วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > 6 ทศวรรษ อาณาจักร “กระทิงแดง”

6 ทศวรรษ อาณาจักร “กระทิงแดง”

อาณาจักรธุรกิจแสนล้านของตระกูลอยู่วิทยา เริ่มต้นเมื่อ 60 กว่าปีก่อน เมื่อ “เฉลียว อยู่วิทยา” เซลล์ขายยาตัดสินใจตั้งบริษัทขายยา หจก. ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2499 โดยเช่าตึกในซอยรามบุตรี ถนนข้าวสาร เป็นที่ตั้งบริษัท และคิดค้นสูตรยาให้โรงงานผลิตยาในประเทศเยอรมนีเป็นผู้ผลิต เช่น เอ็นโดทาลีน (แก้ท้องเสีย) อลูแม็ก (แก้ปวดท้อง)

ต่อมา เฉลียวตั้งโรงงานผลิตยาที่ตรอกสาเก หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ ชื่อ บริษัท ที.ซี.มัยซิน อุตสาหกรรม จำกัด และพัฒนายาตัวใหม่ วางขายภายใต้ชื่อ “ทีซี มัยซิน” ทั้งยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ ยาแก้ฝีหนอง ยาหยอดหู ยาหยอดตา

เข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ช่วงปี 2511-2520 หจก.ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล ย้ายโรงงานผลิตยาจากตรอกสาเก มาตั้งที่ถนนเอกชัย เขตบางบอน และเริ่มขยายกลุ่มสินค้าจาก “ยา” สู่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอื่นๆ โดยเริ่มต้นสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางยี่ห้อ “แท็ตทู” และคิดค้นพัฒนาสูตรสินค้าประเภทเครื่องดื่มชูกำลังในชื่อ “ทีโอเปล็กซ์-ดีไซรัพ” (100 CC) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “กระทิงแดงคู่” ทำให้ผู้บริโภคเรียกขานกันติดปากว่า “เครื่องดื่มกระทิงแดง” และเกิด “เครื่องดื่มกระทิงแดง” (1500 CC) ในเวลาต่อมา

เฉลียวใช้กลยุทธ์การตลาดแบบถึงลูกถึงคนผ่านแคมเปญ “กระทิงแดง ซู่ซ่า ซู่ซ่า” ทั้งลด แลก แจกแถม มีกิจกรรมรับแลกฝา แลกเสื้อกระทิงแดง กระทิงแดงเม็ด สบู่ แฟ๊บ ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกของประเทศไทย ที่คิดและทำกิจกรรมในรูปแบบนี้ รวมทั้งการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ จนกระทิงแดงติดตลาดอย่างรวดเร็ว

จากความสำเร็จของ “เครื่องดื่มกระทิงแดง” ในประเทศไทย ทำให้เจ้าพ่อชูกำลังเห็นโอกาสเจาะตลาดต่างประเทศและเริ่มนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย ทั้งในตลาดเอเชียและยุโรป

ปี 2521 เริ่มต้นทศวรรษที่ 3 เฉลียวตั้งบริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด เพื่อผลิตและส่งออกสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มส่งออกครั้งแรกไปยังประเทศสิงคโปร์ ภายใต้ยี่ห้อ “เรดบูล (Red Bull)” ต่อมาจับมือกับนายดีทริช เมเทสซิทซ์ (Dietrich Mateschitz) นักธุรกิจชาวออสเตรีย ตั้งบริษัท เรดบูล จีเอ็มบีเอช (Red Bull GmbH) ในประเทศออสเตรีย (เฉลียวและครอบครัวถือหุ้น 51% ดีทริช 49%) วางจำหน่าย “เรดบลู” ในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก

ขณะเดียวกัน บริษัทยังพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่พร้อมดื่มภายใต้เครื่องหมายการค้า “สปอนเซอร์” ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของประเทศไทยในยุคนั้น ที่ไม่ต้องนำเกลือแร่แบบซองมาผสมน้ำ

ปี 2531 เข้าสู่ทศวรรษที่ 4 เฉลียวเร่งเดินหน้าบุกตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทย โดยจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด เพื่อจัดจำหน่ายและทำการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ

ปี 2539 ตั้งบริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด นำนวัตกรรมตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ จากประเทศญี่ปุ่นมาติดตั้งตามโรงงานอุตสาหกรรม

ปี 2541 ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ และการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น จากเขตบางบอน กรุงเทพฯ ไปยังอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี พื้นที่มากกว่า 2,000 ไร่

ช่วงระหว่างปี 2541-2550 ถือเป็นทศวรรษที่ 5 ที่ “กระทิงแดง” รุกขยายตลาดเครื่องดื่มอย่างกว้างขวาง มีสินค้ามากขึ้น จนต้องเปิดตัวบริษัท เดอเบล จำกัด เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าแบบครบวงจร

