วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > BJC จัดหนัก ปรับทัพค้าปลีก ลุยแม็กเน็ตใหม่หนุน “บิ๊กซี”

BJC จัดหนัก ปรับทัพค้าปลีก ลุยแม็กเน็ตใหม่หนุน “บิ๊กซี”

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เตรียมประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2560 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเหล่ากูรูนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายสถาบันต่างคาดการณ์ผลกำไรจะเติบโตสูงมาก บางสถาบันประเมินกำไรปกติอยู่ที่ 1,356 ล้านบาท หรือพุ่งพรวดกว่า 200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ตามอานิสงส์รายได้ที่กลับมาโตทุกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์”

ที่สำคัญ ธุรกิจค้าปลีกกลายเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลักให้บีเจซี โดยโครงสร้างรายได้เมื่อปี 2559 จากยอดรวม 125,330 ล้านบาท มาจากบิ๊กซีและธุรกิจร้านหนังสือ “เอเชียบุ๊คส” ถึง 65% ตามด้วยกลุ่มธุรกิจด้านการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกแข็ง 15%

ส่วนกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค สัดส่วนราว 13% ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เติบโตตามธุรกิจค้าปลีก มีทั้งสินค้ากลุ่มอาหาร เช่น กลุ่มขนมขบเคี้ยว ได้แก่ มันฝรั่งทอดกรอบเทสโต ปาร์ตี้ แคมปัส และโดโซะ กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ แคมปัส ช็อคโกดริ้ง โยเกิร์ตแอคทีเวีย นมเปรี้ยวผสมวุ้นมะพร้าวแดนอัพ

กลุ่มเครื่องใช้ส่วนตัว ได้แก่ สบู่ตรานกแก้ว parrot natural guard และเครื่องใช้ส่วนตัวสำหรับผู้ชายตราโพรมิส เครื่องสำอางเบอร์ลี่ ป๊อบส์ พรีเมดิกา และหิมาลายา ผลิตภัณฑ์เด็กเดอร์มาพอน กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน ได้แก่ กระดาษทิชชูตรา เซลล็อกซ์ ซิลค์ แม๊กซ์โม่ เบลล์ และบีเจซี ไฮจีนิสท์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ต่างๆ เช่น สาหร่ายทอดกรอบโอโนริ อมยิ้มดูรูแคน น้ำผลไม้กาโตะ ชาพร้อมดื่ม ที-เบรค นมยูเอชทีจิตรลดา เครื่องดื่มรสโกโก้ ดัทช์ ผลไม้โดล

ที่เหลืออีก 7% มาจากกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์และธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งบีเจซีกำลังเร่งขยายเครือข่ายทั้งการลงทุนฐานการผลิต โลจิสติกส์ และธุรกิจค้าปลีก เพื่อส่งต่อสินค้าทุกชิ้นสู่กลุ่มผู้บริโภคทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนและขยายสู่ตลาดต่างประเทศอย่างกว้างขวางมากขึ้น

แน่นอนว่า ความพยายามเร่งขยายฐานธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจค้าปลีกให้บีเจซีถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่และเป็นเป้าหมายของเจริญ สิริวัฒนภักดี นับตั้งแต่วันแรกที่ทุ่มเม็ดเงินลงทุนกวาดหุ้นบีเจซีเมื่อปี 2544 เรียกได้ว่าช่วงระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา บีเจซีภายใต้อาณาจักรทีซีซีกรุ๊ป เดินหน้าซื้อกิจการและเร่งเติบโตแบบก้าวกระโดด

เริ่มจากปี 2550 ประกาศซื้อหุ้น 50% ในบริษัท ไทย เบเวอร์เรจแคน จำกัด ผู้ผลิตกระป๋องและฝาอะลูมิเนียมในประเทศไทย

ปี 2551 ซื้อกิจการบริษัท เจซีฟู้ดส์เอสดีเอน บีเอชดี ผู้ผลิตมันฝรั่งทอดกรอบและขนมขึ้นรูปในประเทศมาเลเซีย โดยผลิตและจำหน่ายมันฝรั่งทอดกรอบจำหน่ายทั้งในมาเลเซียและส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย

ปี 2553 บีเจซีร่วมหุ้นกับโอเว่น อิลลินอยส์ เข้าซื้อบริษัทไทย มาลายากลาส จำกัด ผู้ผลิตแก้วเพื่อส่งออกให้เอฟแอนด์เอ็น รวมถึงโรงงานในประเทศจีน เวียดนาม และประเทศไทย กลายเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกัน จัดตั้งบริษัท ไทยคอร์ป อินเตอร์เนชั่นแนล (ฮ่องกง) และบริษัท ไทยคอร์ป อินเตอร์เนชั่นแนล (เวียดนาม) ดำเนินธุรกิจนำเข้า ส่งออก และค้าปลีกสินค้าในเครือ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยในตลาดเวียดนาม

ปี 2554 ซื้อกิจการเอเซียบุ๊คส รุกธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายหนังสือภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปี 2556 ซื้อหุ้นของไทอัน เวียดนาม จอยส์สต๊อก คัมปะนี (“ไทอัน”) และร่วมลงทุนกับพันธมิตรในลาวจัดตั้งบริษัท บีเจซี-เอ็มพ็อยท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก พร้อมกับขยายกิจการในประเทศไทย เปิดร้านค้าปลีกเพื่อสุขภาพและความงาม “โอเกนกิ”

ปี 2557 บีเจซีตัดสินใจตั้งบริษัท บีเจซี อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง พีทีอีแอลทีดีจำกัด (BJIH) ในสิงคโปร์ และบริษัท บีเจซี คอมเมิร์ซ จำกัด ลุยขยายงานด้านการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ล่าสุดมี 3 เว็บไซต์ คือ www.voltztore.com, www.asiabooks.com และ www.ogenkistore.com จนปี 2559 เจริญสามารถฮุบดีลใหญ่ ทุ่มเม็ดเงิน 2 แสนล้านบาท ซื้อกิจการบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ในไทย

ณ เวลานี้ “บิ๊กซี” จึงถือเป็นฐานธุรกิจใหญ่และเป็นประตูต่อยอดธุรกิจทั้งหมดของบีเจซี ซึ่งในช่วงแรกก่อนการซื้อกิจการบิ๊กซี ในจังหวะที่ยังไม่เปิดโอกาสให้รุกสงครามค้าปลีกในไทยอย่างเต็มตัว บีเจซีพุ่งเป้าเร่งสร้างฐานธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มอาเซียน โดยปักหมุดหลักแรกในประเทศเวียดนาม เปิดห้างไฮเปอร์มาร์เกต เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อบีสมาร์ท แล้วเชื่อมต่อไปยังประเทศลาว สร้างธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เอ็มพ้อยท์ มาร์ท

แต่ทันทีที่บีเจซีฮุบ “บิ๊กซี” เข้ามาอยู่ในเครือ แผนสร้างอาณาจักรธุรกิจค้าปลีกเปิดโอกาสกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างร้านค้าปลีกกลุ่ม “สเปเชียลตี้สโตร์” (Specialty Store) เพื่อเติบโตไปพร้อมกับสาขาต่างๆ ของบิ๊กซี

บทเรียนที่เห็นได้ชัดเจน กรณีร้านสุขภาพโอเกนกิ ซึ่งบีเจซีพยายามสร้างรูปแบบดรักสโตร์ “Japanese Modern” เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีสินค้าทั่วไป สินค้าเวชภัณฑ์ในเครือบีเจซี และสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ พร้อมจัดเตรียมเภสัชกรและมุมตรวจสุขภาพ รวมทั้งเน้นบริการแบบ “One Stop Service” เพื่อเจาะลูกค้าระดับ A-B แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่ยึดครองตลาด ไม่ว่าจะเป็นวัตสันหรือบู๊ทส์ ทำให้ร้านโอเกนกิไม่ต่างจากคู่แข่งและยังเจอปัญหาการหาทำเลที่มีศักยภาพ ทำให้การขยายสาขาไม่บรรลุเป้าหมาย ทั้งที่อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เคยหมายมั่นจะปูพรมสาขามากถึง 20 แห่งในปีเดียว แต่ปรากฏว่า 4 ปีที่ผ่านมา โอเกนกิมีสาขาเพียง 4 แห่ง

ล่าสุด บีเจซีเตรียมปรับเปลี่ยนโอเกนกิทั้ง 4 สาขาเป็นร้านเพรียว ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ-ความงามในกลุ่มบิ๊กซี ปัจจุบันมีกว่า 149 สาขา เพื่อสร้างเชนดรักสโตร์ที่มีเครือข่ายต่อสู้กับคู่แข่งได้

นอกเหนือจาก “เพรียว” บีเจซีกำลังซุ่มรุกธุรกิจร้านกาแฟ “ปากซอง” เพื่อเป็นแม็กเน็ตชิ้นใหม่ของบิ๊กซี โดยเปิดสาขาต้นแบบที่อาคารสำนักงานของบีเจซี และเริ่มขยายไปยังบิ๊กซีสาขาต่างๆ เช่น บิ๊กซีสาขาโคราช สาขาปทุมธานี และมินิบิ๊กซีสาขาสุรวงศ์ รองรับมินิบิ๊กซีโมเดลใหม่ ที่เรียกว่า “นิว บลูพริ้นต์” ซึ่งจะปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านให้ทันสมัย สีสันสดใส เพิ่มมินิบาร์ เคาน์เตอร์บริการเครื่องดื่ม-กาแฟ มีแบรนด์สินค้าหลากหลาย และเพิ่มเอ็กซ์คลูซีฟแบรนด์ รวมทั้งนำร้านค้าปลีกในเครือทั้งร้านเพรียว ร้านกาแฟปากซอง ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คสมาเปิดในพื้นที่เดียวกัน เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น

การปรับทัพค้าปลีกครั้งใหม่ของบีเจซี โดยมี “บิ๊กซี” เป็นตัวนำกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่สำคัญปลุกสมรภูมิค้าปลีกที่รุนแรงอยู่แล้วให้ร้อนเดือดมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า!!

 

ใส่ความเห็น