วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > COVID-19 เชื้อฟืนเผาจริงเศรษฐกิจไทย?

COVID-19 เชื้อฟืนเผาจริงเศรษฐกิจไทย?

แรงกดดันว่าด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในนาม COVID-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ความท้าทายต่อความสามารถในการบริหารจัดการด้านการสาธารณสุขและมาตรการรับมือกับสถานการณ์ความเป็นไปของหน่วยงานภาครัฐแต่เพียงลำพังเท่านั้น หากแต่ผลของการแพร่ระบาดยังคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมซึ่งกำลังนำไปสู่ new normal หรือวิถีชีวิตใหม่ในไม่ช้า

ตลอดระยะเวลากว่า 2-3 เดือนนับตั้งแต่แรกเริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดในประเทศจีน การประเมินความเสียหายอาจจะจำกัดวงอยู่เฉพาะในส่วนของการค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับจีนอย่างเป็นด้านหลัก หากแต่เมื่อข้อเท็จจริงของการแพร่ระบาดกระจายตัวไปสู่การประกาศให้ COVID-19 เป็น “ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก” (Pandemic) โดยองค์การอนามัยโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจก็ขยายตัวไปสู่ความกังวลใจว่า COVID-19 จะเป็นปัจจัยลบที่ฉุดให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นไปอีก

COVID-19 ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ไม่เพียงแต่จะส่งผลร้ายทำลายร่างกายมนุษย์เท่านั้น แต่ยังทำลายเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะโรงงานหลายแห่งในจีนที่มีบริษัทจากต่างประเทศได้ทุ่มเงินมหาศาลเข้าไปลงทุนทำกิจการต่างต้องปิดทำการชั่วคราว ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นหัวใจหลักของการท่องเที่ยวในหลายๆ ประเทศก็ต่างชะลอตัวลงหลังรัฐบาลจีนประกาศห้ามประชาชนในประเทศออกไปท่องเที่ยว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสที่รุนแรงไปมากกว่านี้

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในรูปแบบของ domino effect ซึ่งในส่วนของประเทศไทยซึ่งมีกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ที่การท่องเที่ยว และพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนอย่างเป็นด้านหลัก ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยทรุดหนักถึงขั้นวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสายการบิน หรือแม้กระทั่งสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่เคยมีนักท่องเที่ยวหนาแน่นต่างเงียบเหงาไร้ผู้คน และทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยทนพิษไม่ไหวจนถึงขนาดที่ต้องยอมถอยและปิดกิจการลง

กระนั้นก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วนต่างพยายามประคับประคองและปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอยู่เบื้องหน้า โดยธุรกิจสายการบินดูจะเป็นธุรกิจที่นอกจากจะได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวเพื่อรองรับกับวิกฤตครั้งนี้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดเงินเดือนของผู้บริหารการบินไทยลงร้อยละ 15-25 ควบคู่กับการปรับลดค่าพาหนะลงร้อยละ 20-30 เป็นระยะเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่ 1 มีนาคม 2653 เป็นต้นไป

เช่นเดียวกับแอร์เอเชียที่ประกาศลดเงินเดือนผู้บริหาร แต่ยืนยันไม่ปรับลดพนักงาน รวมทั้งขอความร่วมมือจากนักบิน วิศวกรซ่อมบำรุงอากาศยาน เเละพนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไปของแผนกต่างๆ สมัครใจใช้สิทธิ์ลางานอย่างน้อย 2-5 วันต่อเดือน โดยไม่รับค่าตอบเเทน ซึ่งมีผลตั้งเเต่มีนาคม-กันยายน 2563 หรือในกรณีของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่ประกาศปรับลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงลงร้อยละ 50 พร้อมยกเลิกการขึ้นเงินเดือน รวมทั้งปรับลดสวัสดิการของผู้บริหารและพนักงาน มีผล 1 มีนาคม 2563

ขณะที่ในกรณีของนกสกู๊ต-นกแอร์ ดูจะเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 ภายใต้แรงกดดันหนักหน่วง ก่อนที่จะประกาศเลิกจ้างนักบินแล้วรวมทั้งสิ้น 24 คน และทำการเลิกจ้างลูกเรืออีก 50 คน เป็นการตอบรับกับผลกระทบอุตสาหกรรมการบินที่ซบเซา จากปัญหา COVID-19 ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากรณีของสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ที่ประกาศให้พนักงานและลูกเรือสมัครใจการลาหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน โดยมีนักบินสมัครเข้าร่วมโครงการ 20 คน

นอกเหนือจากธุรกิจสายการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว ธุรกิจโรงแรมก็ดูจะอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ไม่ต่างกัน โดยโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ให้พนักงานสมัครใจใช้สิทธิ์การลาแบบไม่รับค่าจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1-31 มีนาคม 2563 เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท ขณะที่บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยอมรับรายได้ปี 2563 ไม่เติบโต หลังรับผลกระทบ COVID-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหดหาย พร้อมเตรียมปรับกลยุทธ์ดึงนักท่องเที่ยวในประเทศมาชดเชยแทน

