วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > BOI ดิ้นเฮือกใหญ่ หวังดึง FDI ลงทุนในไทย

BOI ดิ้นเฮือกใหญ่ หวังดึง FDI ลงทุนในไทย

ความซบเซาทางเศรษฐกิจทั้งในระดับนานาชาติและของไทย ที่ทำให้ภาวะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ -30 ถึงร้อยละ -40 กำลังส่งผลลบต่อสภาพการลงทุนในประเทศไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อย่างหนัก จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ต้องเร่งระดมสรรพกำลังเพื่อกระตุ้นการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ลดต่ำลงสามารถพิจารณาได้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ระบุว่าในปี 2562 มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขอรับการส่งเสริมรวม 991โครงการ ปริมาณเงินลงทุน 506,230 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 876 โครงการ เงินลงทุน 281,873 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 มี FDI ขอรับการส่งเสริมรวม 459 โครงการ เงินลงทุน 75,902 ล้านบาท ซึ่งแม้จะมีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 แต่มูลค่าเงินลงทุนกลับลดลงถึงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ BOI ต้องเร่งปรับแผนเพื่อดึงการลงทุน ในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้

มูลเหตุหลักที่ทำให้มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน FDI ลดน้อยลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ในด้านหนึ่งอาจเป็นผลจากสถานการณ์ COVID-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และทำให้การเดินทางข้ามประเทศเพื่อติดต่อธุรกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก นักลงทุนต่างชาติที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมในช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมและได้ศึกษาลู่ทางและเตรียมแผนการลงทุนไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือเป็นกรณีการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรายเดิม หรือเป็นโครงการที่ร่วมทุนกับฝ่ายไทย

ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงและการลงทุนที่หดหายทำให้ BOI เปิดตัวโครงการประชาสัมพันธ์ใหม่ในชื่อว่า “Think Resilience, Think Thailand” เพื่อสื่อสาร และตอกยํ้าว่าไทยเป็นประเทศที่มีคุณสมบัติพิเศษเหมาะสมกับการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนระยะยาวที่ดีที่สุดของภูมิภาค โดยหวังที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยให้มากขึ้น หลังจากที่การลงทุนหลักซึ่งมีสัดส่วนมากถึงกว่าร้อยละ 80 ของเม็ดเงิน FDI ที่มีมาจากประเทศในเอเชียทั้งหมด โดยนักลงทุนรายสำคัญยังคงเป็นญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และอินเดีย

ความเคลื่อนไหวของ BOI สอดรับกับความกังวลใจเรื่องการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนามและเมียนมา ที่มีความได้เปรียบประเทศไทยในเรื่องแรงงานราคาถูก และการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ด้านการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในกรณีของเวียดนาม ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตเข้าไปเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากมีพรมแดนติดกับจีน และกำลังอยู่ระหว่างการ upgrade อุตสาหกรรมจากกลางน้ำไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปปลายน้ำมากขึ้น

ความน่าสนใจในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศในห้วงเวลาปัจจุบันอยู่ที่ประเทศไทยเสียเปรียบเวียดนามมากขึ้นทุกขณะ โดยเวียดนามมีความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่สัญญารวมถึง 53 ประเทศ ขณะที่ไทยมีข้อตกลงกับประเทศต่างๆ รวม 18 ประเทศ แรงงานเวียดนามมีมากกว่าและค่าจ้างตํ่ากว่าไทย มีการแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ให้ทำธุรกิจได้ง่าย ทำให้ทุน FDI เข้าไปลงทุนในเวียดนามช่วง 5 เดือนแรกปีนี้กว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจ (GDP) เวียดนามปีนี้ขยายตัวได้ร้อยละ 4.5- 5 และการส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 5 จากที่ในปี 2562 ส่งออกได้รวม 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประเด็นที่น่าสนใจในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็คือข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนามกับสหภาพยุโรปมีผลบังคับใช้แล้ว โดยเวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับสองของ EU ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ มีมูลค่าทางการค้าระหว่างกันเมื่อปี 2562 รวมเป็นเงินถึง 45,500 ล้านยูโร สินค้าส่งออกหลักของ EU ประกอบด้วยสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และเวชภัณฑ์ ขณะที่สินค้านำเข้าหลักจากเวียดนาม เป็นสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า เสื้อผ้าและสิ่งทอ กาแฟ ข้าว อาหารทะเล และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนามกับสหภาพยุโรปนี้ทำให้การส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรปอยู่ในภาวะยากลำบากยิ่งขึ้นไปด้วยและหากไม่มีการปรับตัวคาดว่าในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีสินค้าส่งออกของไทยไปยังตลาดยุโรปอาจถูกแทนที่ด้วยสินค้าจากเวียดนามอย่างสมบูรณ์