ปี 2555-2560 ช่วงเปลี่ยนผ่านขบวนการต่างๆ จากยุคเจเนอเรชั่น 1 สู่เจน 2 ที่มีพี่น้อง 2 แม่ รวมกัน 11 คน จากเดิม เฉลิม อยู่วิทยา ลูกชายคนโตของเฉลียวกับภรรยาคนแรก นางนกเล็ก สดศรี เป็นประธานบริษัท เรดบูล คอมปานี ลิมิเต็ดฯ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดูแลตลาดในภาคพื้นยุโรป เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยาม ไวเนอรี่ จำกัด และอีกกว่า 20 บริษัทในเครือ ขณะที่ทายาทคนอื่นๆ ดูแลธุรกิจต่างๆ ในเครือ

ส่วนสราวุฒิ อยู่วิทยา ลูกชายของเฉลียวกับภรรยาคนที่สอง ภาวนา หลั่งธารา รั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจกระทิงแดง เน้นเจาะตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยมีทายาทคนอื่นๆ กระจายดูแลธุรกิจต่างๆ ในเครือ

แต่เมื่อจังหวะเวลาบวกกับการแข่งขันในสงครามธุรกิจเครื่องดื่ม กลุ่มกระทิงแดงไม่ได้ต้องการเติบโตเฉพาะเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง” จึงมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ภายใต้ชื่อใหม่ “TCP” เพื่อผลักดันทุกแบรนด์ในเครือทั้ง 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ กลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงาน ได้แก่ กระทิงแดง กระทิงแดง G2 และกระทิงแดง G3 เรดบูลเอ็กซ์ตร้า และเรดดี้

กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ ได้แก่ สปอนเซอร์ และไลฟ์บายสปอนเซอร์

กลุ่มเครื่องดื่มฟังชันนัล ได้แก่ แมนซั่ม และแมนซั่มฟรุตโซดา

กลุ่มชาพร้อมดื่มและน้ำผลไม้ ได้แก่ เพียวริคุ และริคุ

กลุ่มผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวัน ได้แก่ ซันสแนค และซันสแนคแซ่บ

กลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นรส (Flavor) หรือหัวเชื้อผลิตเครื่องดื่มเรดบูลและกระทิงแดงที่มีจำหน่ายทั่วโลก

ปี 2560 กลุ่มธุรกิจกระทิงแดงเปิดแถลงข่าวใหญ่หลังสิ้น “เฉลียว อยู่วิทยา” เจ้าพ่อธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง” กว่า 5 ปี (เสียชีวิต 17 มีนาคม 2555) เปิดโครงสร้างใหม่ในยุคเจนใหม่ โดย สราวุฒิ อยู่วิทยา ก้าวขึ้นมานั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีนางภาวนาเป็นประธานบริษัท และลูกๆ ทั้ง 6 คนถือหุ้น คือ สุทธิรัตน์ จิรวัฒน์ ปนัดดา สุปรียา สราวุฒิ และนุชรี โดยดึง 4 บริษัทเข้ามาบริหาร

ประกอบด้วย บริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตสินค้าเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว (สแน็ก) ของกลุ่ม, บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด รับผิดชอบการทำตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม, บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด เจ้าของและบริหารจัดการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติสำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ และบริษัท เดอเบล จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม และรับจ้างจัดจำหน่ายให้แบรนด์อื่นๆ

บริษัทวางแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2561-2565) ใช้เม็ดเงินรวม 10,000 ล้านบาท ใน 3 ส่วน คือ การลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มชูกำลังแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า ขยายพอร์ตโฟลิโอสินค้าเครื่องดื่มกว้างขวางและหลากหลาย เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัยมากขึ้น รวมทั้งวางแผนเปิดสำนักงานแห่งใหม่ หรือโรงงานแห่งใหม่ในประเทศต่างๆ อย่างน้อยปีละ 1 แห่งใน 1 ประเทศ เพื่อทำให้กลุ่มธุรกิจ TCP เป็น House of Brand ผลิตสินค้าและสร้างแบรนด์ที่ทรงพลัง การมีสำนักงานในประเทศต่างๆ จะช่วยให้เข้าใจความต้องการ ความชอบ และพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศดียิ่งขึ้น

ตามแผนทั้งหมด สราวุฒิตั้งเป้าผลักดันสินค้าทุกแบรนด์เติบโต เพื่อเร่งสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปต่างประเทศเพิ่มเป็น 80% หรือประมาณ 80,000 ล้านบาท และสร้างตลาดในประเทศ รักษาระดับยอดขายอยู่ที่ 40% โดยสินค้าส่งออกมีทั้งกระทิงแดง แมนซั่ม และสปอนเซอร์ ซึ่ง 2 รายการหลังสัดส่วนยังน้อยมากเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มชูกำลัง

เฉลียว อยู่วิทยา (ที่มา: www.tcp.com)

 

ใส่ความเห็น