วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ทุกข์เกษตรกร ผจญภัยแล้งแถมเศรษฐกิจฟุบ

ทุกข์เกษตรกร ผจญภัยแล้งแถมเศรษฐกิจฟุบ

 
 
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นประหนึ่งสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกครั้งใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยขวัญและกำลังใจสำหรับเกษตรกร ในการประกอบสัมมาชีพหล่อเลี้ยงสังคมและผู้คนต่อไป
 
เพราะท่ามกลางผลการเสี่ยงทายที่ปรากฏว่าพระโคได้กินข้าว ข้าวโพด งา เหล้า น้ำ และหญ้า พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร จะบริบูรณ์ดี น้ำท่าจะบริบูรณ์สมควร การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดี เศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้น และในการเสี่ยงทายผ้านุ่งเสี่ยงทาย พระยาแรกนาหยิบเสี่ยงทาย ผ้านุ่ง 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำปริมาณพอดี ข้าวกล้าได้ผลบริบูรณ์ ผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี ดูจะเป็นแรงกระตุ้นความหวังและความฝันครั้งใหม่ได้ไม่น้อยเลย
 
หากแต่ข้อเท็จจริงที่เกษตรกรไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ อาจอาศัยเพียงกำลังใจและความคาดหวังจากการพยากรณ์ตามลำพังไม่ได้ เพราะปัญหาของเกษตรกรไทยในห้วงปัจจุบันมิได้มีเพียงประเด็นว่าด้วยการเพิ่มผลผลิตหรือการปรับโครงสร้างราคาพืชผลทางการเกษตรให้สอดรับกับต้นทุนการผลิตเท่านั้น หากยังมีปัจจัยว่าด้วยความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออกไปยังตลาดระดับนานาชาติด้วย
 
ปัญหาเฉพาะหน้าของเกษตรกรในช่วงของภาวะภัยแล้งที่ผ่านมา อยู่ที่ต้นทุนการผลิต ปริมาณการผลิต ต้นทุนการหาแหล่งน้ำ รายได้จากการทำการเกษตร หนี้สินของครัวเรือน และการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งประชาชนประมาณ 80.5% ที่ตอบแบบสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนที่ผ่านมา ระบุว่าในการแบกรับภาระหรือการรับมือต่อภัยแล้ง ทำได้น้อย หรือทำไม่ได้เลย 
 
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มจะยืดยาวไปถึงช่วงมิถุนายน 2559 จะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 119,278.37 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.85% ซึ่งหอการค้าไทยมองว่า ผลกระทบนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 3% ดังนั้นรัฐบาลควรมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ เมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ของรัฐให้เร็วที่สุด ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 200,000-300,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้มากกว่า 3%
 
กรณีดังกล่าวสอดรับกับรายงานของสำนักเศรษฐกิจมหภาคธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้คือ 3% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา แต่การส่งออกไตรมาส 1 ยังขยายตัวติดลบ 1.4% หดตัวลงจากไตรมาส 4 ปีก่อนในเกือบทุกหมวดสินค้า เป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียน
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 จากปัจจัยลบ คือ ความกังวลปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร และรายได้ของประชาชนในภูมิภาค กระทรวงการคลังปรับลดจีดีพีปี 2559 เหลือ 3.3% ความกังวลความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
 
ภาวะภัยแล้งและราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลายเป็นปัจจัยลบหลักที่ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศยังฟื้นตัวไม่มาก แม้ว่าการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี และการส่งออกเริ่มจะฟื้นตัวขึ้นก็ตาม แต่ผู้บริโภคเองยังรู้สึกว่ารายได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
 
“ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เพราะผู้บริโภคยังรู้สึกว่ามีเงินเข้ากระเป๋าน้อย และยังไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจรวมทั้งการจ้างงาน จุดที่เปราะบางของเดือนเมษายนคือดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์ใหม่ต่ำสุดในรอบ 78 เดือน หรือเกือบ 7 ปี และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่เกือบหลุดจุดต่ำสุด จากที่เคยลงไประดับ 61.2 ในเดือนกันยายน 2558” ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ
 
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่าการบริโภคของภาคประชาชนจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนักในช่วงนี้ เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 หรือต้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนไม่น้อย ได้ย้ายฐานธุรกิจและการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทยในกลุ่ม AEC ซึ่งนอกจากจะมีข้อได้เปรียบในมิติของค่าจ้างแรงงานและต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงแล้ว ยังมีปัจจัยทางการเมืองเป็นกรณีหนุนเสริม ซึ่งกรณีดังกล่าวแม้จะทำให้ผู้ประกอบการมีผลประกอบการแข็งแรงขึ้น แต่ในอีกมิติหนึ่งกลับทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยัง เมียนมาเวียดนาม กัมพูชา ลาว ลดลง และการประเมินผลทางเศรษฐกิจมหภาคในวันนี้ เกิดภาพเหลื่อมซ้อนและค่อนข้างยากลำบากไปด้วย
 
ความกังวลใจในมิติที่ว่านี้ ถึงกับมีผู้พยายามนำเสนอหนทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องการส่งออกด้วยมาตรการลดค่าเงินบาท ภายใต้ฐานวิธีคิดที่ว่า ปี 2558 ที่ผ่านมา ยอดส่งออกของไทยติดลบไปถึง 5.8% การส่งออกสินค้าเกษตรติดลบไปถึง 7.2% สินค้าเกษตรส่งออกหลักของไทยก็มี ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด โดยระบุว่าสาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรติดลบมาก สู้ประเทศคู่แข่งไม่ได้ก็เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าน้อยกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่งขัน
 
ข้อมูลที่ถูกนำเสนอเพื่อสนับสนุนแนวคิดที่ว่านี้อยู่ที่การอ่อนค่าลงของค่าเงินในกลุ่มประเทศที่ถือเป็นคู่แข่งในสินค้าเกษตรของไทย พร้อมกับระบุว่า ในห้วงเวลานับจากนี้ไปราคาสินค้าเกษตรของโลกจะยังคงมีราคาตํ่าไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าเกษตรของไทย เช่น ข้าว ยางพารา ที่ส่งออกในปี 2015 ติดลบไปถึง 12% เมื่อเทียบกับปี 2014 เป็นการตอกยํ้าว่า ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน
 
แนวความคิดที่ว่านี้ดูประหนึ่งจะใส่ใจกับปัญหาของเกษตรกรไม่น้อย เมื่อมีการระบุถึงราคาข้าวในปัจจุบันที่ราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ระดับตันละ 7,500-8,000 บาท ซึ่งปัญหาจากภัยแล้งและค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่า ทำให้ชาวนาเดือดร้อนอย่างมาก ต้นทุนก็ตกตันละ 7-8 พันบาทแล้ว ถ้าทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงมา ราคารับซื้อข้าวเปลือกอาจขยับขึ้นเป็นตันละ 10,000 บาทก็ได้ เมื่อเทียบกับราคาส่งออก
 
ความคิดที่เชื่อว่าการปรับลดค่าเงินบาทลงเพื่อให้ไปอยู่ที่ระดับ 45-46 บาทต่อดอลลาร์ จากที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 35-36 บาท จะช่วยให้การส่งออกของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลกได้ สามารถกำหนดราคาสินค้าได้ โดยไม่เสียเปรียบประเทศคู่แข่งขันดูจะเป็นความคิดที่เล็งผลเลิศและประเมินผลด้านเดียวมากเกินไป และสุ่มเสี่ยงเกินกว่าที่จะหยิบยกมากล่าวอ้างโดยอาศัยเพียงความเชื่อและความรู้สึกโดยลำพัง
 
ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบในมิติที่จะผลักให้ต้นทุนและหนี้สินในรูปของเงินตราต่างประเทศของทั้งภาครัฐและเอกชนขยับปรับตัวขึ้นทันทีตามสัดส่วนของเงินบาทที่จะอ่อนค่าลงนี้ และอาจทำให้รัฐไทยเดินหน้าเข้าสู่ภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ตกอยู่ในภาวะที่ไม่ต่างอะไรจากการล้มละลายทางการเมืองและความน่าเชื่อถือในเวทีระหว่างประเทศมาก่อนหน้านั้นแล้ว
 
ประเด็นที่ควรจะได้รับการพิจารณาและกำหนดเป็นมาตรการเชิงนโยบายจากภาครัฐอย่างจริงจังอยู่ที่จะดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตและขยายกลไกความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออกไปสู่ตลาดโลกได้อย่างไร
 
กรณีเช่นว่านี้ เป็นประเด็นที่ประเทศไทยเคยพยายามสร้างมาตรฐานและจุดยืนใหม่ในตลาดโลกว่าด้วยการเป็นสินค้าเกษตรพรีเมียมมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ดูเหมือนว่าจะชะงักงันและมีเหตุให้ต้องถอยกลับมาเน้นการจำหน่ายส่งออกจำนวนมากๆ แม้จะไม่ได้ราคา เพียงเพื่อจะได้บันทึกเป็นผลงานว่ายอดการส่งออกยังอยู่ในระดับที่ดีหรือในระดับที่ยังพอรับได้ก็ตาม
 
ฤดูกาลเพาะปลูกครั้งใหม่ของเกษตรกรเริ่มขึ้นแล้ว ทั้งในมิติของสัญลักษณ์ผ่านพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมวลเมฆดำครึ้มที่กลั่นตัวเป็นสายฝนที่เริ่มกระจายตัวสร้างความชุ่มชื้นให้กับหลายพื้นที่
 
หวังเพียงว่าเมฆดำหนาครึ้มที่ครอบครองผืนฟ้าเมืองไทยในฤดูฝนนี้ จะไม่แปลงสภาพเป็นอีกปัจจัยที่กดทับให้เกษตรกรไทยต้องน้ำตารินจากลมพายุและสภาพแปรปรวนของเศรษฐกิจไทยที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่างจากมาตรการที่จริงจังและชัดเจนจากภาครัฐ มากไปกว่าการหวังพึ่งฟ้าพึ่งฝนไปตามยถากรรมเช่นนี้