วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > COVID-19 เป็นเหตุ ฉุด FDI ทั่วโลกซบเซา

COVID-19 เป็นเหตุ ฉุด FDI ทั่วโลกซบเซา

ผลพวงจากวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากจะส่งผลกระทบทั่วโลก และมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) โดยจากการคาดการณ์ล่าสุดของ UNCTAD เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 ระบุว่า Global FDI จะลดลงประมาณร้อยละ-30 ถึง -40 ในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับคาดการณ์ของ OECD ที่มีมาก่อนหน้านี้

สาเหตุหลักที่ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอยู่ในภาวะหดตัวลง ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากมาตรการปิดเมืองซึ่งทำให้โปรเจกต์การลงทุนประสบความล่าช้าหรืออาจโดนยกเลิก โดยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในหลายประเทศ ส่งผลให้โครงการการลงทุนหลายแห่งถูกเลื่อนออกไป หรืออาจถูกยกเลิกจากความเสี่ยงที่โครงการเหล่านั้นจะไม่สำเร็จ ซึ่งจากข้อมูลสถิติของ UNCTAD พบว่าโครงการการเงิน(Project finance) ทั่วโลกในเดือนเมษายนลดลงประมาณร้อยละ -40 จากค่าเฉลี่ยรายเดือนในปี 2019 และลดลงเกือบถึงร้อยละ -50 จากเดือนมีนาคม โดยส่วนใหญ่เป็นการหดตัวจากโครงการการเงินในประเทศกำลังพัฒนา สะท้อนถึงแนวโน้มการหดตัวของโครงการการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ FDI ในปีนี้

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยทำให้บริษัทมีกำไรลดลง หรือบางบริษัทอาจมีความจำเป็นต้องปิดกิจการ จึงทำให้เม็ดเงินลงทุนมีแนวโน้มลดลงมาก โดยภาวะเศรษฐกิจถดถอยย่อมกระทบถึงกำไรของบริษัท จึงทำให้บริษัทวางแผนการลงทุนที่รัดกุมมากขึ้น ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมโดย UNCTAD พบว่าบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprises : MNEs) ชั้นนำ 5,000 แห่งได้มีการปรับการคาดการณ์กำไรในปี 2020 จะหดตัวมากถึงร้อยละ 36

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มถอนฐานการผลิตกลับประเทศของตนเอง จากผลของความตึงเครียดด้านสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การใช้มาตรการปิดเมืองทั่วโลกเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ผลกระทบจากปัญหา supply chain disruption เร่งตัวขึ้น ทำให้หลายบริษัทพิจารณาเน้นการผลิตในประเทศมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงในการหยุดชะงักการผลิตชั่วคราวเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตอีกครั้ง โดยตัวอย่างที่เกิดชัดเจนคือนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนำงบประมาณส่วนหนึ่งมาให้ความช่วยเหลือสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการถอนฐานการผลิตออกจากจีน และย้ายกลับเข้าสู่ประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับห่วงโซ่อุปทานในประเทศและลดการพึ่งพาต่างประเทศ

แนวโน้มที่ซบเซาด้านการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศของทั้งโลก ทำให้คาดว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่จะมาลงทุนในไทยปีนี้ก็น่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยจากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติโดยรวมและในเขตพื้นที่ EEC มีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 67 (YoY) และลดลงร้อยละ 70 (YoY) ตามลำดับ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 สะท้อนถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มลดลงมาก

การลงทุนจากต่างชาติในพื้นที่ EEC ที่มีมูลค่าลดลง สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐยังไม่สามารถสร้างให้พื้นที่ EEC ให้มีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนชั้นนำจากต่างชาติได้ทันท่วงที เมื่อเหตุการณ์ด้านโรคระบาดคลี่คลายและการลงทุนระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น หากยังหวังให้ EEC เป็นจักรกลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ได้ดำเนินผ่านมาในช่วงก่อนหน้านี้

การเกิดขึ้นของ COVID-19 เป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างหลากหลายกว้างขวาง ซึ่งหากประเทศใดสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้เร็ว ก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้เร็ว สำหรับประเทศไทยนี่อาจเป็นจังหวะเวลาในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการลงทุนในสาขาสำคัญแห่งอนาคต ที่จะช่วยเร่งการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลัง COVID-19 ด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจว่าด้วยความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา อยู่ที่กำลังซื้อภายในประเทศอ่อนแอจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ลดทอนแรงจูงใจในการลงทุนของผู้ประกอบการขณะเดียวกันยังขาดแคลนแรงงานคุณภาพ โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ และยังมีปัจจัยเชิงสถาบัน โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้นโยบายรัฐขาดความต่อเนื่อง และทิศทางการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ (TDI) ที่ผู้ประกอบการไทยออกไปหาโอกาสในตลาดต่างประเทศมากขึ้น

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินในช่วงต้นปี 2020 ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวร้อยละ 3 และการที่ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศสูงจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตครั้งนี้ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2020 จะหดตัวร้อยละ 5.3 และมีผลซ้ำเติมจากความเปราะบางของเศรษฐกิจภายในประเทศซึ่งเป็นผลจากการขาดการลงทุนมานาน

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในช่วงก่อนหน้านี้ ก็คือ ประเทศไทยขาดการลงทุนในทุนมนุษย์และระบบการศึกษา การเรียนหนังสือที่บ้านชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ครูและนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้ และปัญหาความไม่ครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ในกรณีนี้อาจไม่ได้มาจากเม็ดเงินลงทุนที่น้อยเพราะงบประมาณลงทุนในการศึกษาไทยค่อนข้างสูงที่ร้อยละ 6-7 ต่อ GDP แต่เป็นปัญหาของช่องว่างของคุณภาพการศึกษา

