วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
Home > Cover Story > BRICS ขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลก และบทบาทที่ส่งผลต่อไทย

BRICS ขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลก และบทบาทที่ส่งผลต่อไทย

BRICS เป็นอักษรย่อของประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และ แอฟริกาใต้ (South Africa)

การรวมตัวของทั้ง 5 ประเทศนี้หากจะมองว่าเป็นการรวมตัวกันเพื่อสร้างขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลกก็คงไม่ผิดนัก หากพิจารณาจากหัวข้อการประชุมตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการจัดตั้งกลุ่มนี้ ต้องนับว่าเป็นการท้าทายและมีความพยายามที่จะสร้างอิทธิพลเพื่อถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

โดยหัวข้อการประชุมครั้งแรกๆ นั้นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลก การปฏิรูปสถาบันการเงิน การเรียกร้องให้มีการใช้สกุลเงินสำรองระหว่างประเทศสกุลใหม่แทนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดท่าทีร่วมกันที่จะปฏิรูป IMF และ World Bank

ศักยภาพของทั้ง 5 ประเทศนั้นไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเลย จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ เท่านั้น และยังเป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก รวมไปถึงการเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในขณะที่อิทธิพลบนเวทีโลกของจีนมีให้ประจักษ์มานักต่อนัก โดยเฉพาะปัจจุบันที่แม้สถานการณ์โรคระบาดยังไม่สิ้นสุด หลายประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่จีนกลับคงนโยบาย Zero Covid-19 กระนั้นเศรษฐกิจจีนก็ยังคงมีเสถียรภาพมากกว่าอีกหลายประเทศ

ขณะที่อินเดียนั้นมีข้อได้เปรียบในเรื่องพื้นที่ขนาดใหญ่ และอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศที่มีพัฒนาด้านการแพทย์ในระดับสูง ยังไม่นับเรื่องการมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยีอีกเป็นจำนวนมาก

รัสเซีย ประเทศที่กำลังตกเป็นเป้าสายตาจากประชาคมโลก จากการทำสงครามกับยูเครนในขณะนี้ เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ปัจจุบันมาตรการต่อต้านการคว่ำบาตรจาก NATO และอีกหลายชาติในยุโรปส่งผลให้เกิดวิกฤตพลังงานอยู่ในหลายประเทศ บางประเทศแม้จะประกาศกร้าวว่าจะไม่ซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ทว่า ในท้ายที่สุดกลับต้องยอมถอย เพื่อให้มีปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพียงพอสำหรับใช้ในประเทศตัวเอง

บราซิล เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ นั่นเพราะมีเหมืองแร่ ภาคการเกษตร และภาคบริการที่มีขนาดใหญ่ และแอฟริกาใต้ สมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มรายล่าสุด ซึ่งเข้ามาเป็นสมาชิกจากการผลักดันของจีนที่ต้องการให้แอฟริกาใต้เป็นประตูสู่ภูมิภาคแอฟริกา เป็นไปได้ว่าจีนมองเห็นศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจที่มีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะการเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของโลก

ด้านความสัมพันธ์ระหว่าง BRICS กับไทย จะมุ่งเน้นไปในด้านการค้าระหว่างประเทศกับสมาชิกของกลุ่ม ซึ่งไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งห้าประเทศ และส่งผลดีต่อมูลค่าการค้ารวม สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่ม BRICS เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์และส่วนประกอบ ข้าว อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์

รัฐบาลไทยสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่ม BRICS นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2552 และกรอบความร่วมมือทั้งทวิภาคีและพหุภาคีจะยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน แม้ว่าส่วนหนึ่งไทยจะมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศในกลุ่มนี้อยู่เป็นทุนเดิมแล้วก็ตาม

ในเวลานี้กรอบความร่วมมือระหว่างไทยกับกลุ่ม BRICS จะชัดเจนและมีเสถียรภาพมากขึ้น ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาของโลก กรอบความร่วมมือ BRICS Plus (BRICS Plus High-Level Dialogue on Global Development) ครั้งที่ 14 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อหลัก “สร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในศักราชใหม่เพื่อร่วมอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030”

  • โดยมีผู้นำประเทศที่เข้าร่วมจำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ ผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS 5 ประเทศ และผู้นำประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา 13 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย อาร์เจนตินา อียิปต์ อินโดนีเซีย คาซัคสถาน เซเนกัล อิหร่าน อุซเบกิสถาน กัมพูชา เอธิโอเปีย ฟิจิ มาเลเซีย และไทย ทั้งนี้ไทยได้รับเชิญในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก 2565

ในช่วงแรก นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะประธานการประชุมกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการร่วมมือกันรับมือความท้าทายต่อความมั่นคงแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่ เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมส่งเสริมการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลโลก กระชับความร่วมมือในสาขาสำคัญตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ตลอดจนรักษาระบบพหุภาคีนิยม สร้างความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาอย่างมีเอกภาพ เสมอภาค สมดุลและครอบคลุม ประธานาธิบดีจีนเชื่อว่าการพัฒนาจะเกิดเสถียรภาพทางสังคม เราต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจ มีความมุ่งมั่นเพื่อการพัฒนา ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่มีความเป็นธรรม เช่น นวัตกรรมดิจิทัล เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำโดยต้องสร้างหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาร่วมกันเป็นประโยชน์แก่ทุกคน

