วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
Home > Life > COVID-19: คนไทยเผชิญวิกฤต ภาวะเครียดแทรกซ้อนซ้ำเติม

COVID-19: คนไทยเผชิญวิกฤต ภาวะเครียดแทรกซ้อนซ้ำเติม

สถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาดอีกครั้ง และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากกว่าครั้งก่อนนอกจากจะมีประเด็นว่าด้วยการควบคุมโรคและการทำงานหนักของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่คนไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดยังอยู่ที่ความเครียด และการรับมือกับสภาพจิตใจของตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาที่มองข้ามไม่ได้โดยเด็ดขาด

วิกฤต COVID-19 นำไปสู่ความเครียดของคนเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากความกังวลใจสงสัยว่าตัวเองติดเชื้อหรือยัง หรือความเครียดจากการที่ค้าขายไม่ได้ นายจ้างลดการจ้างงาน เครียดเพราะเดินทางไม่ได้ รวมถึงการที่ครอบครัวมีลูกอยู่บ้าน หรือทำงานที่บ้าน จนเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งและทะเลาะกันมากยิ่งขึ้น ปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้คนมีความเครียดเพิ่มขึ้น และถูกทับถมให้หนักขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ในแต่ละระลอกให้หนักขึ้นไปอีก

จากสถิตินับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาพบว่าแนวโน้มที่คนไทยมีความเครียดจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายมีอัตราที่สูงมาก คำแนะนำสำคัญสำหรับคนที่เครียดจาก COVID-19 จึงอยู่ที่การรับฟังเพื่อพยายามหาว่าปัญหาคืออะไร และพิจารณาปัญหาที่สำคัญสุดที่เผชิญอยู่คืออะไรกันแน่ สิ่งต่อมาคือการประเมินว่าปัญหาที่แต่ละคนเผชิญอยู่เป็นปัญหาที่แก้ได้หรือไม่ได้ เช่น เรื่องหนี้สิน ก็ต้องประสานหาข้อมูลเพื่อบรรเทาผลกระทบ หากเป็นเรื่องทะเลาะกับคนในบ้านหลังจากต้องล็อกดาวน์ตัวเองกับคนในครอบครัว ทำให้มีปากเสียงกันบ่อย ก็ต้องระงับจิตใจให้ผ่อนคลายลง

ส่วนปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ เช่น ภาวะซึมเศร้าจากผลของการที่บางคนได้รับรู้หรือประสบเจอเจอเหตุจากคนรู้จักเสียชีวิตจาก COVID-19 อาจต้องพิจารณาว่ามีแนวโน้มขอบเขตความเครียดอยู่ระดับไหน ถึงขั้นต้องไปพบแพทย์หรือไม่ ซึ่งทุกครั้งที่สังคมเจอวิกฤต เช่น วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งมีคนก่อเหตุฆ่าตัวตายสูงถึงร้อยละ 25% จากปีก่อนหน้า และอัตรานี้จะคงอยู่ไป 3-4 ปี กว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ข้อสังเกตประการหนึ่งจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในสังคมทุกครั้งนั้น จะเห็นได้ว่าแต่ละวิกฤตส่งผลเป็นความเปลี่ยนแปลงต่อผู้คนจำนวนมาก เพราะสร้างบาดแผลใหม่ไปกระทบบาดแผลเก่าในจิตใจผู้คน ดังนั้นคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตจะยิ่งเครียดมากกว่าเดิม บางคนปรับตัวไม่ได้อาการจะหนักขึ้น สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะดูแลตัวเองอย่างไร มีแรงยืดหยุ่นทางจิตใจแค่ไหน บางคนล้มแล้วลุกแต่บางคนล้มแล้วลุกไม่ได้วิธีการแก้ปัญหาความเครียด จึงอยู่ที่การต้องพูดคุยกับตัวเองก่อนและประเมินว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ก่อนที่จะพูดคุยกับคนใกล้ชิดรอบข้างเพื่อร่วมรับฟังและหาคำแนะนำ รวมถึงหนทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งทุกคนต้องตรวจเช็กสภาพจิตใจตัวเองอยู่เสมอ

ความเป็นไปของการระบาดของโรค ทำให้องค์การอนามัยโลก หรือ WHO มีการบัญญัติคำว่า “Infodemic” หมายถึงการระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องหรือการบิดเบือนข่าว โดยเกิดจากการรวมคำสองคำเข้าด้วยกันคือ Information (ข่าวสาร) และ Epidemic (การระบาด) ข้อมูลที่เป็นความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร (Information Disorder) ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ข้อมูลที่ผิด (Misinformation) เป็นข้อมูลที่ปลอมขึ้นมาหรือเป็นเท็จ แต่เผยแพร่เพราะเชื่อว่าเป็นความจริง แชร์ด้วยความหวังดี มีคุณธรรมแต่ขาดเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่ 2. ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) เป็นข้อมูลข่าวสารที่ตั้งใจให้ส่งผลกระทบในทางลบ และเผยแพร่เพราะรู้ว่าเป็นเท็จ

การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนคือจำเป็นต้องรู้เท่าทันสื่อหรือการสามารถตรวจสอบข่าวสารได้ ต้องมีความกล้าที่จะบอกและคิดถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการแชร์ กลุ่มคนที่ทำให้เกิดปัญหามี 2 แบบ ได้แก่ 1. Echo Chamber เสพข่าวในแวดวงตัวเองหรือในกลุ่มที่ชื่นชอบ และคิดว่าเป็นข่าวจริงทั้งหมด 2.ไม่อยากตกเทรนด์ แชร์ตามกระแสโดยขาดการยั้งคิด สื่อหลักควรให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เปิดเผยและเที่ยงตรง

