วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > Experience อาวุธของไร้ท์แมน ในยุค Digital Disruption

Experience อาวุธของไร้ท์แมน ในยุค Digital Disruption

ไม่ว่าโลกจะหมุนด้วยอัตราความเร็วเท่าไร แต่ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนผ่านจากยุคอะนาล็อกสู่ยุคดิจิทัลจะมีความเร็วกว่าหลายเท่าตัว แต่ด้วยเหตุผลเพียง 3 ประการ ความสะดวก ความรวดเร็ว ความทันสมัย กลับสร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนไม่น้อย

แทบจะทุกสังคมและเกือบทุกช่วงเวลาของชีวิตมนุษย์ที่ดิจิทัลเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อชีวิต ไลฟ์สไตล์ของผู้คนถูกเปลี่ยนแปลงไปในทุกระนาบ ทุกมิติ เมื่อปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตถูกย่อส่วนให้สามารถเข้ามาอยู่ในอุปกรณ์สื่อสารขนาดมือจับได้

แม้ว่ายุคดิจิทัลจะทำให้สังคมเกิดการพัฒนา ทว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในแบบคู่ขนานคือรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน เช่น การจับจ่ายซื้อสินค้าเพื่อการดำรงชีพ การพบปะสังสรรค์กันน้อยลง พูดคุยแบบตัวต่อตัวกันน้อยลง

ไลฟ์สไตล์ของมนุษย์เปลี่ยนไป ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวตามให้ทัน เพื่อความอยู่รอดและหลุดพ้นจากกับดัก Digital Disruption เมื่อข้อมูลข่าวสารถูกเสิร์ฟถึงมือตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่นอน นักชอปสามารถเลือกซื้อสินค้าได้เพียงทัชบนหน้าจออุปกรณ์สื่อสารเพียงไม่กี่ครั้ง หรือแม้กระทั่งอาหารที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ที่เราแทบไม่ต้องตะเกียกตะกายออกไปนอกบ้าน ก็สามารถสั่งอาหารระดับดาวมิชลินให้มาส่งถึงบ้านได้

ดิจิทัล ดิสรัปชันขยายวงและสร้างผลกระทบในทุกแวดวง ไม่แว้นแม้แต่นักย่อยสารมือฉมังอย่าง อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรังสรรค์ศูนย์การเรียนรู้จำนวนมากในประเทศไทย งานนิทรรศการ และงานอีเวนต์

ที่แม้ว่าผู้บริหารไร้ท์แมนจะยอมรับกลายๆ ว่า บริษัท ไร้ท์แมนได้รับผลกระทบจากดิจิทัลดิสรัปชันอยู่บ้าง แต่ไร้ท์แมนยังยืนหยัดภายใต้แนวคิดที่ว่า “Experience คือสิ่งที่ผู้คนโหยหา”

“จริงๆ แล้ว ดิจิทัล ดิสรัปชันก็มีผลกระทบในทุกธุรกิจ แม้ว่าดิจิทัลจะสะท้อนความพัฒนาของเทคโนโลยีก็ตาม แต่สำหรับผมยังเชื่อว่า สิ่งที่ผู้คนโหยหายังคงเป็นประสบการณ์ แม้ว่าคุณจะสามารถค้นหาความรู้ ข้อมูล หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตได้ผ่านมือถือ แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ให้ประสบการณ์จริงได้

แต่ศูนย์การเรียนรู้ คอนเสิร์ต งานนิทรรศการ เหล่านี้จะให้ประสบการณ์กับผู้คนได้สัมผัสได้รับรู้อารมณ์และมีส่วนร่วมกับสิ่งนั้นๆ แต่ข้อมูลที่ค้นหาได้บนมือถือหรือคอมพิวเตอร์ไม่สามารถให้ได้ และเรายังอยู่ในส่วนที่ต้องมีบนโลก”

ไร้ท์แมนยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์การถอดความและย่อยสาร เพื่อเสิร์ฟถึงผู้เข้าชม แม้จะเป็นไปในรูปแบบที่ไม่สามารถค้นหาได้จากอุปกรณ์สื่อสาร และอุปถัมป์ ยังเชื่อว่า การนำเสนอประสบการณ์จะเป็นประหนึ่งตัวแปรสำคัญให้ไร้ท์แมนฝ่าฟันมรสุมของโลกดิจิทัล ดิสรัปชันไปได้

