วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > On Globalization > Dark is Beautiful

Dark is Beautiful

 
Column: Women in Wonderland
 
ทุกวันนี้เวลาที่เราเปิดโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือดูข่าวสารตามเว็บไซต์ต่างๆ เราจะเห็นโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงาม อย่างเช่นเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เป็นต้น โฆษณาเหล่านี้มักจะมีการกล่าวถึงคุณสมบัติเด่นๆ ของผลิตภัณฑ์ในแต่ละชิ้น และส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการปรับสีผิวให้ดูขาวขึ้นมากกว่าสีผิวปกติ 
 
ในปี 2521 บริษัท Unilever ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นบริษัทแรกที่ออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยทำให้สีผิวขาวขึ้น และต่อมาก็มีบริษัทอื่นๆ เริ่มออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปรับสีผิวให้ขาวขึ้นมากกว่าเดิม ทุกบริษัทจึงมีการแข่งขันโฆษณากันอย่างดุเดือดถึงคุณสมบัติต่างๆ ของสินค้าของตัวเองที่จะช่วยให้ผู้ใช้มีสีผิวที่ขาวขึ้นกว่าเดิม
 
โฆษณาเหล่านี้หากดูเผินๆ แล้ว ก็เป็นการบอกเล่าคุณสมบัติเด่นของผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้ผู้ใช้มีสีผิวที่ขาวขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โฆษณาเหล่านี้กำลังปลูกฝังค่านิยมที่ผิดให้กับสังคม เพราะโฆษณาเหล่านี้กำลังจะบอกอย่างอ้อมๆ ว่า การที่มีผิวขาวนั้นจะทำให้เป็นที่น่าสนใจหรือดึงดูดสายตาของผู้ที่พบเจอในแต่ละวันมากกว่าคนที่มีผิวสีคล้ำ การที่เด็กๆ และผู้ใหญ่ได้ดูโฆษณาเหล่านี้หลายๆ ครั้งจากหลายๆ ผลิตภัณฑ์ ก็จะทำให้ผู้คนเหล่านี้รู้สึกไม่พอใจกับสีผิวของตัวเอง และต้องการให้ตัวเองมีสีผิวที่ขาวขึ้นมากกว่านี้ และที่แย่ไปกว่านั้นคือ คนที่เกิดมามีสีผิวคล้ำหรือดำ ก็จะเกิดความรู้สึกไม่พอใจ ไม่มีความสุขกับสีผิวของตัวเอง และเกิดความวิตกกังวลว่าจะทำยังไงให้ตัวเองมีสีผิวที่ขาวขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้
 
ความคิดที่ว่า คนที่มีผิวขาวจะเป็นคนที่น่าสนใจ และดึงดูดสายตามากกว่าคนที่มีผิวสีคล้ำนั้น เป็นความคิดที่ผิด และนี่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีสีผิวต่างกัน
 
ในปี 2525 Alice Walker ซึ่งเป็นนักเขียนชาวอเมริกัน ได้ให้คำจำกัดความ คำว่า Colorism หรือ Discrimination based on skin color ไว้ว่า การตัดสินหรือเลือกปฏิบัติกับคนที่มีสีผิวต่างกับตัวเองในสังคม ถึงแม้ว่าคนคนนั้นจะมีเชื้อชาติเดียวกับตัวเองก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่จะเห็นภาพจากจากเมืองต่างๆ ทั่วโลก ในภาพยนตร์ และละครทีวีว่า คนผิวดำมักจะเป็นคนจน และเป็นคนที่ทำผิดกฎหมาย ทำให้มีผู้คนจำนวนมากที่ปฏิบัติต่อคนที่มีผิวดำแตกต่างจากคนที่มีผิวขาวในสังคม
 
Colorism สามารถพบเห็นได้ในหลายๆ ที่ทั่วโลก อย่างเช่นที่ทวีปแอฟริกา บางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก ประเทศอินเดีย และประเทศอเมริกา และการที่คนผิวดำเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนขาวในสังคม ทำให้พวกเขารู้สึกวิตกกังวลกับสีผิวของตัวเอง และต้องการให้ตัวเองมีสีผิวที่ขาวขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ที่ประเทศไนจีเรีย ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มากกว่า 77% ใช้ผลิตภัณฑ์อย่างน้อยหนึ่งชิ้นที่จะช่วยให้ตัวเองมีผิวที่ขาวขึ้น หรืออย่างที่ประเทศอินเดีย ผลิตภัณฑ์บำรุงดูแลผิวที่ขายในประเทศ มากกว่า 61% จะต้องมีคุณสมบัติช่วยปรับสีผิวของผู้ใช้ให้ขาวขึ้น  
 
