วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > 50 ปี ASEAN กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว

50 ปี ASEAN กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว

ปี 2560 ดูจะเป็นปีที่มีความสำคัญไม่น้อยสำหรับสมาคมประชาชาติอาเซียน (ASEAN) เพราะนอกจากจะเป็นปีแห่งการครบรอบการสถาปนา ASEAN ครบ 50 ปีแล้ว การดำรงอยู่ของอาเซียนในบริบทของเศรษฐกิจการเมืองสังคมโลกในปัจจุบัน ยังอยู่ในภาวะที่ท้าทายจังหวะก้าวในอนาคตไม่น้อยเลย

ภายใต้แนวความคิดการรวมกลุ่มประเทศในภูมิภาค หรือ Regional Integration ที่กำลังถูกท้าทายจากกรณีการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ในนาม BREXIT ที่ส่งแรงกระเทือนไปสู่การรวมกลุ่มความร่วมมือในภูมิภาคอื่นๆ ASEAN ที่พยายามชู “ความหลากหลายที่หลอมรวม” ก็อยู่ในสภาพที่ถูกตั้งคำถามให้ได้พิจารณาเช่นกัน

แม้ ASEAN จะเกิดมีขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศอันเนื่องมาจากความแตกต่างในยุคสมัยแห่งสงครามเย็น หากแต่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ASEAN ได้ปรับและขยับขึ้นมาเป็นแกนกลางของภูมิภาคในการดึงชาติมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน หรือผู้แทนระดับสูงของ EU เข้ามาร่วมเป็นคู่สนทนา และทวีบทบาทสำคัญในการพัฒนาให้เป็นประชาคมที่พร้อมจะตอบรับกับบริบททางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อย่างมีนัยสำคัญ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งของ ASEAN ก็คือภายใต้ฐานทางเศรษฐกิจและสังคม ของประชาคมอาเซียน ที่มีประชากร 640 ล้านคนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่กำลังขยับไปสู่ระบบอุตสาหกรรม ทำให้ทุนขยายและกระจายไปอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

หากแต่ในยุคสมัยแห่งโลกดิจิทัลหรือที่ยุคแห่งการผลิตแบบ 4.0 กระบวนการพัฒนาได้ก้าวข้ามจากการเน้นหนักอยู่ที่การเคลื่อนย้ายทุนที่ผู้มีทุนสูงกว่าจะเป็นผู้ได้เปรียบแบบเดิม มาสู่การถ่ายเทข้อมูล ที่กำลังท้าทายความสามารถของแต่ละประเทศสมาชิกในบริบทใหม่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ภายใต้เศรษฐกิจของอาเซียนที่เติบโตเฉลี่ยในระดับร้อยละ 5 ต่อปี ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียรวมทั้งทวีปมีอัตราการเติบโตที่ระดับร้อยละ 5.7 ประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตในระดับร้อยละ 3 ดูเหมือนจะเป็นปัญหาในการดึงค่าเฉลี่ย และกำลังสูญเสียความน่าสนใจในการลงทุนให้กับประเทศเพื่อนบ้านไปโดยปริยาย

กระนั้นก็ดี ภายใต้ความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐไทยในยุคสมัยปัจจุบันที่ขับเน้นเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นนโยบายหลักที่สามารถเห็นผลได้ชัดในระยะใกล้ ดูเหมือนว่าจังหวะแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ASEAN จะเป็นปัจจัยเสริมให้แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นดำเนินไปได้อย่างมีความหวัง

เพราะนับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศอาเซียนต่างเห็นพ้องที่จะประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวอาเซียน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ ASEAN Connect เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการเดินทางในอาเซียนด้วยกันเองแบบ local to local

ก่อนที่ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อ 6 กันยายน 2559 จะมีการเปิดตัวโลโกและการรณรงค์การท่องเที่ยวอาเซียน ภายใต้ชื่อ “Visit ASEAN@ 50 Golden Celebration 2017” อย่างเป็นทางการ

วัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเซียนในปี 2560 เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งที่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน อยู่ที่ความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในการสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวอาเซียนหรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความหลากหลาย ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเดียว

โดยการฉลองครบรอบ 50 ปี อาเซียนเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศสมาชิกทั้ง 10 ที่จะร่วมกันฉลองความสำเร็จอันรวดเร็วของชาติสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวของการท่องเที่ยวภายใต้ความหลากหลาย “Visit ASEAN@50” จะส่งเสริมความแข็งแกร่งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางเศรษฐกิจของอาเซียน

พร้อมกับความคาดหวังที่ว่า “Visit ASEAN@50” จะสร้างกระแสการรับรู้และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้มาเที่ยวอาเซียน จาก 108.9 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 121 ล้านคนในปี 2560 และสร้างรายได้เพิ่มจาก 7.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2557 เป็น 8.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2560

แม้ในด้านหนึ่ง Visit ASEAN จะเป็นไปเพื่อส่งเสริมให้ประชากรของประเทศสมาชิกได้ท่องเที่ยวภายในกลุ่มประชาคมที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของประเทศสมาชิก แต่ด้านหลักของการรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเซียนในโอกาสนี้ ได้วางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรปตะวันออกกลาง และอเมริกาเหนือ รวมถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และออสเตรเลีย ไว้เป็นเป้าหมายหลัก

จริงอยู่ที่ว่าการแข่งขันช่วงชิงตลาดนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หากแต่ด้วยโครงสร้างของสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยได้พัฒนามาก่อนหน้า ประเทศในกลุ่ม CLMV ที่ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม การผนวกประเทศไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งในจุดหมายของการเดินทางในฐานะ CLMVT ที่มีไทยเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญนับเป็นเงื่อนไขและปัจจัยที่น่าสนใจและน่าจะเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับการท่องเที่ยวไทยได้ไม่น้อย

มิติมุมมองดังกล่าวได้รับการตอกย้ำเมื่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมปรับกลยุทธ์ความร่วมมือการทำงานของสมาชิก ด้วยการมุ่งเจาะลึกแบบประเทศต่อประเทศ มากกว่าการหารือแบบเหมารวมเหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้แผนการทำงานสามารถขับเคลื่อนได้จริง

โดยไทยจะเน้นร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ภายใต้แนวคิดกลุ่ม CLMVT เพราะจากการติดตามพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พบว่าการเดินทางในแต่ละครั้งจะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเฉลี่ย 2 ประเทศ/ครั้ง ซึ่งโดยภูมิรัฐศาสตร์และทำเลที่ตั้งของประเทศไทยน่าจะสามารถสร้างให้เกิดแรงจูงใจในการมาเยือนของนักท่องเที่ยวได้ไม่ยาก

ประเด็นสำคัญที่ยังถือเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอาเซียนเรื่องหนึ่งอยู่ที่ความพยายามร่วมมือผลักดัน single visa ในกลุ่มประเทศสมาชิก ที่ยังไม่สามารถหาบทสรุปที่พึงใจสำหรับทุกฝ่ายได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดจากความได้เปรียบเสียเปรียบของอัตราการจัดเก็บ ที่ทำให้การเจรจาในเรื่องดังกล่าวต้องเลื่อนออกไป แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นพ้องกันว่าวีซ่าอาจเป็นกลยุทธ์สำคัญในการจูงใจนักท่องเที่ยว แต่อาจไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดที่จะเลือกเที่ยวประเทศนั้นๆ

กระนั้นก็ดี สถานภาพของการเป็นศูนย์กลางในอาเซียนที่ไทยมีอยู่ กับตัวเลขการเติบโตของนักท่องเที่ยวและรายได้ทางการท่องเที่ยว ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ไทยต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการท่องเที่ยวให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และต้องตระหนักว่า “Visit ASEAN@50” จะกลายเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ประเทศสมาชิกรายอื่นๆ ปรับเปลี่ยนและให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากขึ้น กลายเป็นคู่แข่งขันและทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

Visit ASEAN@50 อาจเป็นอีกบทหนึ่งในความพยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์และผสานความร่วมมือกันในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนในห้วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง 50 ปีแห่งการก่อตั้ง

หากแต่ภายใต้บริบทของสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะเขม็งเกลียวหนักหน่วงขึ้น ASEAN ที่พยายามสร้างกรอบความร่วมมือให้เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะสามารถนำพาประชาคมแห่งนี้ฝ่ามรสุมที่รอคอยอยู่เบื้องหน้านี้ไปอย่างไร

ใส่ความเห็น