แม้จะยอมรับกับผู้จัดการ 360 องศา ว่า อีกขาหนึ่งของไร้ท์แมนได้รับผลกระทบอยู่พอสมควร นั่นคือ ธุรกิจอีเวนต์ “ต้องยอมรับว่าธุรกิจอีเวนต์ได้รับผลกระทบ บางบริษัทถึงขั้นต้องปิดตัวลง เมื่อเค้กก้อนเท่าเดิม แต่สัดส่วนที่ถูกแบ่งมันน้อยลง ทำให้เราต้องลดขนาดสเกลงานให้เล็กลง แต่ต้องให้คุ้มค่า เดี๋ยวนี้ Blogger มีจำนวนมากขึ้น เราอาจต้องให้เหล่า Blogger ช่วยกระจายข่าวอีกทาง นอกเหนือจากสื่อหลัก”

โลกธุรกิจ โลกที่ผู้คนต้องการผลกำไรและการเติบโต รวมไปถึงโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ ไร้ท์แมนก็เช่นกัน แม้จะมีชื่อชั้นอยู่บนทำเนียบของการออกแบบศูนย์การเรียนรู้และนิทรรศการจำนวนมาก ทว่า การไม่ย่ำอยู่กับที่ย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจไม่น้อย

ก่อนหน้านี้เราได้รับทราบการร่วมทุนระหว่างไร้ท์แมนกับพาร์ตเนอร์ยักษ์ใหญ่อีกสองราย คือ เฟรชแอร์ เฟสติวัล และเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ที่เนรมิตธีมพาร์คไดโนเสาร์ให้ผุดขึ้นมาใจกลางกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ยังมี ธีมพาร์ค “ไตรภูมิ มหัศจรรย์สามโลก” ในจังหวัดภูเก็ต ที่ไร้ท์แมนจับมือกับเซ็นทรัลพัฒนา และยังมีบริษัทชั้นนำอีกหลายบริษัทที่ไร้ท์แมนร่วมธุรกิจด้วย “เราถนัดในการทำงานร่วมกับคนอื่น เพราะคนคนหนึ่งไม่สามารถเก่งได้ทุกอย่าง การเลือกที่จะร่วมทุนกับบริษัทไหนก็ตาม หรือการรับงานออกแบบศูนย์การเรียนรู้ นอกเหนือไปจากข้อตกลง ความเข้าใจที่มีร่วมกันแล้ว สิ่งสำคัญคือ พันธมิตรต้องเห็น Value ของเรา เพราะถ้าเขาไม่เห็น Value ในตัวเราถึงงานจะออกมาดี ก็ต้องเจอกับภาวะการทำงานที่เหนื่อยมาก แต่เราได้ลูกค้าที่ดีๆ เยอะ” อุปถัมป์อธิบาย

ในขณะที่ไร้ท์แมนให้ความสำคัญกับ Value ของตัวเองเมื่อต้องเลือกที่จะร่วมทุนกับพันธมิตรอื่นๆ กระนั้นไร้ท์แมนยังต้องนำเสนอ Value ของผู้อื่นให้ออกมาในรูปแบบของศูนย์การเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

แม้ว่าประเทศไทยจะมีศูนย์การเรียนรู้แทบจะทุกจังหวัด ทว่า ศูนย์การเรียนรู้คือสถานที่ที่รวบรวมตะกอนความคิดที่กลั่นกรอง รวมไปถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะของชนชาติ หรือประวัติของบุคคลสำคัญ จึงมีคำถามว่า มีโอกาสและความเป็นไปได้มากแค่ไหนที่ศูนย์การเรียนรู้ในไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น

“โอกาสที่ศูนย์การเรียนรู้จะขยายตัวก็ยังมีอีกเยอะ และมองว่าทุกองค์กรที่มีขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีศูนย์การเรียนรู้ บางองค์กรกว่าจะผ่านอะไรมา บ่มเพาะประสบการณ์มามากมาย เพียงแค่เขาต้องหา Value ของตัวเอง เราเพียงแค่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการนำ Value ของเขานำเสนอออกมาให้บุคคลภายนอกได้เรียนรู้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็น Knowledge อย่างหนึ่ง”

