วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > COVID-19 ระบาดใหม่ ฉุดท่องเที่ยวไทยดิ่งลงเหว

COVID-19 ระบาดใหม่ ฉุดท่องเที่ยวไทยดิ่งลงเหว

การอุบัติขึ้นของ COVID-19 ที่ไม่ว่าจะถูกกำหนดนิยามว่าเป็นการระบาดรอบสองหรือการระบาดครั้งใหม่กำลังส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการเดินทาง ที่คาดหมายว่าจะกลับมามีสีสันและบรรยากาศคึกคักในช่วงปลายปีนี้อย่างไม่อาจเลี่ยง

แม้ว่าการระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นจะได้รับการประเมินว่าไม่รุนแรง จากผลของระบบติดตามไต่สวนโรคที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเชื่อว่ามีประสิทธิภาพและจำกัดการแพร่ระบาดได้ดี แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อรายได้จากภาคธุรกิจและกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยว ที่ชะลอตัวกว่าที่เคยคาดหวังไว้เดิม โดยคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวและกิจกรรมจับจ่ายใช้สอยที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวช่วงปีใหม่สูญเสียไปไม่ต่ำกว่า 1.4-1.7 หมื่นล้านบาทในช่วงปลายปีนี้

ความกังวลใจต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการเดินทางและกิจกรรม “ไทยเที่ยวไทย” ที่เป็นความหวังหลักในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 และลุกลามไปถึงกิจกรรมช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ 2564 ซึ่งทำให้โรงแรมและรีสอร์ตทั่วประเทศได้รับผลกระทบเรื่องยอดจองห้องพักล่วงหน้า รวมถึงโอกาสการสร้างรายได้ในช่วงปีใหม่ที่ลดน้อยลง

ตัวเลขที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562-2563 ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ประมาณ 28,200 ล้านบาท ขณะที่สำนักวิจัยหลายแห่งมีผลสำรวจตรงกันว่า ชาวไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพลดงบประมาณใช้จ่ายช่วงปีใหม่ลงมาอย่างชัดเจน เฉพาะในกรุงเทพฯ จะมีเงินสะพัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ประมาณ 30,000 ล้านบาทต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะเฉพาะรายเมืองท่องเที่ยว พบว่าเมืองรองอย่างนครศรีธรรมราช น่าน และสุโขทัยที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมเดินทางไปเยือน รวมถึงโรงแรมในย่านนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี อาจได้รับผลกระทบในช่วงปีใหม่น้อยกว่าเมืองท่องเที่ยวหลักอื่นๆ ส่วนโรงแรมในบุรีรัมย์ซึ่งเป็นเมืองที่พึ่งพิงรายได้ท่องเที่ยวจากการจัดงานอีเวนต์เป็นหลัก คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบมากพอสมควร

สำหรับเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างกรุงเทพฯ และหาดใหญ่ สงขลา ซึ่งพึ่งพิงฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องเพราะยังไม่มีการเปิดประเทศ ซึ่งโรงแรมในกรุงเทพฯ ยังจำกัดความคึกคักอยู่เฉพาะเป็นบางโรงแรมเท่านั้น โดยยังมีโรงแรมอีกจำนวนมากที่ยังไม่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังจากวิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรมมาตั้งแต่ต้นปี 2563

นักท่องเที่ยวไทยที่อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดครั้งใหม่ที่เกิดขึ้น อาจหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยงอย่างสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นแหล่งแพร่ระบาดครั้งใหม่นี้ แต่บางส่วนยังต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนที่เพชรบุรีและหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ จึงต้องปรับแผนการเดินทางขับรถเลี่ยงไปอีกเส้นทางแทน หรือหลายรายอาจปรับแผนเดินทางไปยังจุดหมายระยะไกลที่ต้องนั่งเครื่องบินไปแทนในช่วงหยุดยาวปีใหม่นี้

ในรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุถึงข้อมูลติดตามสถานการณ์ฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทย (TAT Tourism Recovery Tracker) ซึ่งเผยแพร่ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ระบุว่าการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีจำนวนเดินทางเข้าไทย 1,201 คน ลดลงร้อยละ 99.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเมื่อเดือน พฤศจิกายนที่ผ่านมามีจำนวน 16 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.40 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.63 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

สถานการณ์ธุรกิจพักแรมเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีอัตราเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 37.56 ลดลงร้อยละ 32.77 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว และฟื้นตัวดีขึ้นร้อยละ 3.50 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่สถานการณ์การขนส่งทางอากาศ พบว่ามีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการจองบัตรโดยสารเครื่องบินมายังประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีจำนวน 9,597 คน ลดลงร้อยละ 99.01 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว แต่กระเตื้องดีขึ้นร้อยละ 6.15 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งอยู่ที่จำนวนที่นั่งของแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้าเดือนธันวาคมมีจำนวนรวมกว่า 9.4 แสนที่นั่ง ลดลงร้อยละ 81.41 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ถือว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 109.84 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในฐานะที่เป็นนักท่องเที่ยวที่พร้อมพำนักระยะยาว (long stay tourist) ขณะที่เมื่อพิจารณาเฉพาะแผนการบินภายในประเทศเดือนธันวาคมที่ผ่านมามีจำนวน 4.13 ล้านที่นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.89 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.15 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

สิ่งที่น่ากังวลจากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้อยู่ที่การตัดสินใจเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปเที่ยวด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมการจองห้องพักก่อนหน้าการเดินทางไม่นานนัก ลูกค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจไม่เดินทางได้ง่ายกว่ากลุ่มลูกค้าที่จองล่วงหน้า ซึ่งการประกาศงดกิจกรรมเคานต์ดาวน์ช่วงปีใหม่ในหลายพื้นที่เพื่อควบคุมโรค อาจทำให้ลูกค้าในกลุ่มนี้ชะลอการตัดสินใจ และรอคอยความชัดเจนของมาตรการรัฐ ซึ่งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2563 ที่มีวันหยุดยาวและกำลังจะมาถึงในปลายสัปดาห์หน้าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนว่ามีมากน้อยเพียงใด

แม้ว่าผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายจะประเมินผลกระทบว่าด้วยการเดินทางท่องเที่ยวที่จะมีขึ้นช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ว่าจะยังจำกัดอยู่เฉพาะบางจุดและเป็นผลกระทบในเชิงจิตวิทยาระยะสั้น กระนั้นก็ดี ท่าทีของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและความชัดเจนของมาตรการควบคุมและป้องปรามการแพร่ระบาดครั้งใหม่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และต้องมีความเข้มงวดจริงจังต่อการลับลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดนซึ่งทำให้ไม่สามารถคัดกรองหรือกักกันโรคได้

ประเด็นดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจปีหน้าและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจต่ำกว่าร้อยละ 4 ซึ่งจะยิ่งฉุดรั้งให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมไทยย่ำแย่ลงไปอีก เพราะการแพร่ระบาดระลอกสองอย่างรุนแรงในหลายประเทศซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยในช่วงปลายปีต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปีหน้าอีกด้วย

ปฏิกิริยาจากผู้เกี่ยวข้องภาครัฐต่อเหตุการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหม่ มีแนวโน้มและทิศทางที่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่ เพราะมาตรการที่ผลักดันมาก่อนหน้านี้ได้เริ่มไปแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ก็แน่ชัดว่าคงติดลบในระดับร้อยละ -7 ถึงร้อยละ -6 โดยหวังว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะกลับมาเติบโตแน่นอนจากฐานเศรษฐกิจที่ต่ำ จนอาจกล่าวได้ว่าอยู่ในจุดต่ำสุดและไม่ควรจะตกต่ำไปกว่านี้อีกแล้ว

กระนั้นก็ดี ข้อเท็จจริงที่สังคมไทยเผชิญอยู่ก็คือ ไทยและนานาประเทศยังต้องอยู่ร่วมกับ COVID-19 ต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนที่จะมีวัคซีนในช่วงกลางปีหน้า และเศรษฐกิจไทยจะยังคงขับเคลื่อนด้วยการบริโภคในประเทศ การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากภาครัฐ ความคาดหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจึงอาจล่วงไปสู่ปี 2565 ซึ่งต้องมีการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจริงในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ตามกระแสที่เกิดขึ้นในขณะนี้

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งใหม่จึงเป็นประหนึ่งบททดสอบมาตรการและข้อเท็จจริงในประสิทธิภาพของกลไกรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขีดความสามารถด้านการสาธารณสุขของไทยว่ามีศักยภาพในการระงับและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้ในระดับใด ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนโดยทั่วไปเพื่อให้กิจกรรมทางสังคมเศรษฐกิจไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติอีกครั้ง และกระตุ้นให้การเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่นี้เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความสุข มากกว่าความตระหนกหวาดกลัวดังที่กำลังดำเนินอยู่

ใส่ความเห็น