วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > EEC เนื้อหอม ญี่ปุ่น-จีน แห่ลงทุน

EEC เนื้อหอม ญี่ปุ่น-จีน แห่ลงทุน

ในห้วงยามที่ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการรอคอยรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งประชาชนที่คาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ภาคเอกชนที่หวังให้การขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปด้วยอัตราเร่งเดิมหรือดีกว่าปัจจุบัน

และแน่นอนว่า ความคาดหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่เฉพาะคนไทยเท่านั้น เมื่อนักลงทุนและหอการค้าต่างชาติ ส่งสัญญาณให้ภาครัฐของไทยรับรู้ว่า ต้องการเห็นความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และที่สุดคือนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ที่สร้างให้เกิดความต่อเนื่องในการลงทุน

ปัจจุบันไทยถูกจับตามองจากนักลงทุนในฐานะที่เป็นประเทศน่าลงทุน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เมื่อรัฐบาลปัจจุบันพยายามเร่งเครื่องเดินหน้าปลุกปั้นพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยให้เป็นหมุดหมายปลายทางสำหรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

แม้ว่าขณะนี้โครงการ EEC จะยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ทว่าการโรดโชว์ของภาครัฐ ที่ออกไปนำเสนอพื้นที่ EEC ให้ต่างชาติได้รับทราบข้อมูลความคืบหน้าและความเป็นไปของโครงการ โดยคาดหวังว่าการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมจะเป็นอีกหนึ่งแรงกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ทะยานไปข้างหน้าหลังจากที่หยุดนิ่งอยู่กับที่และเหมือนจะถอยหลังอยู่ในที

และดูเหมือนว่าความพยายามในการผลักดันและโปรโมตโครงการ EEC จะสัมฤทธิผล เมื่อกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2561 ตัวเลขการลงทุนอันดับ 1 คือนักลงทุนจากญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 100,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 46 ของการลงทุนในพื้นที่ EEC ทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจำนวน 334 โครงการ หรือร้อยละ 32 ของโครงการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในไทยได้แก่ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม หรือไฮบริด เครื่องปรับอากาศ โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากตัวเลขดังกล่าว น่าจะทำให้ผู้บริหารพื้นที่ EEC ใจชื้นขึ้นมาบ้าง เมื่อเห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้นที่แสดงความจำนงที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว

เมื่อผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและวัสดุอากาศยาน กระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เคนสุเคะ ไซโต้ พร้อมคณะนักธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการบินจากญี่ปุ่น จำนวน 30 ราย เดินทางมาไทยเพื่อรับฟังนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์ของไทย รวมถึงศึกษาช่องทางการลงทุน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพ เพราะทิศทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการหลัก

ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ JETRO กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมอากาศยานด้วย

การที่ JETRO นำนักลงทุนญี่ปุ่นมาศึกษาความเป็นไปได้ในพื้นที่ EEC ของไทย น่าจะเป็นโอกาสดีที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเพิ่มขึ้นในอนาคตได้แน่นอน

เมื่อเห็นกระแสธารของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มตบเท้าเข้ามาเยี่ยมชมความคืบหน้า รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาลงทุนในไทยขณะนี้ หากจะกล่าวว่าพื้นที่ EEC กำลังเนื้อหอม ก็ดูจะไม่ผิดนัก

โดยก่อนหน้า ราวกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมหารือเพื่อเจรจากรอบความร่วมมือกับตัวแทนธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อย หรือ SMEs จากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ทำให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะพื้นที่ EEC น่าจะเป็นเพราะไทยให้สิทธิประโยชน์หลายด้าน นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังส่งไม้ต่อให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเข้ามาสานงานต่อ ทั้งการสนับสนุนการลงทุน การให้คำแนะนำด้านต่างๆ

อภิศักดิ์มองว่า เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลก เป็นเหตุให้นักลงทุน ผู้ประกอบการจากต่างชาติ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น สนใจที่จะย้ายฐานการลงทุนมายังไทยอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐ ธนาคารเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศหลายๆ แห่ง ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการของประเทศนั้นๆ เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC

ขณะที่หอการค้าต่างชาติมองไทยว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะขยายตัว โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน เมื่อแสตนลีย์ คัง ประธานหอการค้านานาชาติ ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ว่า ยังมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยการเดินหน้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไม่น้อย

นอกจากนี้ แสตน์ลีย์ยังคาดหวังให้เกิดความต่อเนื่องของรัฐบาล เมื่อยังมีประเด็นการเจรจาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น Free Trade Area หรือ Free Trade Agreement (FTA) กับประเทศต่างๆ รวมถึงกรอบความร่วมมือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnershop (CPTPP) และเร่งรัดให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ EEC เพราะจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน

กระนั้น ทสึโยชิ อิโนะอุเอะ กรรมการผู้จัดการ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องใน 5 ปีข้างหน้า ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะเข้ามาบริหารก็ตาม เพราะเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลไหน ก็น่าจะมีความพยายามเชิญชวนนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะสานต่อโครงการ EEC เนื่องจากเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้แก่นักลงทุน และเป็นหมากสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

น่าแปลกที่หอการค้าต่างชาติวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยว่ามีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งดูจะตรงข้ามกับมุมมองของคนไทยบางส่วนที่มองว่าเศรษฐกิจไทยควรจะมีเสถียรภาพมากกว่าปัจจุบัน

ไม่เพียงแต่นักลงทุนจากญี่ปุ่นเท่านั้น ที่แสดงความสนใจ และศึกษาลู่ทางที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เมื่อนักลงทุนจากแดนมังกร ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของไทยและพร้อมจะสนับสนุนการลงทุนโรงไฟฟ้าไฮบริดในพื้นที่อู่ตะเภา

โดย นาย Chen Jiping ประธานบริษัท China Energy Engineering Corporation (Energy China) สนใจที่จะลงทุนในพื้นที่ EEC โดยหวังให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการลงทุน ซึ่ง Energy China ร่วมมือกับ B.Grimm Power ลงทุนโรงงานไฟฟ้าไฮบริด สำหรับงานระบบไฟฟ้าและระบบน้ำเย็น ในสนามบินอู่ตะเภา ระยะที่ 1 มูลค่า 3,600 ล้านบาท

โครงการความร่วมมือระหว่าง Energy China และ B.Grimm Power นับเป็นการสร้างความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี

นั่นทำให้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนให้ Energy China เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

คงต้องรอดูว่า การคาดการณ์ของสภาพัฒน์ เกี่ยวกับการลงทุนภาคเอกชนว่า จะขยายตัว 4.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับการประมาณการครั้งก่อน ซึ่งเป็นการคาดการณ์ว่าที่สูงกว่าการขยายตัวของปี 2561 ที่ 3.9 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการขยายตัว น่าจะอยู่ที่ความคืบหน้าของโครงการลงทุนของภาครัฐที่ร่วมกับเอกชนที่สร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการลงทุนของเอกชน และการย้ายฐานการผลิต การลงทุนของบริษัทต่างชาติ ที่เลี่ยงความเสี่ยงจากผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมไปถึงการปรับตัวสูงขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2561 ซึ่งมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมกว่า 900 พันล้านบาท

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ใส่ความเห็น