นอกจากนี้ ดัชนีพัฒนาทุนมนุษย์ของธนาคารโลก ยังบ่งชี้ให้เห็นว่าไทยมี Human Capital Index (HCI) ที่ 0.6 ซึ่งหมายถึงนักเรียนไทยที่เรียนจนจบหลักสูตรมีผลิตภาพเพียงร้อยละ 60 ของระดับสูงสุดเท่านั้น นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แรงงานไทยได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะแรงงานทักษะต่ำ ขณะที่แรงงานจบใหม่จะหางานทำได้ยากขึ้น

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังชี้ให้เห็นว่ารัฐไทยขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ขาดการลงทุนในระบบจัดเก็บข้อมูลที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกัน เห็นได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ไม่สามารถเยียวยาได้ทันท่วงที โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวที่มีการจ้างงานกว่าร้อยละ 20 ของการจ้างงานทั้งหมด และส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความคุ้มครองทางสังคม (Social safety net) และการใช้เทคโนโลยีเพื่อชะลอการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างน้อย โดยมีเพียงเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน

ท่ามกลางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ชะลอตัว สิ่งที่รัฐไทยควรหันกลับมาให้ความสนใจเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ จึงอยู่ที่การลงทุนด้านเทคโนโลยี การลงทุนในทุนมนุษย์และเพิ่มคุณภาพของการศึกษา การที่ไทยจะฟื้นฟูเศรษฐกิจและเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องแก้ไขปัญหาโครงสร้างเดิมที่มีอยู่เสียก่อน โดยควรเร่งการลงทุนของภาครัฐในโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยลดช่องว่างทางสังคม โดยเฉพาะและระบบการศึกษาที่ทั่วถึงและเป็นธรรม โครงข่ายโทรคมนาคม และฐานข้อมูลภาครัฐ

ขณะเดียวกันรัฐไทยควรให้ความสนใจการลงทุนในสาขาที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นสาขาพื้นฐานที่ไทยมีความพร้อมและเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย วิกฤต COVID-19 ชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด และการทำให้ “ครัวไทยเป็นครัวโลก” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยมีทรัพยากรสมบูรณ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ COVID-19 ทำให้ทั่วโลกใส่ใจกับคุณภาพของบริการสาธารณสุขและการแพทย์มากขึ้น ขณะที่ไทยมีจุดแข็งด้านการให้บริการด้านการแพทย์อยู่แล้ว จึงควรใช้จังหวะนี้เร่งลงทุนการแพทย์แบบครบวงจร (Medical hub) ทั้งการผลิตบุคลากรและการพัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัย และไทยยังมีโอกาสสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยปี 2020 ไทยอยู่ลำดับที่ 17 ของการจัดอันดับประเทศที่น่าใช้ชีวิตหลังเกษียณโดยนิตยสาร International Living ซึ่งมีตัวชี้วัดด้านสาธารณสุขรวมอยู่ด้วย

ท่ามกลางสถานการณ์ที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ชะลอตัวจากผลของการแพร่ระบาด COVID-19 สิ่งที่รัฐไทยพึงตระหนักและดำเนินการคงอยู่ที่การขับเคลื่อนพลวัตทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้ดำเนินต่อไปได้ มากกว่าการสร้างมายาภาพแห่งความขลาดกลัวให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ว่าด้วยการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ในขณะที่กลไกรัฐกลับกลายเป็นหน่วยงานที่หละหลวมและไร้ความรับผิดชอบ ปล่อยให้เกิดเชื้อ COVID-19 เข้าสู่สังคมไทยทั้งที่ต้องทุ่มงบประมาณในการบริหารจัดการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (ศบค.) และต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจและเงินเยียวยาชดเชยผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างอย่างที่ประเมินค่าไม่ได้เช่นในปัจจุบัน

บางทีเมื่อถึงจุดตัดแห่งกาลเวลาและข้อเท็จจริง สังคมไทยควรคิดและวิเคราะห์ว่า ความจำเป็นแห่งการมีอยู่ของ ศบค. ที่ดำเนินมากว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมายังมีความสำคัญจำเป็นในการดำรงอยู่ไหม และศูนย์บริหารสถานการณ์แห่งนี้ได้บริหารอะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคมไทยบ้าง นอกจากการย้ำและข่มขู่ถึงการป้องกันและรับผิดชอบตัวเองจากภาคประชาชน ท่ามกลางความละเลยที่เกิดขึ้นจากบุคลากรภาครัฐที่ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

ผลสรุปสุดท้ายของดัชนีแห่งความสำเร็จในการบริหารสถานการณ์ COVID-19 ย่อมไม่ใช่การวัดที่จำนวนตัวเลขของจำนวนผู้ป่วยที่ตรวจพบใน state quarantine หากแต่อยู่ที่จำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคและมาตรการเยียวยาที่รัฐพึงจะควรมีให้ต่อกลุ่มประชากรในรัฐ

นี่ต่างหากคือดัชนีแห่งความสำเร็จที่ทำให้ “ไทยชนะ” ไม่ใช่เพียงชื่อของ application ที่สะท้อนออกมาแล้วว่าล้มเหลวสิ้นเชิงจากความละเลยของกลไกรัฐดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ใส่ความเห็น