แต่ผู้ประกอบการบางรายอย่าง โรงแรม วินด์เซอร์ สวีทส์ กรุงเทพ กลับเลือกที่จะประกาศปิดกิจการชั่วคราวนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงและรวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวมที่ถดถอย ทำให้ทางโรงแรมประสบปัญหาอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะสะท้อนความซบเซาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยืดเยื้อมาในช่วงก่อนหน้าไม่น้อยเช่นกัน

ธุรกิจศูนย์การค้า เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างไม่อาจเลี่ยง และทำให้ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ต้องออกมาชี้แจงหลังพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งเป็นผู้เช่าพื้นที่ ออกมาเรียกร้องให้ผู้บริหารออกมาตรการเยียวยา ด้วยการลดค่าเช่าลงร้อยละ 50 หรือยกเลิกเก็บค่าเช่าไปก่อนหลังรายได้หดหายไปจำนวนมาก โดยทางผู้บริหารกำลังอยู่ระหว่างการหาแนวทางการช่วยเหลือที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าภายในศูนย์ที่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่ศูนย์การค้า เดอะแพลตตินัม แฟชั่นมอลล์ ออกมาตรการช่วยเหลือร้านค้าผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยการลดค่าเช่าค่าบริการประมาณร้อยละ 10-35 ตามสัดส่วนพื้นที่และประเภทการเช่าเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2563 พร้อมกันนี้บริษัทยังมีมาตรการเพื่อส่งเสริมการขายแบบเร่งด่วนด้วยหวังว่าจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคจับจ่ายซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของการแพร่ระบาด COVID-19 ในห้วงเวลาปัจจุบันก็คือการแพร่ระบาดที่ขยายตัวไปมากกว่า 60 ประเทศ และมีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 1.4 แสนราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 อันดับแรกมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันสูงถึงกว่า 2 ใน 5 ของโลก ทำให้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยคาดการณ์ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกว่าจะมีผลกระทบผ่านห่วงโซ่อุปทานจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์หลายสถาบันคาดว่า COVID-19 จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจด้วยมูลค่าที่สูงกว่ากรณีของโรคซาร์สที่มีจุดกำเนิดที่จีนเช่นกัน โดยครั้งนั้นมีการประเมินว่าทำให้ GDP โลกลดลง 54,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.14 สำหรับผลกระทบครั้งนี้ รายงานของ UNCTAD (2020) ชี้ว่าดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของจีน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลงต่ำสุดตั้งแต่ปี 2547 และประเมินว่าจะสร้างความเสียหายต่อการส่งออกในห่วงโซ่อุปทาน 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีผลกระทบมากสุดในสหภาพยุโรป ด้วยมูลค่ารวมถึง 15,600 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่สหรัฐอเมริกาจะได้รับความเสียหายรองลงมาที่ระดับ 5,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น ที่ระดับ 5,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเกาหลี และเวียดนามจะได้รับผลกระทบความเสียหายในระดับ 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ โดยประเทศไทยติดอยู่ที่อันดับ 11 ด้วยมูลค่าความเสียหาย 700 ล้านเหรียญสหรัฐโดยอุตสาหกรรมผลิตยางและพลาสติก เครื่องมือเครื่องจักร เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์สื่อสาร ยานยนต์ ในไทยเป็นสาขาที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ผลของการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้รายรับการท่องเที่ยวโลกจะลดลง 63,000 ล้านเหรียญสหรัฐโดยเอเชียจะได้รับผลกระทบสูงสุด รองลงมาคือ ยุโรป ญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี ซึ่งล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวจีนขณะที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประเมินว่า จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และสูญเสียรายได้กว่า 2.5 แสนล้านบาท

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แม้สังคมไทยจะพยายามกล่อมตัวเองด้วยวลี “ในวิกฤตย่อมมีโอกาสและสร้างบทเรียนเสมอ” หากแต่ข้อเท็จจริงที่ดำเนินอยู่ดูเหมือนว่า COVID-19 จะเป็นประหนึ่งเชื้อฟืนที่ซ้ำเติมและสุมไฟให้เศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะทรุดต่ำต้องถูกหลอมละลายจนยากที่จะหลับมาฟื้นตัวแข็งแรงได้ในเร็ววัน

หวังเพียงแต่ว่าภายใต้มาตรการของรัฐในช่วงเวลานับจากนี้ จะช่วยระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 และสามารถดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่สร้างความเชื่อมั่นให้ฟื้นฟูกลับขึ้นมาได้อีกครั้งเท่านั้น

ใส่ความเห็น