วันจันทร์, กันยายน 9, 2024
Home > Cover Story > ททท. ปรับเกมสร้างโอกาส ชูโมเดลการท่องเที่ยวยั่งยืน

ททท. ปรับเกมสร้างโอกาส ชูโมเดลการท่องเที่ยวยั่งยืน

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแม้ว่าจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจไทย โดยรายได้จากการท่องเที่ยวก่อนเกิดโรคระบาดโควิดคิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์การท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย ยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงเวลาก่อนเกิดโควิด แต่ทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐต่างพอใจกับจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน และพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะสร้างแรงดึงดูดเพื่อหวังเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในอนาคต

มีข้อมูลระบุว่า การท่องเที่ยวมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศประมาณ 8-11% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั้งโลกในปี 2562 นี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ ททท. จริงจังและปรับแผนการท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน ขณะที่ในช่วงปี 2562-2566 ตลาดการท่องเที่ยวยั่งยืนของโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% จากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นอกจากนี้ เป้าหมายดูจะไม่ใช่แค่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามความคาดหมาย แต่ยังปรับกลยุทธ์ให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แต่ยังเป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะธุรกิจในห่วงโซ่ที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนทั้งระบบ และไม่สร้างผลกระทบด้าน Climate Change

ตัวเลขการท่องเที่ยวในปี 2566 ที่มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 28 ล้านคน สร้างรายได้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.2 ล้านล้านบาท ทำให้ปีนี้การท่องเที่ยวตั้งเป้ารายได้การท่องเที่ยวน่าจะอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท และการท่องเที่ยวยั่งยืนที่ไม่ใช่แค่เทรนด์ หรือจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม แต่อาจจะเป็นกุญแจความสำเร็จของการท่องเที่ยวของไทย

“นี่จะเป็นภูมิคุ้มกันระยะยาวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ ททท. มุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาแบรนด์ Amazing Thailand ให้เป็นแบรนด์ท่องเที่ยวไทยที่มุ่งสู่ความยั่งยืนบนรากฐานของเสน่ห์ไทยอันเป็นเอกลักษณ์ สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 2 ประเทศไทย เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวคุณภาพที่เน้นความยั่งยืน ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เบื้องหลังของความสำเร็จคือการผลักดันห่วงโซ่การท่องเที่ยวยั่งยืนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยไปสู่การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและยั่งยืน (High Value and Sustainability) ให้ความสำคัญกับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพใช้จ่ายสูง และมีระยะพำนักนาน มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อธิบาย

ททท. เตรียมยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Shape Supply) ให้มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว และผลักดันเกณฑ์มาตรฐานความยั่งยืน ตลอดจนการส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง จึงจะนำไปสู่ปลายทางความสำเร็จของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่เติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล ผ่านการจัดงาน Amazing Green Fest 2024 ที่รวบรวมผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

“เราคาดหวังว่า การจัดงาน Amazing Green Fest 2024 จะจุดประกายให้ผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งนักท่องเที่ยวตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาต้นทุนทางการท่องเที่ยว เข้าใจและสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนและธรรมชาติเพื่อใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสมดุล ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นการเดินหน้าขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นกระบวนการ การดำเนินงานของ ททท. มีเป้าหมายความยั่งยืนอย่างเข้มข้น”

ภาวะโลกร้อนทะเลเดือด ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยตระหนักถึงปัญหาและเริ่มปรับตัว เปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อหวังจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

“ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไรในภาวะโลกรวน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเร็วเป็นประวัติการณ์ เจ้าของบ้านต้องปรับตัว รู้เท่าทัน โดยเฉพาะเรื่องปะการังฟอกขาว ต้องหาแวลูใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการและภาคประชาชน ในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะไม่สร้างให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเล” ฐาปนีย์ กล่าวเสริม

ด้านรองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย น้ำฝน บุณยะวัฒน์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “แผนการเปลี่ยนการท่องเที่ยวไทยให้เป็นการท่องเที่ยวยั่งยืน คงไม่ใช่เรื่องที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ภายในเวลาอันสั้น แต่เรามีเป้าหมายหลัก คือนักท่องเที่ยวยุโรป ที่มีช่วงเวลาการพำนักในประเทศนาน และค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง ระยะแรกเราตั้งเป้านักท่องเที่ยวจากสแกนดิเนเวีย ก่อนจะขยายเป้าหมายไปยังประเทศอื่นๆ

ซึ่งภายในปี 2570 เราต้องสร้างให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ทำให้นักท่องเที่ยวมองเห็นและมีความสนใจ แน่นอนว่าหากมีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการในห่วงโซ่จะเข้าใจและเริ่มปรับตัว เมื่อเห็นว่าการท่องเที่ยวยั่งยืนสามารถทำได้ โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เพียงแค่เลือกผลิตภัณฑ์ นำเสนอบริการให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง”

งาน Amazing Green Fest 2024 ดูจะเป็นจุดเริ่มต้นของแผนนโยบายการท่องเที่ยวใหม่ของ ททท. นอกจากนี้ อีกหนึ่งคีย์แมนสำคัญที่ช่ำชองและเข้าใจแนวคิด Sustainability เป็นอย่างดี คือ ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการบริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังต้นแบบการจัดงานอีเวนต์ด้านความยั่งยืน ให้มุมมองว่า “เราไม่ใช่ผู้ขับเคลื่อน แต่เราเป็นเสมือนกาวเชื่อมระหว่างผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกับประชาชน ซึ่งหน้าที่เราคือบอกเล่าเรื่องราวให้กับผู้ที่สนใจเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งงาน Amazing Green Fest 2024 จะเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ร่วมกัน โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวเล่าเรื่องที่จะนำพาผู้คนไปค้นพบความหมายใหม่ๆ ของการท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัว สามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตจริง”

โดยภายในงานนอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวของการท่องเที่ยวยั่งยืนแล้ว ยังได้รวบรวมธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ผู้ประกอบการจากชุมชนต่างๆ

การปรับแผนการท่องเที่ยวของ ททท. สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน น่าจะเป็นเพราะผลสำรวจของ Expedia Group และ Wakefield Research ที่เปิดเผยรายงาน Sustainable Travel Study โดยทำการสำรวจนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวน 11,000 คนจาก 11 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในช่วงกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565 ระบุว่า นักเดินทางให้น้ำหนักกับประเด็นเหล่านี้ 69% นักท่องเที่ยวมองหาทริปที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 66% นักท่องเที่ยวต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ขณะที่มุมมองด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน 56% นักท่องเที่ยวมองหาตัวเลือกที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม 51% นักท่องเที่ยวเลือกบริการที่ชุมชนเป็นเจ้าของหรือมีการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น 48% นักท่องเที่ยวอยากสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนมากเป็นพิเศษ และ 37% นักท่องเที่ยวให้น้ำหนักกับบริการที่สามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอน

“ถ้าเราทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเห็นว่าการปรับเปลี่ยนไปสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน ไม่ได้ใช้งบประมาณสูง และมีนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ จะเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ และไทยจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และมีอัตราการเติบโตที่สูง จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน” ฐาปนีย์ ผู้ว่าฯ ททท. ทิ้งท้าย.