วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > CP กับบทบาทแบงกิ้งเอเยนต์ พลิกภูมิทัศน์ใหม่การเงินไทย??

CP กับบทบาทแบงกิ้งเอเยนต์ พลิกภูมิทัศน์ใหม่การเงินไทย??

ข่าวการอนุญาตให้เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-11 สามารถขยายการให้บริการธุรกรรมทางการเงินในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหม่ถึงการขยายแนวรุกเข้าครอบครองธุรกิจ และแผ่อิทธิพลครอบงำวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทยยิ่งขึ้นแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง ได้สะท้อนปรากฏการณ์ของการปรับตัวของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ก่อนหน้านี้พยายามเร่งลดทอนค่าใช้จ่ายด้วยการทยอยปิดสาขาลง และหลายแห่งกำหนดแผนที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงานและระบบการบริหาร การบริการมาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี ความคลาดเคลื่อนของการอนุญาตให้เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-11 สามารถให้บริการธุรกรรมทางการเงิน แม้จะไม่ใช่การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์หากแต่เป็นเพียงการเพิ่มสถานะการเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์หรือ banking agent เพื่อทำหน้าที่แทนธนาคารพาณิชย์ได้ในบางธุรกรรม เช่น รับฝากเงิน รับชำระเงิน จ่ายค่าบริการ ก็ดูจะเป็นอีกก้าวที่เพียงพอให้เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-11 มีความได้เปรียบคู่แข่งขันไปอีกไกลพอสมควร และเป็นจังหวะก้าวที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจมีผลต่อการขยับขยายธุรกิจของ 7-11 ในอนาคต

รูปแบบธุรกิจที่ก้าวจากการเป็นร้านสะดวกซื้อ ขยายไปสู่ธุรกิจธนาคารในนาม Seven Bank ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ร่มธงของ Seven & I Holdings ซึ่งนับเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ 1 ใน 5 ของโลก ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับจังหวะก้าวของ 7-11 ในประเทศไทย จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมายืนยันว่ายังไม่มีนโยบายในการออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่แต่อย่างใด

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทนธนาคารพาณิชย์ (banking agent) มาตั้งแต่ปี 2553 โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการ banking agent เพื่อให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เพย์เมนต์ และให้บริการรับชำระบิลค่าสินค้า สาธารณูปโภค รวม 5 ราย ประกอบด้วย ตู้บุญเติมตู้เติมสบาย แอปพลิเคชัน Airpay เคาน์เตอร์เซอร์วิส ในเครือของ CP และไปรษณีย์ไทยซึ่งเป็นเพียงรายเดียวที่ได้รับอนุญาตให้สามารถบริการธุรกรรมทางการเงินทั้งฝากและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้

การเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่ที่การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย และคาดว่าจะสามารถลงในราชกิจจานุเบกษาได้ในเดือนมีนาคมนี้ โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่การเพิ่มให้แบงกิ้งเอเยนต์สามารถให้บริการถอนเงินได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ และจำกัดไม่เกิน 20,000 บาทต่อวัน สำหรับผู้ใช้บริการแต่ละราย โดยที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องขออนุญาตในการแต่งตั้งแบงกิ้งเอเยนต์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย ยกเว้นกรณีเป็นการตั้งบุคคลธรรมดา หรือร้านค้าในชุมชนซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณีไป

ทั้งนี้ เมื่อหลักเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้ เชื่อว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะอาศัยประโยชน์จากกรณีดังกล่าวแต่งตั้งตัวแทนธนาคาร ซึ่งสอดรับกับแผนการปรับเปลี่ยนของแต่ละธนาคาร และภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ภูมิทัศน์ใหม่ของการให้บริการทางการเงินของไทยจะยิ่งปรากฏภาพที่ชัดเจนขึ้น และอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้เงินสดและการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งให้ดำเนินไปด้วยอัตราเร่งยิ่งขึ้น

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว แม้ว่าจะได้รับคำอธิบายว่าเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการในเขตพื้นที่ห่างไกล และสอดคล้องกับภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปของธนาคารพาณิชย์ที่ต่างลดทอนสาขาในหลายพื้นที่ลง แต่ในมิติที่ว่านี้ ผู้ประกอบการทั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิส และ 7-11 ดูจะได้รับอานิสงส์ในทางบวก จากท่วงทำนองของหลักเกณฑ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่น้อยเลย

บริการที่กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ดำเนินการผ่านทั้งจากช่องทางของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่มีอยู่ครอบคลุมในลักษณะที่เกือบจะเรียกได้ว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทย และบริการของเคาน์เตอร์เซอร์วิส นอกจากจะสร้างรายได้จากการเก็บค่าบริการของการทำธุรกรรม (transaction fee) แล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังหมายถึงกระแสเงินสดจำนวนมากที่สะพัดผ่านและอยู่ในมือในแต่ละช่วงเวลาด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจทั้งจากปรากฏการณ์ล่าสุดและประวัติการณ์แห่งความพยายามที่ผ่านมาของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ก็คือ CP พยายามขยายอาณาจักรทางธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมการเงินมาเป็นระยะไม่ว่าจะโดยการเข้าถือหุ้นเป็นพันธมิตรกับธนาคารจากจีนหรือการรุกเข้าสู่ธุรกิจประกันในนาม Allianz CP จนล่าสุดการรุกคืบด้วยการประสานความร่วมมือกับ AliPay ในการรุกเข้าสู่บริบทธุรกิจ Cashless Society ที่เป็นการจุดพลุให้ภูมิทัศน์ทางธุรกิจการเงินไทยต้องเร่งปรับตัวด้วยอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย

จังหวะก้าวของเครือ CP ที่ชวนให้ตื่นตาในการรุกเข้าสู่บริการทางการเงินในรูปแบบ digital ผ่านกลไกของ True Money ที่กำลังต่อยอดไปสู่ความร่วมมือกับ AliPay ในการทำธุรกรรมแบบ Digital Money ที่ทำให้กลไกรอบด้านของ CP พร้อมจะเป็นมากกว่าแบงกิ้งเอเยนต์ หรือแม้กระทั่งประเด็นว่าด้วยการได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบธนาคารพาณิชย์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ต้องรีบร้อนมากนัก

ขุมพลังของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อกำลังทำให้ CP สามารถผนึกกำลังและประสานประโยชน์กับบรรดาเหล่าสถาบันการเงิน ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะธนาคารพาณิชย์ ในการเป็นช่องทางทำธุรกรรมทางการเงินหลากหลายเท่านั้น หากยังหมายถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งสาขาของร้านสะดวกซื้อ และประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในสังกัด ซึ่งล้วนให้ภาพที่สวนทางกับกรณีการทยอยปิดสาขาและการปรับโครงสร้างพนักงานของสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมาอย่างยิ่ง

ใส่ความเห็น