หากใครต้องการจะสร้างศูนย์การเรียนรู้สักแห่ง รายชื่ออันดับต้นๆ คงจะหนีไม่พ้น ไร้ท์แมน ผู้ที่พลิกหน้าบรรยากาศภายในศูนย์การเรียนรู้ในแบบเดิมๆ ออกไป การออกนอกกรอบของการเดินชมพิพิธภัณฑ์ ที่ผู้เข้าชมจะทำได้เพียงแค่อ่านข้อมูลที่ติดอยู่ด้านข้าง หรือฟังเสียงบรรยากาศจากภัณฑารักษ์ ด้วยการหยิบจับเทคโนโลยี Interactive มาใช้งานได้อย่างแยบยล

ศูนย์การเรียนรู้ในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยที่แม้จะไม่มีชื่อไร้ท์แมนปรากฏในฐานะผู้ออกแบบ แต่ลายเซ็นของไร้ท์แมนกลับฉายชัด “เราไม่ได้เอาเทคโนโลยี Interactive ทุกอย่างมาใส่ในทุกประเด็นที่ต้องการนำเสนอ เราต้องคิด พิจารณาว่า เทคโนโลยีตัวไหนเหมาะสมที่จะนำมาใช้เล่าเรื่อง ครีเอทีฟต้องคิดก่อนว่า จะนำเสนออะไร และใช้เทคโนโลยีตัวไหน ที่จะขยายเรื่องให้ผู้ชมเข้าใจได้ คือเริ่มที่ Content ไปสู่ Design จบที่ Interactive

เราดูงานจากประเทศต่างๆ เยอะมาก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี Interactive เราศึกษาเรียนรู้ และนำเทคโนโลยีจากเขามาใช้งาน”

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่เข้าสู่ภาวะชะงักงัน หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจำนวนมาก และฟันเฟืองหลายตัวในระบบเศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนได้ หากจะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ว่า เป็นอีกวิกฤตหนึ่งคงจะไม่ผิดนัก ซึ่งอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ มองสถานการณ์ครั้งนี้ว่า

“กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ไร้ท์แมนผ่านวิกฤตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง ต้องยอมรับว่าครั้งนี้สาหัสไม่น้อย เพราะเมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 วิกฤตในปีนั้นเกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน ถึงจะดูว่าปัญหามันใหญ่ แต่ด้วยความเป็นสถาบันการเงิน เป็นปัญหาในระดับบนของระบบ เวลานั้นประชาชนทั่วไปยังไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่ปีนี้ผลกระทบมันดิ่งลงไปลึกถึงระดับล่าง ฟันเฟืองตัวล่าง ทำให้ทุกคนไม่กล้าจะจับจ่ายใช้สอยเท่าที่ควร

แน่นอนว่า ไร้ท์แมนรับงานของราชการเยอะ ตอนนี้เราก็ลำบาก เพราะราชการงบประมาณน้อยลง ซึ่งก็ส่งผลให้เอกชนขยับตัวยากขึ้น ถึงแม้ว่างานของเราด้านศูนย์การเรียนรู้ที่มีสัดส่วน 60-70 เปอร์เซ็นต์ จะยังไม่กระทบมากนัก แต่งานด้านอีเวนต์ที่มีสัดส่วน 30-40 เปอร์เซ็นต์ ได้รับผลกระทบโดยตรง เราจำเป็นต้องลดจำนวนคนบ้าง และใช้ลักษณะที่มองหาตำแหน่งภายในบริษัททดแทนกันไปในสถานการณ์ขณะนี้”

ถ้า “ประสบการณ์” เป็นอาวุธสำคัญของไร้ท์แมนที่จะถูกใช้เป็นตัวเอกในศูนย์การเรียนรู้ เมื่อสังคมไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลดิสรัปชัน และคงเป็น “ประสบการณ์” อีกเช่นกันที่จะทำให้ไร้ท์แมนผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้

ใส่ความเห็น