วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > Digital Disruption จุดเปลี่ยนวงการสื่อไทย?

Digital Disruption จุดเปลี่ยนวงการสื่อไทย?

ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการมาถึงของยุคสมัยแห่งดิจิทัลดูจะเป็นกลไกที่เสริมสร้างความเติบโตและส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง

หากแต่ท่ามกลางความไร้ขีดจำกัดของเทคโนโลยียุคดิจิทัล ที่ทำให้วิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไปนี้ กลับเป็นแรงสั่นสะเทือนที่วิ่งเข้ากระทบต่อวงการสื่อไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และทำให้สื่อกระแสหลักที่เคยครองความนิยมมาอย่างยาวนานต้องตกอยู่ในสภาพขาลง และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีสื่อใหม่ในนาม สื่อออนไลน์ เข้ามาแทนที่

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทนิตยสาร ต่างออกมาประกาศปิดตัวและทิ้งภาพความรุ่งเรืองครั้งเก่าให้เหลือไว้เป็นเพียงตำนาน ซึ่งสาเหตุหลักของปรากฏการณ์เหล่านี้ ได้รับการประเมินว่าเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนที่สะสมพอกพูนเพิ่มขึ้นได้

ขณะเดียวกันประเด็นว่าด้วย Digital Disruption ได้รับการประเมินว่าเป็นกระแสคลื่นที่ถาโถมเข้าใส่สื่อเก่า ทั้งนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งสื่อโทรทัศน์ เพราะทางเลือกในการเข้าถึงข่าวสารเปิดกว้างขึ้นไปสู่การเสพสื่อในแพลตฟอร์มใหม่บนโลกออนไลน์ จนทำให้สื่อเก่าเสื่อมความนิยมลงอย่างไม่อาจเลี่ยง

ความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลที่ดำเนินผ่านเทคโนโลยี และเครื่องมือสื่อสาร โดยเฉพาะมือถือ ส่งผลให้ปริมาณการเสพสื่อสิ่งพิมพ์ลดน้อยถอยลง และกำลังจะถึงจุดที่สื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสารมีความสำคัญน้อยลง ไม่เว้นแม้แต่สื่อโทรทัศน์ ที่ก็ต้องอยู่ในกระแสธารของการปรับตัวครั้งใหญ่ หลังจากที่ปริมาณการเข้าถึงของประชาชนมีอัตราลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่อง

บทบาทและอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบัน ทวีน้ำหนักและเพิ่มพลังให้กับประเด็นต่างๆ มากขึ้น หลังจากที่ประชาชน รวมถึงสถาบันสื่อสารมวลชนและกลไกภาครัฐ ต่างหันมาหยิบยกประเด็นบนโลกออนไลน์ไปจุดประเด็นและสานต่อ หรือแม้กระทั่งนำประเด็นเหล่านี้ไปแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนรวดเร็ว ที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของสื่อออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ และเป็นกลไกขับเคลื่อนเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทลายกำแพงของเวลาลงอย่างสิ้นเชิง

กรณีดังกล่าวทำให้สื่อกระแสหลัก ทั้งนิตยสาร หนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งได้รับการประเมินว่าอยู่ในภาวะเสื่อมถอย จำเป็นต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถที่จะเดินหน้าหรือดำรงสถานะต่อไปได้ และหากสื่อใดยังจ่อมจมที่จะผลิตสื่อในรูปแบบเดิมๆ อาจจะต้องปิดตัวลงไปในที่สุด

การปรับตัวในสื่อที่ปรากฏในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการหลากหลายหันมาให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มากขึ้น ด้วยหวังว่าวิธีดังกล่าวจะเพิ่มมูลค่า และสร้างสินค้าหรือแม้กระทั่งช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับองค์กร ผลพวงที่ติดตามมาจึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นธุรกิจสื่อบันเทิงหลากหลายผันตัวเองมาเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความสวยความงาม ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ รวมไปถึงธุรกิจการท่องเที่ยวอีกด้วย

