วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Life > Dirty Coffee ความเปรอะเปื้อนที่กลมกล่อม

Dirty Coffee ความเปรอะเปื้อนที่กลมกล่อม

“Dirty Coffee ต้องใช้เวลาสักครู่นะครับ” เสียงตอบกลับจากบาริสต้าประจำร้าน เมื่อได้รับออเดอร์เป็น Dirty coffee เมนูกาแฟชื่อแปลกหูแต่แฝงไว้ด้วยรสชาติที่กลมกล่อม

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กาแฟชื่อชวนสงสัยแก้วนี้ได้รับความนิยมจากบรรดาคอกาแฟเป็นอย่างมาก ร้านกาแฟหลายร้าน โดยเฉพาะร้านกาแฟประเภท Specialty coffee หรือกาแฟพิเศษ ต่างบรรจุเมนูนี้ไว้ในลิสต์เพื่อดึงดูดลูกค้า จนกลายเป็นตัวชูโรงให้กับบางร้านไปเลยทีเดียว

แต่หลายคนคงมีคำถามผุดขึ้นในใจว่า Dirty Coffee คืออะไร ทำไมใช้คำว่า dirty ที่แปลว่า สกปรก มาผสมกับเครื่องดื่มอย่างกาแฟ และทำไมถึงกลายเป็นที่นิยมชมชอบอยู่ในชณะนี้

จริงๆ แล้ว Dirty Coffee คือกาแฟนมที่เสิร์ฟแยกชั้นกันอย่างชัดเจนและต้องเสิร์ฟมาในแก้วใสแช่เย็นไม่ใส่น้ำแข็ง ด้านล่างเป็นชั้นสีขาวของนมสดที่แช่มาจนเย็น ส่วนด้านบนเป็นสีน้ำตาลเข้มของ espresso shot หรือ ristretto shot ที่ค่อยๆ ไหลแทรกซึมเข้ากับชั้นของนมด้านล่าง ก่อให้เกิดลวดลายเฉพาะตัว เขรอะนิดๆ อาร์ตหน่อยๆ อันเป็นที่มาของชื่อ Dirty Coffee เมนูกาแฟที่โดดเด่นทั้งรูปลักษณ์และรสสัมผัสที่มีเอกลักษณ์

ต้นกำเนิดของกาแฟแก้วพิเศษนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานนัก โดยมาจากการสร้างสรรค์ของ “คัตซึยูกิ ทานากะ” (Katsuyuki Tanaka) ผู้มี passion ในการทำกาแฟ เจ้าของและบาริสต้าประจำ Bear Pond Espresso เอสเพรสโซ่บาร์ชื่อดังย่าน Shimokitazawa ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่บริโภคกาแฟเป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยคัตซึยูกิได้เปิดตัวกาแฟเมนูพิเศษนี้ที่ร้านกาแฟ “Joe The Art of Coffee” ในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งทำให้ dirty coffee เริ่มเป็นที่รู้จักของบรรดาคอกาแฟ และกลายเป็นที่นิยมในหลายประเทศในเวลาต่อมา

สำหรับ dirty coffee ต้นตำรับของ Bear Pond Espresso นั้น จะใช้กาแฟที่คั่วค่อนข้างเข้มจัดและมีวิธีการสกัดช็อตที่เฉพาะตัวตามแบบฉบับของคัตซึยูกิ โดยจะเสิร์ฟมาในขวดแก้วทรงกลมหรือที่เรียกว่า “Mason jar” ทำให้เห็นเลเยอร์และลวดลายระหว่างนมและกาแฟได้อย่างชัดเจน แต่เอกลักษณ์ของ dirty coffee ระดับต้นตำรับคือ นอกจากชั้นกาแฟที่อยู่ด้านบนแล้ว เราจะเห็นชั้นของกาแฟเป็นเส้นกั้นอยู่ช่วงกลางแก้วอีกชั้นหนึ่งด้วย ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากที่เห็นโดยทั่วไป

ความโดดเด่นของ Dirty coffee ในแบบฉบับของคัตซึยูกิ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับร้านกาแฟต่างๆ นำไปบรรจุเป็นอีกหนึ่งในเมนูของร้าน ในแบบฉบับที่แตกต่างกันออกไป

โดยทั่วไปที่นิยมทำกันคือนำแก้วใสใส่นมสดไปแช่เย็นในเวลาและในอุณหภูมิที่กำหนดไว้ เพื่อให้นมสดมีความตึงผิว บางร้านอาจใส่ครีมหรือเพิ่มน้ำเชื่อมลงไปเพื่อเพิ่มความข้นและความหวานให้กับชั้นของนม เมื่อนมที่แช่ไว้มีความตึงผิวที่พอเหมาะจึงรินด้วยช็อตของเอสเพรสโซ่ แล้วปล่อยให้กาแฟค่อยๆ แทรกซึมลงสู่นมสดเย็นด้านล่าง เกิดเป็นเส้นสายและลวดลายเฉพาะในแต่ละแก้ว ซึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับการทำเครื่องดื่มแก้วนี้นอกจากสัดส่วนของกาแฟกับนม การสกัดช็อตกาแฟแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องพิถีพิถันไม่แพ้กันคืออุณหภูมิและเวลาในการแช่นมสดที่ต้องพอเหมาะ เพื่อให้ชั้นของนมมีความตึงผิวที่พอเหมาะเพื่อให้กาแฟทิ่รินไปค่อยๆ ซึมลงไปได้ ไม่จมลงไปในชั้นนมทันทีจนไม่เกิดลวดลายอย่างที่ต้องการ

วิธีการดื่ม Dirty Coffee นั้นจะไม่ใช้ช้อนคนก่อนดื่ม แต่จะค่อยๆ จิบตามชั้นของกาแฟและนมไปเรื่อยๆ นั่นทำให้รสสัมผัสที่เราได้แตกต่างกันไปในแต่ละครั้งที่เรายกแก้วขึ้นจิบ

จิบแรกเราจะได้รับการต้อนรับด้วยรสเข้มและกลิ่นกรุ่นของกาแฟ ตามมาด้วยความกลมกล่อมของกาแฟและนมที่ผสมกันในจิบที่สอง หลังจากนั้นจะเป็นรสนุ่มละมุนของนมสดที่แช่มาจนเย็น พร้อมความเข้มขมของรสกาแฟที่เคลือบอยู่ที่ริมฝีปาก

ซึ่งปัจจุบันร้านกาแฟหลายๆ แห่ง ต่างบรรจุ Dirty Coffee ไว้ในเมนู เพื่อตอบโจทย์คอกาแฟที่ต้องการลิ้มลองกาแฟแก้วนี้ เพราะนอกจากจะมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ขณะจิบยังได้เสพงานศิลป์ผ่านแก้วกาแฟไปพร้อมๆ กันอีกด้วย

ใส่ความเห็น