเกิดการเจรจากันระหว่างภาครัฐ ที่มีข้อต่อรองในเรื่องจำนวนผู้ใช้โซเชียลในประเทศไทยที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก และการใช้ Search Engine ในการค้นหาข้อมูลมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ น่าจะช่วยให้การเจรจาเกิดอะไรขึ้นบ้าง และสำหรับเรื่องการเก็บภาษีโฆษณาจาก Facebook และ Google ที่กำลังถกกันอยู่ในห้วงเวลานี้ ไม่ได้มีแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นกับทุกประเทศที่ใช้ Facebook และ Google ในการโฆษณา

หากภาครัฐสามารถสร้างข้อกำหนดและผู้ประกอบการอย่าง Facebook และ Google ยอมรับที่จะชำระภาษีที่ได้จากการโฆษณาที่เกิดขึ้นจากผู้ใช้งานในประเทศไทย เม็ดเงินหลักพันล้านน่าจะก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศได้อีกทาง

ความเป็นไปบนกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์คจะดำเนินไปอย่างไรท่ามกลางสังคมที่มีแต่จะก้มหน้าลง มากกว่าจะเงยขึ้นสบตาและพูดคุยกัน เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

 

ใส่ความเห็น