ข้อเท็จจริงที่กำลังจะเป็นเรื่องน่ากังวลใจในกรณีของประเทศไทยในปัจจุบันก็คือ จุดขายเพื่อดึงดูดการลงทุนของไทยในเวลานี้มีเพียง EEC ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งผลักดันต่อและขยายการลงทุนไปในเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งสนามบิน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือนํ้าลึก และอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นจริงแน่

ขณะเดียวกันเป็นที่คาดการณ์ว่าการย้ายฐานการลงทุนของผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาในไทยหลัง COVID-19 จะมีผู้ประกอบการจากจีนเข้ามาลงทุนในผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะถุงมือยาง เพราะไทยมีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบน้ำยางข้นที่มีจำนวนมาก ส่วนผู้ประกอบการญี่ปุ่น มีแผนจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ เครื่องมือทางการแพทย์ หลังจากที่ไทยได้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับนักลงทุนในด้านการบริหารจัดการปัญหา COVID-19

ทั้งนี้สถานการณ์การลงทุนในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคือตั้งแต่ปี 2558-2562 พบว่ามูลค่าการลงทุนของจีน ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งมีมูลค่า 261,706 ล้านบาท โดยจีนลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อสำหรับยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กิจการโรงแรม อาหารแปรรูป มากที่สุด โดยในปี 2562 มูลค่าการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.8 รองลงมาเป็นญี่ปุ่น 73,102 ล้านบาท ฮ่องกง 36,314 ล้านบาท สวิตเซอร์แลนด์ 23,823 ล้านบาท ไต้หวัน 20,087 ล้านบาท และสิงคโปร์ 12,101 ล้านบาท

ประเด็นที่น่าสนใจจากการลงทุนของผู้ประกอบจากจีนก็คือ ช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นฐานส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่ดี หากแต่ต้องระวังว่าจะส่งผลในอนาคตให้ตัวเลขในหลายรายสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกาอาจเพิ่มมากขึ้นผิดสังเกต จากสินค้าจีนที่มาใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออก และขายราคาถูก

รวมถึงสินค้าจีนอาจมาใช้เทคนิค Transshipment ด้วยการนำสินค้ามาพักที่ไทยแล้วเปลี่ยนกล่อง เปลี่ยนฉลาก และทำเอกสารใหม่ว่าเป็นสินค้าจากไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเลี่ยงภาษีสูง จากสินค้าจีนที่ถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีจากสงครามการค้า อาจทำให้สินค้าส่งออกจากไทยโดนสหรัฐอเมริกาเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) ได้ ซึ่งล่าสุดเกิดขึ้นแล้วในกรณีของสินค้ายางรถยนต์ที่สหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการกับไทย

การดิ้นรนเพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ FDI ในห้วงยามที่ประเทศไทยไม่ได้มีแต้มต่อหรือความน่าสนใจในมิติของข้อได้เปรียบดังเช่นที่เคยมีในอดีต และยังซ้ำเติมด้วยการล่มสลายหายไปของผู้ประกอบการ SMEs ที่เคยเป็นฟันเฟืองหมุนวนอยู่ในวงรอบของกระบวนการผลิต จากผลของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาด COVID-19 ดูจะยิ่งทำให้สถานการณ์การลงทุนในประเทศไทยอยู่ในสภาพที่มัวหมองอย่างยิ่ง

บางทีกรณีว่าด้วยการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ การพัฒนาพื้นที่ EEC การเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน การยกระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยอาจไม่สามารถประเมินอย่างแยกส่วน หากแต่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์และการกำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริงมากกว่าการวาดฝันไว้ในอากาศดังที่ผ่านมา

ใส่ความเห็น