ถ้อยแถลงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อการประชุมครั้งนี้ระบุว่า ได้แบ่งออกเป็น 3 แนวคิดที่จะช่วยให้สามารถร่วมมืออย่างสร้างสรรค์เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ที่ตั้งอยู่บนกฎกติกา และเคารพหลักธรรมาภิบาล

1. การพลิกฟื้นระบบพหุภาคีให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายอุบัติใหม่ในปัจจุบันและอนาคต ทุกประเทศต้องหลีกเลี่ยงการจำกัดการส่งออกอาหารที่ไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเคลื่อนย้ายขนส่งอาหารและสินค้าจำเป็นอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหา ซึ่งต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานและเชื่อมโยงกันในทุกมิติ โดยไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกลุ่มประเทศ BRICS ผ่านกลไก ACMECS อาเซียนและข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง เพื่อสัดส่วนการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต และเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล คมนาคม และพลังงานข้ามพรมแดน

2. ระบบพหุภาคีต้องมีความสมดุลในทุกมิติ ร่วมมือกันผลักดันให้มีการปฏิรูประบบพหุภาคีและปรับกระบวนทัศน์ใหม่ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระดับโลกในการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยไทยมุ่งผลักดันการเจริญเติบโตหลังโควิด-19 สู่สมดุลมากขึ้น ปรับความคิดและพฤติกรรมดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ เปลี่ยนของเสียให้เป็นทรัพยากรและลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ สะท้อนว่า การที่ไทยหันเข้าหาโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวสู่ “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและครอบคลุม มีองค์ประกอบร่วมกันกับข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลกของจีนในหลายแง่มุม ทั้งไทยและจีนล้วนมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองที่มีคนเป็นศูนย์กลาง รับมือกับความเหลื่อมล้ำ และรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

3. ระบบพหุภาคีจำเป็นต้องสร้างระบบธรรมาภิบาลเศรษฐกิจโลกที่เป็นธรรมไม่แตกแยก และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเศรษฐกิจโลกกำลังเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤตหนี้สาธารณะ ดังนั้นไทยจึงขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคมากขึ้น พร้อมชื่นชมกลุ่ม BRICS ที่มีบทบาทจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประเทศกำลังพัฒนา ขณะเดียวกันวิกฤตนี้เป็นโอกาสให้ทบทวนว่า จะพึ่งพาตนเองมากขึ้นได้อย่างไรในอนาคต

เมื่อพิจารณาจากถ้อยแถลงและแนวคิดของพลเอกประยุทธ์ ดูเหมือนว่าไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับกลุ่ม BRICS พร้อมให้การสนับสนุนนโยบายที่เอื้ออำนวยให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้น่าจะช่วยปูทางและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของไทยได้เฉิดฉายบนเวทีการค้าโลกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศที่ไทยยังไม่สามารถเปิดตลาดใหม่ หรือเพื่อการขยายโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศใหม่ๆ ในอนาคต

ซึ่งที่ผ่านมามูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศในกลุ่ม BRICS นั้นดำเนินไปด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน ที่ไทยสามารถสร้างมูลค่าการค้าได้อย่างมหาศาล แต่นั่นอาจยังไม่เพียงพอ เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินบาทอ่อนส่งผลเสียต่อธุรกิจนำเข้า นักลงทุน รวมไปถึงผู้ที่มีหนี้กับต่างประเทศ ในขณะที่ประชาชนจะซื้อสินค้าและบริการต่างประเทศในราคาที่สูงขึ้น ทว่า การอ่อนตัวของค่าเงินบาทจะส่งผลดีต่อธุรกิจส่งออก

ในเวลานี้การที่รัฐไทยไขว่คว้าโอกาสที่จะเดินหน้าเครื่องจักรทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออก ให้สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศให้มากขึ้นก็คงไม่ผิดนัก

อย่างไรก็ตาม การแสดงเจตจำนงที่จะร่วมมือกับกลุ่ม BRICS ยังมีข้อที่ควรระวังคือ กลุ่มประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ชาติยุโรป อาจมีท่าทีไม่พอใจ ซึ่งรัฐไทยควรหาจุดกึ่งกลางในการดำเนินกิจการความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อปัดป้องปัญหาที่อาจจะตามมาในอนาคต

กรอบความร่วมมือใดๆ กับนานาอารยประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน คงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายคาดหวังให้มีอย่างต่อเนื่อง ทว่า หากมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ในอนาคตและผู้บริหารประเทศไม่ใช่คนหน้าเดิม อาจมีเรื่องให้ต้องระวังว่า ความร่วมมือในคราวต่อๆ ไป อาจเป็นไปด้วยเกมการเมืองที่แอบแฝงมาในคราบของความร่วมมือในระดับสากล ที่หวังผลทางการเมืองมากกว่าจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ.

ใส่ความเห็น