วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ทีซีซีระเบิดศึกแลนด์มาร์ค เขย่า “ซีพี-เซ็นทรัล”

ทีซีซีระเบิดศึกแลนด์มาร์ค เขย่า “ซีพี-เซ็นทรัล”

“วิสัยทัศน์ของเราคือการสร้างสรรค์สถานที่ที่ผู้คนจะตกหลุมรักและอยากมาใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ที่ที่ทำให้ทุกคนในกรุงเทพฯ รู้สึกว่าที่นี่คือส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของกรุงเทพฯ และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะกลายเป็นแลนด์มาร์คระดับโลกที่ยกระดับภาพลักษณ์ที่ดีงามของกรุงเทพฯ และประเทศไทยให้โดดเด่นเป็นสง่าบนเวทีโลก”

เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท ทีซีซี และบริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด (FCL) ประกาศเป้าหมายการทุ่มทุนกว่าแสนล้านบาท ผุดโครงการ ‘One Bangkok’ (วัน แบงค็อก) บนที่ดินกว่า 104 ไร่ โดยเฉพาะการสร้าง “เมือง” เป็นประตูเชื่อมโลกกับเอเชีย

ที่สำคัญ เจริญจัดวางแผนทั้งหมด เพื่อปลุกย่านถนนพระราม 4 เป็นทำเลทองเกรด A ไม่ต่างจากเส้นสุขุมวิทอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่เปิด “เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ (FYI CENTER)” บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4-รัชดาภิเษก เนื้อที่ 9 ไร่ แบ่งเป็นอาคารสำนักงานเช่าสูง 12 ชั้น 2 อาคาร และโรงแรมโมเดน่า บาย เฟรเซอร์ กรุงเทพฯ ห้องพัก 239 ห้อง

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไฟเขียวให้แก้ไขสัญญาการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือทีซีซี โดยแก้ไขสัญญาเช่าพื้นที่จาก 25 ปี เป็น 50 ปี และปรับปรุงการก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุมเดิมให้มีพื้นที่มากขึ้น เพิ่มพื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์และที่จอดรถ ไม่น้อยกว่า 1.8 แสน ตร.ม. มูลค่าการลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท แทนการก่อสร้างโรงแรม 4-5 ดาว ทำให้โหมดหัวมุมนี้มีศักยภาพมากขึ้นอีก

ตามด้วยโครงการ “สามย่านมิตรทาวน์” บนที่ดินผืนใหญ่ 13 ไร่ หัวมุมถนนพญาไท-พระราม 4 โดยมีบริษัทในเครือ “โกลเด้นแลนด์” เป็นผู้พัฒนาโครงการและหมายมั่นจะปลุกทำเลไม่ต่างจาก “มหานครนิวยอร์ก” ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเงิน วัฒนธรรม บันเทิง ที่สำคัญของโลก ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สมาร์ทมิกซ์ยูส” มีพื้นที่ก่อสร้างรวม 22,000 ตร.ม. ประกอบด้วยอาคารสำนักงานอัจฉริยะ (Artificial Intelligence Building) อาคารพักอาศัย และศูนย์ทักษะพัฒน์เพิ่มโอกาสการเรียนรู้แห่งแรกในประเทศไทย คาดเปิดให้บริการปี 2562

มาถึงหมุดตัวล่าสุด “วัน แบงค็อก” บริเวณหัวมุมถนนวิทยุตัดพระราม 4 ซึ่งภายในพื้นที่อาคารรวมทั้งหมด 1.83 ล้าน ตร.ม. ประกอบด้วยอาคารสำนักงานเกรดเอ จำนวน 5 อาคาร โรงแรมหรู 5 โรงแรม ที่พักอาศัยระดับอัลตราลักชัวรี่ 3 อาคาร ร้านค้าปลีกและพื้นที่ทำกิจกรรม โดยตั้งเป้าเปิดเฟสแรกในส่วนอาคารสำนักงาน โรงแรม ร้านค้าปลีกในปี 2564 หลังจากนั้นเปิดให้บริการทั้งหมด โดยเฉพาะโซนที่พักอาศัย ภายในปี 2568 และคาดว่าจะมีผู้คนมากกว่า 60,000 คนเข้ามาทำงานและพักอาศัย

ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FCL กล่าวว่า การศึกษาผลตอบแทนของโครงการ วัน แบงค็อก ยังเป็นความลับธุรกิจ ซึ่งลงทุนอสังหาฯ วันนี้ จุดคุ้มทุนอยู่ในกรอบไม่เกินสูงสุด 15 ปี โดยจัดตั้ง บริษัทร่วมทุนชื่อบริษัทเกษมทรัพย์ วัฒนะ ใช้ทุนจดทะเบียนประมาณ 38,500 ล้านบาท และการเรียกชำระทุนรอความต้องการลงทุนตามความก้าวหน้าโครงการ แต่มั่นใจ โครงการจะประสบความสำเร็จจากวิสัยทัศน์การพัฒนาเป็นโครงการต้นแบบ เป็นชื่อเสียงของกรุงเทพมหานครและของประเทศไทย

ทั้งนี้ ในวงการอสังหาริมทรัพย์ประเมินคร่าวๆว่า มูลค่าเงินลงทุนรวม ตลอดถนนพระราม 4 และพื้นที่ใกล้เคียงที่กลุ่มทีซีซีกรุ๊ปปักหมุดไว้ มากกว่า 1.4 แสนล้านบาท เนื้อที่รวมกันเกือบ 150 ไร่ จะกลายเป็นทั้ง “เมือง” ทั้ง “ดิสทริค” และ “แลนด์มาร์ค” เชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ปั่นราคาที่ดินทั้งย่านพุ่งกระฉูดเกือบ 100% ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี

ด้านเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) แม้ “ซี.พี.แลนด์” บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเครือ ทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และที่อยู่อาศัย แต่ไฮไลต์สำคัญพุ่งเป้าไปที่ “แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น” ซึ่งบริหารโดย “ทิพาภรณ์ อริยวรารมย์” ลูกสาวคนเล็กของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์

ล่าสุด แมกโนเลียฯ เปิดตัวมิกซ์ยูสโปรเจ็กต์ “WHIZDOM 101” บนทำเลสุขุมวิท ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการเดิม “ปิยรมย์ สปอร์ตคลับ” ที่เครือซีพีทุ่มทุน 4,000 ล้านบาท ซื้อมาเมื่อ 2 ปีก่อน โดยทิพาภรณ์เตรียมเงินลงทุนอีกกว่า 30,000 ล้านบาท พัฒนาโครงการภายใต้คอนเซ็ปต์ไลฟ์สไตล์คอมเพล็กซ์ สังคมดิจิทัลแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย เนื้อที่รวม 43 ไร่ พื้นที่ใช้สอยราว 350,000 ตร.ม.

ประกอบด้วยส่วนที่พักอาศัย 3 อาคาร ซึ่งทุกยูนิตใช้ระบบ Smart Home Automation System เทคโนโลยีที่ผู้พักอาศัยสั่งการทำงานต่างๆ ในบ้านได้จากระยะไกล แม้อยู่นอกบ้าน มีสโมสรกีฬาและสุขภาพ พื้นที่ 10,000 ตร.ม. ห้องนั่งเล่น Social Lounge โซนสำหรับครอบครัว คอร์ทเทนนิสในร่ม สระว่ายน้ำแบบชายทะเลสไตล์รีสอร์ตแห่งแรกในกรุงเทพฯ และสนามหญ้าขนาดใหญ่กว่า 3 ไร่ ซึ่งทิพาภรณ์ให้ความสำคัญมาก

ส่วนพื้นที่ร้านค้าปลีกประมาณ 20,000 ตร.ม. และพื้นที่สำนักงาน แยกเป็นพื้นที่ให้เช่า 30,000 ตร.ม. และ co-working space คอนเซ็ปต์ Innovative Office Park รวมถึงพื้นที่เฉพาะสำหรับการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีและการวิจัย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และวางแผนสร้างสกายวอล์กเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส “สถานีปุณณวิถี” เข้าถึงตัวโครงการด้วย

เบื้องต้น วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน จะสร้างเสร็จภายในปี 2561 และคาดว่าจะดึงดูดลูกค้าเข้าคอมเพล็กซ์วันละ 40,000 คน สร้างรายได้ปีแรกไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ทั้งเครือซีพีและแมกโนเลียได้ร่วมทุนกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ เปิดตัวบิ๊กโปรเจ็กต์ “ไอคอนสยาม” ซึ่งใช้เงินลงทุนรวมมากกว่า 50,000 ล้านบาท โดยหวังสร้างแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วยอาคารศูนย์การค้า 2 อาคาร พื้นที่รวม 525,000 ตร.ม. มีห้างสรรพสินค้าทากาชิมายะ สาขาแรกในประเทศไทย ตลาดน้ำในร่ม ศูนย์ประชุมและโรงมหรสพอเนกประสงค์ ทรู ไอคอนสยาม ฮอลล์ ความจุ 3,000 ที่นั่ง โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ 7 โรง พื้นที่ 10,000 ตร.ม. สวนสนุก 4,000 ตร.ม. ศูนย์กีฬา พร้อมสระว่ายน้ำและลู่วิ่ง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย

ขณะที่อาคารพักอาศัย 2 อาคาร ได้แก่ แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนเซส ความสูง 315 เมตร จำนวน 70 ชั้น 300 ยูนิต และเดอะ เรสซิเดนเซส แอท แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ความสูง 200 เมตร จำนวน 52 ชั้น 146 ยูนิต ซึ่งเป็นอาคารที่พักอาศัยโดยกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทแมนดารินโอเรียนเต็ลแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนั้น มีลานกิจกรรมริเวอร์พาร์ค 10,000 ตร.ม. ความยาวเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 500 เมตร เป็นทางเดินริมแม่น้ำยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร่วมทุนกับกรุงเทพมหานคร ก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีทอง เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าเข้ากับศูนย์การค้าด้วย

ส่วนกลุ่มเซ็นทรัล ล่าสุดประกาศความร่วมมือกับกลุ่มดุสิตธานี ตั้งบริษัทร่วมทุน โดยกลุ่มดุสิตธานีถือ 60% กลุ่มเซ็นทรัล 40% เพื่อปรับโฉมโรงแรมดุสิตธานีให้เป็นอาคารพาณิชยกรรมแบบประสม ประกอบด้วย ศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน ภายใต้งบลงทุน 36,700 ล้านบาท เนื้อที่รวม 24 ไร่

อีกด้านหนึ่ง กลุ่มเซ็นทรัลกำลังลุ้นผลการประมูลที่ดินสถานทูตอังกฤษ บริเวณถนนวิทยุ เนื้อที่กว่า 10,000 ตารางวา มูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อผุดโครงการมิกซ์ยูสเชื่อมต่อกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ห้างเซ็นทรัลชิดลม ห้างเซน และเซ็นทรัลเวิลด์ ยึดแนวรบชอปปิ้งสตรีทตั้งแต่สี่แยกราชประสงค์ถึงเพลินจิต

สงครามแลนด์มาร์คของ3 ค่ายยักษ์ใหญ่ที่มีพันธมิตรระดับ “บิ๊ก” เพิ่มความร้อนแรงให้สมรภูมิรอบนี้จนทะลุจุดเดือด เหนืออื่นใด กำลังพลิกโฉมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกครั้งใหญ่ที่สุดด้วย

ใส่ความเห็น