วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ปีจอของคิง เพาเวอร์ จังหวะก้าวของจิ้งจอกสยาม

ปีจอของคิง เพาเวอร์ จังหวะก้าวของจิ้งจอกสยาม

ข่าวการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ในช่วงก่อนสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งอาจเป็นกรณีปกติของธุรกิจและการลงทุนที่เต็มไปด้วยพลวัตและกลยุทธ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อสร้างผลประโยชน์กำไร

หากแต่กรณีดังกล่าวนี้ มีประเด็นให้สนใจติดตามไม่น้อย ไม่ใช่เพราะ AAV เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสียในวงกว้างเท่านั้น หากแต่เป็นเพราะความเคลื่อนไหวของกลุ่มคิง เพาเวอร์และครอบครัวศรีรัตนประภา กำลังดำเนินไปท่ามกลางสปอตไลต์ ที่ฉายคลุมให้สังคมได้ร่วมพิจารณาและศึกษาวิถีความคิดในการดำเนินธุรกิจไม่น้อยเลย

เนื่องเพราะก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 กลุ่มคิง เพาเวอร์ได้เข้าซื้อหุ้นจำนวนกว่าร้อยละ 39 ใน AAV ซึ่งมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ (low cost airline) รายใหญ่ของไทยในนามไทยแอร์เอเชีย จากกลุ่มของธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ด้วยมูลค่าการลงทุนเกือบ 8 พันล้านบาท ภายใต้เหตุผลที่ว่ากลุ่มคิง เพาเวอร์ต้องการขยายธุรกิจครอบคลุมไปสู่การท่องเที่ยวและเติมเต็มช่องทางธุรกิจที่มีอยู่ให้ครบวงจร

แม้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะได้รับการอธิบายว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายตัวทางธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี เพื่อหนุนนำให้คิง เพาเวอร์ก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีระดับนำ 1 ใน 5 ของโลก จากที่ปัจจุบันคิง เพาเวอร์ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 7 เมื่อพิจารณาจากยอดการจำหน่าย

ขณะเดียวกันความเป็นไปของดีลการเข้าซื้อหุ้น AAV โดยคิง เพาเวอร์ ในครั้งนั้นได้รับการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความพยายามในการแสวงหาช่องทางในการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีให้หลากหลายและเปิดกว้างมากขึ้น แม้ว่าคิง เพาเวอร์จะมีร้านค้าปลอดภาษีในประเทศไทยรวมกว่า 10 แห่ง โดย 6 แห่งอยู่ในสนามบินนานาชาติทั้งที่สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และอู่ตะเภา ขณะที่อีก 4 แห่งเป็นคอมเพล็กซ์อยู่ที่ซอยรางน้ำ ศรีวารี พัทยา และภูเก็ต แล้วก็ตาม

สาเหตุของการประเมินดังกล่าวในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า อนาคตของคิง เพาเวอร์ในห้วงเวลานับจากนี้ กำลังดำเนินไปท่ามกลางข่าวความไม่แน่นอนของการได้มาซึ่งสัมปทานร้านค้าปลอดภาษี ที่กำลังมีกรณีการร้องเรียนว่าคิง เพาเวอร์ผิดสัญญาการจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ ก่อนที่กรณีดังกล่าวจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของ ปปช. ในขณะปัจจุบัน

มุมมองความคิดที่ประเมินว่าการเปลี่ยนมือการถือหุ้นใน AAV ในช่วงระยะเวลาปีเศษซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 8 พันล้านบาท และมีส่วนต่างนับพันล้านบาท ในลักษณะที่เป็นประหนึ่งการผลัดเปลี่ยนสมบัติกันชื่นชมระหว่าง คิง เพาเวอร์กับกลุ่มของธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ อย่างปราศจากการสังเคราะห์ความเป็นไปทางธุรกิจในด้านหนึ่งจึงดูตื้นเขิน และให้ภาพความอ่อนไหวของอารมณ์ความรู้สึกในหมู่นักพนัน ที่ได้แต่เฝ้าติดตามผลโดยขาดความพยายามที่จะเข้าใจกระบวนการที่เป็นจริง

ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีดังกล่าวในด้านหนึ่งอยู่ที่ เหตุใดการตัดสินใจทางธุรกิจที่มีมูลค่ารวมหลายพันล้านบาทนี้ จึงมีลักษณะที่พร้อมจะกลับทิศกลับทางได้อย่างง่ายดายเพียงระยะเวลาประมาณ 18 เดือนเช่นนี้

ส่วนต่างที่เกิดขึ้นในด้านหนึ่งกลายเป็นผลกำไรที่คิงพาวเวอร์สามารถเก็บเกี่ยวและบันทึกทางบัญชีได้โดยไม่ต้องเสียภาษี หรือ tax free ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จากเหตุที่ธุรกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้รับการยกเว้น หากแต่เป็นผลกำไรที่เกิดขึ้นบนความขาดทุนของผู้มีส่วนร่วมอีกฝ่ายไปโดยปริยาย

ผลกำไรของคิง เพาเวอร์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะส่วนต่างราคาการซื้อขายเพื่อการเปลี่ยนมือการถือหุ้น AAV ที่มีมูลค่านับได้ประมาณ 880 ล้านบาทเท่านั้น หากแต่ภายใต้ข้อตกลงล่าสุด คิง เพาเวอร์ยังได้รับสิทธิในการนำสินค้าปลอดภาษีไปจำหน่ายผ่านไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นเป้าประสงค์หนึ่งของคิง เพาเวอร์ในการเข้าซื้อหุ้น AAV ก่อนหน้านี้อีกด้วย

การเล่นแร่แปรธาตุที่มีผลกำไรเกือบพันล้านบาทโดยไม่ต้องเสียภาษี จากผลของการลงทุนในห้วงเวลาเพียง 18 เดือน พร้อมกับการได้มาซึ่งช่องทางจำหน่ายเพิ่มเติมตามความมุ่งหมายเบื้องต้นเช่นนี้ หากเปรียบเทียบในฐานะนักกลยุทธ์ ก็ต้องประเมินว่า คิง เพาเวอร์ ซึ่งในอีกด้านหนึ่งอยู่ในสถานะที่เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น จิ้งจอกสยาม บรรลุเป้าหมายยิ่งกว่าการเดินหมากเพื่อ “กินสองต่อแล้วเข้าฮอร์ส” ด้วยซ้ำ

หากแต่ในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยยอดฝีมือและอุดมด้วยนักกลยุทธ์ที่มีความเจนจัดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันนี้ จะมีผู้ใดยินยอมตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำหรือยอมตกเป็นเหยื่อผู้สูญเสีย ให้กลายเป็นบาดแผลและตราบาปทางธุรกิจ ให้ได้กล่าวถึงเป็นบทเรียนไม่สิ้นสุดเช่นนี้

บางทีกำหนดนิยามความหมายของการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ที่กำลังจะดำเนินไปในสังคมไทยในห้วงเวลานับจากนี้ อาจหมายรวมถึงการร่วมกันคบคิดแสวงประโยชน์บนพื้นฐานของช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายที่เปิดกว้าง ที่อาจไม่จำเป็นต้องอ้างถึงยุทธศาสตร์และภูมิทัศน์ทางธุรกิจให้สวยหรู

เป็นการเริ่มต้นศักราชแห่งปีจอของคิง เพาเวอร์ ผู้เคยประสบความสำเร็จในการสร้างประวัติการณ์ปั้นสุนัขจิ้งจอกแห่งเมืองสยาม ให้กลายเป็นแชมเปี้ยนฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษมาก่อนหน้านี้ ที่ต้องติดตามต่อไปว่าจะมีกลยุทธ์และมิติความคิดทางธุรกิจที่แพรวพราวมากน้อยอย่างไร และจะผ่านพ้นห้วงเวลายากลำบากจากขวากหนามของข้อร้องเรียนที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงของ ปปช. ด้วยวิถีทางแบบใด

ใส่ความเห็น