การที่ผู้คนส่วนมากนิยมชมชอบผู้ที่ผิวขาวมากกว่าผิวดำนั้น ถือว่าเป็นความกดดันอย่างหนึ่งของผู้ที่มีผิวดำ และทำให้พวกเขาไม่มีความสุขกับสีผิวของตัวเอง อย่างที่ประเทศไนจีเรีย ผู้ชายมากกว่าสองในสามของประเทศจะเลือกแต่งงานกับผู้หญิงที่มีสีผิวค่อนข้างขาว นี่หมายความว่า ผู้หญิงไนจีเรียจะต้องพยายามทำให้ตัวเองมีสีผิวที่ขาวขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นพวกเธออาจจะไม่ได้แต่งงาน
 
เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และมีผู้คนผิวดำเป็นจำนวนมากที่รู้สึกไม่พอใจกับสีผิวของตัวเอง แต่เมื่อปี 2552 โครงการ Dark is Beautiful ได้เริ่มขึ้นที่ประเทศอินเดีย โดย Kavitha Emmanuel เพื่อให้ผู้คนในประเทศอินเดียและประเทศต่างๆทั่วโลกให้ความสนใจและแก้ไขทัศนคติในสังคมเกี่ยวกับการมีอคติในเรื่องของสีผิว จุดมุ่งหมายสำคัญของโครงการนี้คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของความสวยงามของผู้หญิงอินเดียและผู้หญิงในประเทศอื่นๆ ว่า ไม่ว่าผู้หญิงเราจะมีผิวสีอะไร ต่างก็สวยเหมือนกันทั้งนั้น เพราะในตอนนี้ผู้คนในสังคมทั่วโลกต่างมีความเชื่อว่าผู้หญิงที่สวย และน่าดึงดูดคือผู้หญิงที่มีผิวขาว และโฆษณาตามสื่อต่างๆ ก็พยายามตอกย้ำความเชื่อนี้ยิ่งขึ้นไปอีก
 
ตั้งแต่โครงการ Dark is Beautiful ได้เริ่มต้นขึ้น Kavitha ได้เดินทางไปตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศอินเดียเพื่อให้ประชาชนรู้จักโครงการนี้มากขึ้น ในปี 2556 นักแสดงและนักทำกิจกรรมเพื่อสังคมชาวอินเดีย Nandita Das ได้ออกมาเปิดตัวสนับสนุนโครงการนี้กับสื่อมวลชน โดยเธอพยายามให้ความรู้เกี่ยวกับความสวยของผู้หญิงที่สามารถมีได้ในทุกสีผิวทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย 
 
และเมื่อปีที่แล้ว Kavitha ก็มุ่งเน้นที่จะทำให้ประชาชนชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือและทางตะวันออกได้รู้จักโครงการนี้มากขึ้น โดยการไปจัดกิจกรรมตามโรงเรียน และพูดให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการนี้ในที่สาธารณะ เพื่อให้ความคิดที่ว่า คนผิวดำก็มีความสวยอยู่ในตัวเองได้ แพร่กระจายไปสู่ผู้คนในประเทศอินเดียให้มากที่สุด 
 
ในขณะเดียวกันก็มีดารานักแสดงดังๆ หลายคนในประเทศอินเดีย ได้ออกมาสนับสนุนโครงการนี้ และเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนช่วยให้สีผิวขาวขึ้นกว่าเดิม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Richa Chadha นักแสดงชื่อดังชาวอินเดีย ได้ออกมาปฎิเสธที่จะเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์หนึ่งที่จะช่วยปรับให้มีสีผิวที่ขาวขึ้น
 
Kavitha ไม่ได้พยายามเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ด้วยการเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ของอินเดียเท่านั้น เธอยังได้จัดทำหน้าเฟสบุ๊กของโครงการนี้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ให้กับประชาชน (สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://www.facebook.com/darkisbeautiful) ตอนนี้มีคนกดไลค์หน้าเพจนี้อยู่ที่ประมาณ 44,292 คน 
 
ซึ่งหลังจากที่ประชาชนได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ทำให้มีผู้หญิงชาวอินเดียเป็นจำนวนมากรู้สึกพึงพอใจกับสีผิวของตัวเอง และไม่ได้รู้สึกเครียดหรือกดดันเหมือนแต่ก่อน เมื่อตัวเองไม่ได้มีสีผิวที่ขาวเหมือนกับคนอื่นๆ
 
ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศอินเดียเท่านั้นที่ออกมาต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อผู้คนเพียงเพราะมีผิวดำ แต่ยังคงมีนักทำกิจกรรมเพื่อสังคมจากหลายๆ ประเทศ อย่างเช่นประเทศมาเลเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา และศรีลังกา เป็นต้น ที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้และต้องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ผู้คนในสังคมมีเกี่ยวกับเรื่องนี้ และ Kavitha ก็ยังได้รับเชิญจากประเทศต่างๆ ให้ไปพูดคุยเกี่ยวกับโครงการนี้ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติกับผู้คนในสังคมเพียงเพราะพวกเขามีผิวดำ
 
Dark is Beautiful เป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับจากสังคมในประเทศอินเดียเป็นอย่างดี ทำให้องค์กรที่รับผิดชอบดูแลเรื่องของกฎระเบียบในการทำโฆษณาของประเทศอินเดียได้ผ่านกฎข้อใหม่ว่า โฆษณาทุกชิ้นในประเทศอินเดีย จะต้องไม่มีการชี้แนะให้กับสังคมว่า การมีผิวสีไหนดีกว่ากัน และในการโฆษณาจะต้องไม่มีข้อความหรือคำพูดใดๆ ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเหยียดสีผิว
 
Kavitha ออกมาพูดชี้แจงหลังจากที่กฎระเบียบข้อนี้มีการบังคับใช้ในประเทศอินเดียว่า กฎระเบียบนี้เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ในการช่วยยุติการเผยแพร่ข้อมูลที่ว่าคนที่มีผิวขาวจะเป็นคนที่สวยและได้รับความสนใจในสังคมมากกว่าคนผิวดำ เพราะเด็กผู้หญิงที่อาศัยอยู่ทางใต้ของประเทศอินเดียได้รับการสอนมาตลอดจากผู้ปกครองและครูในโรงเรียนว่า การที่พวกเธอเกิดมามีผิวดำนั้น ทำให้พวกเธอเป็นคนไม่มีประโยชน์ในสังคม และจะไม่สามารถหางานดีๆ ทำได้ในอนาคต 
 
Kavitha ได้เล่าเพิ่มเติมว่า บางโรงเรียนที่เธอได้ไปมานั้น ถ้าเด็กคนไหนมีผิวดำจะไม่มีเพื่อนคนไหนคบค้าสมาคมด้วย และไม่มีใครอยากนั่งเรียนใกล้กับพวกเธอ 
 
นอกจากนี้ Kavitha ยังชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่าพวกเธอไม่ได้ออกมาต่อต้านว่า ไม่ให้ผู้คนชาวอินเดียใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยให้สีผิวของตัวเองดูขาวขึ้นได้ แต่อยากให้คนอินเดียได้พิจารณาถึงส่วนผสมต่างๆ ที่นำมาใช้ในการทำเครื่องสำอางเหล่านี้ว่า มีประโยชน์และโทษอย่างไรต่อผิวหนังของเรามากกว่า เพราะมีผู้หญิงเป็นจำนวนไม่น้อยเลยที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้มีสีผิวที่ขาวขึ้นแล้ว เกิดอาการแพ้ มีผื่น หรือตุ่มเล็กๆ ขึ้นตามตัวหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้
 
ในประเทศไทยเองก็มีให้เห็นเช่นกัน อย่างเมื่อสี่ปีที่แล้ว ที่โฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ทำให้มีผิวขาวอมชมพู ได้ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์ชนิดนี้บนรถไฟฟ้า BTS และได้เขียนคำโฆษณาว่า “ขาวอมชมพู ขึ้นตู้นี้” และ “สำรองที่นั่งสำหรับ … คนขาว” ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในเว็บพันทิป และต่อมาทางบริษัทก็ได้ออกมาขอโทษและถอดโฆษณาตัวนี้ออกจากทุกสื่อ
 
คนเราไม่ว่าจะเกิดมาสีผิวอะไรต่างก็มีดีในตัวเองกันทั้งนั้น และมีค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน สื่อที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการป้อนข้อมูลต่างๆ ให้กับสังคมจึงควรมีความระมัดระวังเป็นอย่างมากในการที่จะพูดหรือตีพิมพ์ข้อความใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอย่างเรื่องของสีผิว ที่สื่อควรจะสนับสนุนให้คนทุกสีผิวมีความมั่นใจในตนเอง มากกว่าที่จะสนับสนุนให้คนเปลี่ยนสีผิวตัวเองให้ขาวขึ้นเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม
 
 
 
โปสเตอร์โครงการ Dark is Beautiful
 
 
 
Kavitha Emmanuel ผู้ก่อตั้งโครงการ Dark is Beautiful ในปี 2552
 
 
 
Nandita Das นักแสดงและนักทำกิจกรรมเพื่อสังคมชาวอินเดีย ได้สนับสนุนและเผยแพร่โครงการ Dark is Beautiful โดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย