วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
Home > Cover Story > บทเรียน โอเกนกิ เดสซึกะ บิ๊กซีปรับสูตรดันร้าน PURE

บทเรียน โอเกนกิ เดสซึกะ บิ๊กซีปรับสูตรดันร้าน PURE

ปี 2556 อาณาจักรธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ภายใต้บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ตัดสินใจแตกไลน์กิจการสเปเชียลตี้สโตร์ ร้านเพื่อความงามและสุขภาพสัญชาติไทย สไตล์ญี่ปุ่น OGENKI Beauty & Wellness เพื่อขยายพอร์ตและเน้นภาพลักษณ์ผู้ประกอบการไลฟ์สไตล์รีเทลรับกระแสคนรุ่นใหม่

คำว่า “โอเกนกิ” เป็นคำภาษาญี่ปุ่น หรือ “สบายดีไหม” ในภาษาไทย ถือเป็น Concept หลักของร้านที่ให้พนักงานกล่าวทักทายลูกค้าทุกคนที่เข้ามาใช้บริการภายในร้านว่า “โอเกนกิ เดส ซึกะ” เพื่อแสดงถึงความห่วงใยแบบไทยๆ

ในเวลานั้น แม้ทิศทางของโอเกนกิเหมือนการซุ่มเงียบเปิดสาขา เนื่องจากอยู่ในช่วงทดลองตลาด เพื่อสรุปจุดเหมาะสมที่สุด ทั้งรูปแบบ ขนาดร้าน ทำเล กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย สินค้า และกลยุทธ์ต่างๆ แต่ถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง เพราะมีทั้งเจ้าตลาดอย่างวัตสันและบู๊ทส์ ร้านเพรียวของกลุ่มบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งยังอยู่ในภายใต้คาสิโนกรุ๊ป ประเทศฝรั่งเศส ร้านโปรเจ็กต์เอ็กซ์ตร้าของกลุ่มซีพีออลล์ที่ปูพรมตามร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น และร้านซูรูฮะในเครือสหพัฒน์

สำหรับโอเกนกิสาขาแรกปักหมุดเจาะทำเลย่านอโศก กลุ่มออฟฟิศ คนทำงาน ผู้อยู่อาศัยกำลังซื้อสูงระดับ A-B เน้นสินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม สินค้าเอ็กซ์คลูซีฟนำเข้าจากญี่ปุ่น รวมมากกว่า 1,000 รายการ มีเภสัชกรให้คำปรึกษาพร้อมมุมตรวจสุขภาพ และนำเสนอบริการแบบ “One Stop Service” ซึ่งไม่ใช่แค่เกมปลุกปั้นสเปเชียลตี้สโตร์แบรนด์ใหม่ แต่บีเจซียังต้องการสร้างหน้าร้านปล่อยสินค้าในเครือ ทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเวชภัณฑ์ กลุ่มเครื่องเขียน ไลฟ์สไตล์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการศึกษา

กระทั่งปี 2559 กลุ่มเจริญสามารถฮุบดีลใหญ่ ทุ่มเม็ดเงิน 2 แสนล้านบาทซื้อกิจการบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ในไทย ซึ่งถือเป็นประตูต่อยอดธุรกิจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกลุ่มสเปเชียลตี้สโตร์ที่สามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับของบิ๊กซี

อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่เห็นได้ชัดเจน กรณีโอเกนกิ สไตล์ Japanese Modern กลับไม่สามารถฉีกแนวออกจากคู่แข่งยักษ์ใหญ่และยังเจอปัญหาการหาทำเลที่มีศักยภาพ ทำให้การขยายสาขาไม่บรรลุเป้าหมาย ทั้งที่ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีเจซี เคยหมายมั่นจะปูพรมสาขามากถึง 20 แห่งในปีเดียว แต่หลายปีที่ดำเนินกิจการผุดสาขาได้เพียง 9 แห่ง ได้แก่ สาขาอโศกทาวเวอร์และสาขาใน 8 ศูนย์การค้า คือ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต เซ็นทรัลพลาซาพระราม3 เซ็นทรัลพลาซา ชลบุรี เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน โรบินสัน บางรัก เซ็นทรัลพลาซา บางนา เซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ และซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์

สุดท้าย บีเจซีต้องเลือกปรับเปลี่ยนโอเกนกิเป็นร้านเพรียว (PURE) ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ-ความงามในกลุ่มบิ๊กซีเดิม เพื่อขยับสู่กลุ่มเป้าหมายแมสมากขึ้นและสร้างเครือข่ายดรักสโตร์ต่อสู้กับคู่แข่ง โดยมีสาขามากกว่า 140 แห่ง ชูภาพลักษณ์ร้านขายยาคนไทย หัวใจคือสุขภาพของลูกค้า

ขณะที่ปี 2564 กลุ่มบิ๊กซียังเพิ่มไลน์ร้านขายยา “สิริฟาร์มา” จำหน่ายยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในราคาขายส่งให้ผู้บริโภคตั้งแต่ชิ้นแรก โดยเดิมตั้งเป้าเปิดให้ได้ 11 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2569 แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีการขยายสาขาใหม่ และเปิดให้บริการเพียงสาขาต้นแบบที่พรานนกแห่งเดียว

ล่าสุด บีเจซีเคลื่อนไหวเปิดเกมรุกสงครามรีเทลอีกครั้ง ประกาศแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ จัดพอร์ต โฟลิโอแยกธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มค้าปลีกค้าส่ง ให้รวมอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC และเตรียมดัน BRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกินร้อยละ 29.98 ของทุนชำระแล้วทั้งหมด

ที่สำคัญ ดึง อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกของ BRC และแต่งตั้ง ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบีเจซี

ปัจจุบันบิ๊กซีมีฐานลูกค้าผ่านบัตรสมาชิกกว่า 18 ล้านราย มีเครือข่ายร้านค้าปลีก ได้แก่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี ดีโป้, บิ๊กซี มินิ, บิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส ร้านโชห่วย “โดนใจ” มีโมเดลตลาดกลางแจ้งทิพย์นิมิตร ตลาดครอบครัว ตลาดเดินเล่น มีร้านกาแฟวาวี ร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส และร้านยาเพรียว ซึ่งคาดว่าจะมีการอัดกลยุทธ์ครั้งใหญ่ทั้งพอร์ตอย่างแน่นอน.