คำแนะนำในการติดตามข่าวสารเรื่อง COVID-19 จึงอยู่ที่การติดตามข่าวเพื่อไม่ให้ประมาทและรู้ทันเข้าใจสถานการณ์ แต่ไม่ใช่การติดตามข่าวจนเกิดความตระหนก ซึ่งในหลายกรณีได้ทำให้คนเครียดยิ่งขึ้น บางคนเครียดมากถึงกับใช้ชีวิตปกติไม่ได้ ไม่คุยกับใคร พฤติกรรมเปลี่ยนไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแนะนำให้หยุดรับรู้ข่าวสารเรื่องนี้สักระยะ เพราะสิ่งที่น่ากลัวและติดต่อง่ายกว่า COVID-19 คืออารมณ์ในทางลบ ทำให้คนเครียดได้จากอารมณ์คนหมู่มากที่แฝงมาในข่าวสารที่เสพ

ภาวะที่น่าสนใจติดตามในห้วงปัจจุบันอยู่ที่การเฝ้าระวังดูแลบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือกับภาวะหมดไฟ ซึ่งเกิดจากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องในช่วง COVID-19 เพราะบุคลากรเหล่านี้ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ทุกคนมีความกลัว ตระหนกว่าจะพาโรคไปติดครอบครัวหรือไม่ โดยในช่วง COVID-19 ระบาดเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2563 บุคลากรทางการแพทย์เผชิญภาวะนี้สูงมาก และค่อย ๆ ลดลงเมื่อโรคซาลงไป

หากแต่การระบาดรอบปัจจุบันยังไม่แน่ว่าภาวะนี้จะสูงแค่ไหน ซึ่งส่งผลเป็นทอด ๆ เพราะงานวิจัยต่างประเทศเผยว่าหากบุคลากรทางการแพทย์อ่อนล้าหรือหมดไฟ เจองานหนัก ท้อแท้ สมาธิจะเสีย ศักยภาพการทำงานจะลดลง เสี่ยงต่อการป่วยติดเชื้อ ทำให้ทรัพยากรในการดูแลประชาชนเสียหาย ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจจึงอยู่ที่การดูแลให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ติดต่อปรึกษาพูดคุยระบายปัญหา และสนับสนุนพวกเขาด้วยในฐานะด่านหน้าการรับมือ COVID-19 หากพวกเขามีจิตใจตกต่ำย่ำแย่ อาจจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ รอบข้างทรุดต่ำลงไปหมด

ประเด็นปัญหาของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเผชิญกับความเครียดจาก COVID-19 จะประกอบด้วย การทำงานที่ไม่รู้ว่าปัญหาจะจบลงเมื่อไหร่ ขาดการติดต่อกับคนในครอบครัว ขาดความเข้าใจในโรค ปัญหานี้มักจะเกิดในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ปัจจุบันส่วนนี้หายไปแล้ว สิ่งสำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์ขาดกำลังใจจากคนรอบข้าง และจากคนที่มาใช้บริการ ซึ่งทุกฝ่ายต่างเครียดกันทั้งคู่จนทะเลาะกัน ดังนั้นจึงอยากฝากว่าขอให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจให้ตรงกัน และบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงคนไข้ต่างต้องเผชิญกับภาวะความเครียดจากความไม่ชัดเจนของกลไกรัฐไม่แตกต่างกัน

ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ชีวิตการทำงานในปัจจุบันอยู่ที่เทคโนโลยี Telepressure โดยปัจจุบันใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารงานทำให้เกิดการทำงานล่วงเวลา ความเร่งด่วน เนื่องจากมีการแข่งขันในบริษัททำให้เกิดความกดดันในการทำงาน การรับรู้ถึงความไม่มั่นคง เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนทำให้กังวลถึงภาวะที่อาจจะตกงานหรือความอยู่รอดของบริษัท ขณะที่สภาพแวดล้อมที่บ้านไม่ได้เอื้อต่อการทำงานและบทบาทภายในบ้าน

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ต้อง Work From Home ซึ่งทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวลได้ง่ายและการหมดไฟ (Burnout syndrome) หรือความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ที่เก็บสะสม อาการที่พบคือเกิดอาการเหนื่อยล้าไม่มีสาเหตุ และเริ่มรู้สึกไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งนี้ 3 ทักษะที่ช่วยจัดการความเครียดคือ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ตัดสินคนอื่นทันที และคำนึงถึงความแตกต่าง

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือเราจะต้องอยู่กับ COVID-19 ไปจนกว่าจะมีวัคซีนฉีดอย่างทั่วถึงประชาชนในประเทศร้อยละ 50-60 หรือจนกว่าจะเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ เพราะมีคนได้รับวัคซีนมากพอ จนเชื้อโรคไม่สามารถติดต่อกับคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งประเด็นนี้ต้องย้ำสำหรับคนที่เครียดกับโรคว่า มันจะหายไปเมื่อไหร่ เป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ไม่มีวันรู้ว่าจะหายไปตอนไหนและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ คือต้องอยู่กับปัจจุบัน ต้องป้องกันตัวเองให้มีความเสี่ยงน้อยสุดในการติดเชื้อ เราอาจป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ทำให้เสี่ยงน้อยที่สุดได้

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็คือ นอกจากจะต้องเผชิญกับภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนานแล้ว การแพร่ระบาดของ COVID-19 ดูจะเป็นประจักษ์พยานถึงความเลวร้ายต่ำทรามในการบริหารจัดการของกลไกที่แวดล้อมในการจัดการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งสิ่งที่สังคมไทยสามารถทำได้ในปัจจุบันจึงอยู่ที่การบริหารจัดการความเครียดของตัวเองไม่ให้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำร้ายความภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทยเท่านั้น

ใส่ความเห็น