ช่องทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากสินค้าใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการสื่อผลิตขึ้นมาใหม่เหล่านี้กลายเป็นแหล่งที่มาของรายได้ใหม่ที่หนุนนำความอยู่รอดขององค์กรสื่อได้มากกว่ารายได้เดิมที่องค์กรสื่อเคยได้รับ และนำไปสู่ความอยู่รอดในปัจจุบัน ซึ่งทำให้องค์กรสื่อมีสภาพไม่แตกต่างจากองค์กรการค้าที่มีสินค้าจำหน่ายนอกเหนือจากเนื้อหาและสาระข่าวอย่างที่เคย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งจากกรณีดังกล่าว อยู่ที่ในขณะที่องค์กรสื่อแต่ละองค์กรพยายามนำเสนอคอนเทนต์ที่รวดเร็วและสอดคล้องกับวิถีสำนึกของผู้บริโภคบนสื่อออนไลน์ กลับกลายเป็นการเพิ่มน้ำหนักและส่งให้สื่อออนไลน์เบียดแทรกเข้ามาทดแทน และมีบทบาทมากขึ้นเหนือสื่อเดิมไปโดยปริยาย

พัฒนาการของสื่อสังคมออนไลน์นับจากนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในมิติของเทคโนโลยี หากแต่ยังครอบคลุมประเด็นว่าด้วยเนื้อหาและรูปแบบในการสื่อที่นับเป็นปัจจัยสำคัญนับจากนี้ด้วยว่าสื่อกระแสหลักจะสามารถผสานการนำเสนอกับสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและดำรงสถานะการมีอยู่ขององค์กรสื่อนี้ได้อย่างไร

กลยุทธ์การสร้างดารา พิธีกร นักข่าว ให้มีชื่อเสียงเพื่อส่งออกคนเหล่านี้ไปร่วมกิจกรรมการตลาดและแบ่งสัดส่วนรายได้เข้าสู่ช่องตามสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นอีกหนึ่งวิธีที่คงไว้ซึ่งความอยู่รอดขององค์กร และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญ และอาจไปได้ดี เพราะสินค้าแต่ละชิ้นที่สร้างขึ้นมาอาจนำไปสร้างรายได้ในหลากหลายช่องทางควบคู่กับการสร้างสินค้าใหม่ๆ ที่จะเป็นโอกาสให้องค์กรได้พบกับธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก

ประเด็นว่าด้วยการพัฒนาคอนเทนต์หรือเนื้อหาสาระเป็นอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจติดตามไม่น้อย เพราะในขณะที่การผลิตสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาเองใหม่ทั้งระบบอาจต้องใช้งบประมาณที่สูงกว่าการซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศ ซึ่งทำให้ในห้วงปัจจุบันมีการนำเข้าคอนเทนต์ราคาไม่แพงจากต่างประเทศเข้ามากระจายและจัดสรรปันส่วนไปสู่ช่องทางของสื่อกระแสหลัก และกลายเป็นช่องทางธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

กระนั้นก็ดี ความสำเร็จจากวิถีปฏิบัติดังกล่าวย่อมไม่สามารถเป็นตัวแทนแห่งบทสรุปที่สะท้อนความสัมฤทธิผล เพราะในบางกรณีก็ปรากฏความล้มเหลวอย่างผิดคาด ไม่ว่าจะเป็นผลจากกลยุทธ์ การคาดการณ์อนาคตหรือวางแผนธุรกิจที่ไม่สอดรับกับสถานการณ์ที่มีการปรับเปลี่ยนรวดเร็ว ซึ่งกรณีเช่นนี้นับว่าเป็นสิ่งท้าทายของวงการสื่อในอนาคต

ความสำเร็จของผู้ประกอบการสื่อในช่วงเวลานับจากนี้ ได้รับการประเมินว่าไม่สามารถดำเนินผ่านเนื้อหาสาระในลักษณะของ mass content หากแต่ต้องสร้างเนื้อหาที่มีลักษณะเจาะจงเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ปริมาณเม็ดเงินจากการโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด

ความเปลี่ยนแปลงซึ่งดำเนินไปตามวิถีแห่งอนิจจลักษณะ อาจนำพาเทคโนโลยีให้เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการสื่อที่เคยได้รับสถานะเป็นประหนึ่งผู้ทรงอิทธิพลในการครอบครองข้อมูลข่าวสารกำลังถูกท้าทายและเผชิญการแข่งขันอย่างหนักหน่วง

สิ่งที่ท้าทายในยุคดิจิทัลนับจากนี้ย่อมมิได้ผูกพันอยู่เฉพาะประเด็นว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่เป็นประเด็นปัญหาว่าด้วยระบบวิถีความคิดและศักยภาพในการปรับตัวและนำเสนอ ว่าจะผ่านพ้นคลื่นการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร

ใส่ความเห็น