วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > EEC: ระเบียงเศรษฐกิจไทย บนความเป็นไปของยุทธศาสตร์จีน

EEC: ระเบียงเศรษฐกิจไทย บนความเป็นไปของยุทธศาสตร์จีน

ความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะขับเคลื่อนพลังทางเศรษฐกิจผ่านโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor: EEC ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดูจะมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความพยายามที่จะดึงนักธุรกิจฮ่องกงให้เข้ามามีส่วนในโครงการนี้ ผ่านความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ เพื่อเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจจีนผ่านนโยบายยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่อาจนำไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีทันสมัย หรือ Modern FTA ระหว่างฮ่องกงกับอาเซียน โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ในการกระจายสินค้าของภูมิภาค

ภายใต้แนวความคิดที่จะยกระดับภาคการผลิตและภาคบริการของไทยให้เข้าสู่ยุค 4.0 ดูเหมือนว่านโยบายที่ว่านี้จะสอดรับกับสถานะของฮ่องกงที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และถือเป็นเมืองที่มีพลังในการขับเคลื่อนด้านการค้าการลงทุนของจีนเข้ามาเป็นองค์ประกอบ

โดยในปีที่ผ่านมาฮ่องกงมีมูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท และเป็นการลงทุนเฉพาะในพื้นที่ EEC สูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ในภาพรวมทั้งประเทศพบว่า ปีที่ผ่านมานักธุรกิจฮ่องกงเข้าลงทุนในไทยรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอันดับที่ 5 ของมูลค่าการลงทุน โดยตรงจากต่างประเทศ และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ฮ่องกงก็มีมูลค่าการลงทุนในไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่นเท่านั้น

วินเซนต์ โล ประธานองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง หรือ Hong Kong Trade Development Council (HKTDC) ระบุว่า ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ต้องใช้ทรัพยากรทั้งภายในและภายนอกประเทศจำนวนมาก ซึ่งฮ่องกงมีความพร้อมจะเป็นศูนย์กลางการลงทุน และต้องการสร้างโอกาสและความร่วมมือกับภาคเอกชนไทยให้เป็นรูปธรรม เพราะไทยมีศักยภาพหลายด้าน

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจด้านหนึ่งก็คือ นโยบาย One Belt One Road ของจีน เป็นการนำความรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีตของเส้นทางสายไหม มาปรับใช้ใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21” (21st Century New Silk Road) ซึ่งประกอบส่วนไปด้วยการพัฒนาและสร้างทางคมนาคมทั้งทางบกผ่าน “Silk Road Economic Belt” และ “Maritime Silk Route” ที่เป็นเส้นทางสายไหมทางทะเล

หากพิจารณาผลกระทบในเชิงเปรียบเทียบระหว่างเส้นทางสายไหมใหม่ทางบกและทางทะเล จะพบว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” มีผลเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อภูมิภาคอาเซียน และจีนก็หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ประโยชน์จากเส้นทางคมนาคมเส้นนี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างจีนและอาเซียนด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ แม้ตามแนว “เส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21” ไม่ว่าทางบกหรือทางทะเล จะไม่พาดผ่านประเทศไทยเลย แต่ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ ทำให้ไทยได้รับผลกระทบจากยุทธศาสตร์นี้อย่างไม่อาจเลี่ยง

การที่จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคอาเซียนและการสร้างเครือข่ายเชื่อมต่อของท่าเรือต่างๆ ตามเส้นทางสายไหมทางทะเล อาจเป็นโอกาสและความได้เปรียบของ EEC ที่จะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้าระหว่างภูมิภาคอาเซียนและจีนรวมถึงภูมิภาคอื่นๆ

ซึ่งดูเหมือนว่า การเดินทางมาเยือนไทยของนักธุรกิจฮ่องกง ในนามองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง หรือ Hong Kong Trade Development Council (HKTDC) และการสัมมนา Thailand-Hong Kong-Shanghai Strategic Partnership on One Belt One Road จะได้รับการกำหนดภารกิจที่จะปูทางไปสู่เป้าหมายนี้ด้วยแล้ว

เพราะภายใต้แนวความคิด Maritime Silk Route จีนต้องการหลักประกันในเส้นทางการค้าที่มี ภายใต้หลักของความร่วมมือ หากแต่สมาชิกอาเซียน ทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ ยังมีประเด็นข้อพิพาทกับจีนในเรื่องอธิปไตยทางทะเล การเชื่อมโยง EEC เข้ามาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ String of Pearls จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ให้กับยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนได้ไม่ยากเลย

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน จัดได้ว่าเป็นเขตการค้าเสรีที่มีมูลค่าสูงที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีมูลค่าการลงทุนระหว่างอาเซียน-จีน ในช่วงที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท และจีนตั้งเป้าไว้ว่า มูลค่าทางการค้าระหว่างอาเซียน-จีน จะต้องไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 35 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวเป็น 10 เท่าภายในปี 2563

ก่อนหน้านี้ จีนได้ดำเนินความพยายามที่จะสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระหว่างประเทศภายในอาเซียนเอง และระหว่างภูมิภาคอาเซียน-จีน

ขณะเดียวกัน จีนยังรุกไปสู่การจัดตั้ง “ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย” (Asian Infrastructure Investment Bank; AIIB) เพื่อเป็นกลไกในการปล่อยสินเชื่อเพื่อนำไปลงทุนก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

กรณีดังกล่าวถือเป็นการคัดง้างและลดทอนบทบาทของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียน (Asian Development Bank; ADB) รวมถึงธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund; IMF) ในภูมิภาคนี้ไปพร้อมกันด้วย

การเดินทางเยือนไทยของกลุ่มนักธุรกิจฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ในครั้งนี้ นอกจากจะส่องประกายความหวังว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนขนานใหญ่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ในระยะเวลาไม่นานนับจากนี้ และสามารถสร้างแรงกระเพื่อมที่ดึงดูดให้นักลงทุนจากแหล่งอื่นๆ ให้หันมาสนใจลงทุนใน EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่เป็นเป้าหมายของไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

กระนั้นก็ดี การลงทุนของกลุ่มทุนจากต่างประเทศในมิติที่ว่านี้อาจไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจและเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของไทย หากปราศจากการเสริมสร้างความเข้มแข็งจากภายใน

ขณะที่ความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดบทบาทและทิศทางในอนาคตของทั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยนับจากนี้

ใส่ความเห็น