วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > “Uber-Agoda” ทางเลือกใหม่ที่ถูกใจ-ไม่ถูกต้อง?

“Uber-Agoda” ทางเลือกใหม่ที่ถูกใจ-ไม่ถูกต้อง?

ในห้วงยามแห่งจังหวะของการก้าวย่างที่เต็มไปด้วยความมุ่งหมายที่จะพัฒนา ไม่ว่าจะจากภาคส่วนของรัฐบาล หรือภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เต็มไปด้วยความคาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ สิ่งดีๆ สิ่งใหม่ๆ จะบังเกิดขึ้น ทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเพื่อเป็นการยืนยันว่าเป้าหมายที่รัฐบาลไทยตั้งเอาไว้ว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่ความเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” จะบรรลุผลในเร็ววัน
จากสายตาคนภายนอกเมื่อมองเข้ามายังประเทศไทย อาจจะเห็นศักยภาพบางอย่างที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจ ในช่วงเวลานี้จึงไม่น่าแปลกใจนักที่จะเห็นการเข้ามาของเงินทุนจากภายนอก และบริษัทต่างชาติที่ตบเท้าเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ไม่เว้นแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ทั้งชื่อชั้นในการดำเนินธุรกิจและเทคโนโลยีที่นำสมัย ในที่นี้ขอกล่าวถึงสองบริษัทที่กำลังเป็นที่นิยมจากประชาชนที่เป็นผู้บริโภคที่มองว่า นี่คืออีกทางเลือกหนึ่งในบรรดาตัวเลือกมากมาย ขณะที่ภาครัฐกำลังจับตามองในอีกนัยหนึ่ง เมื่อในช่วงเวลานี้ ทั้งสองบริษัทกำลังถูกหยิบยกขึ้นมาในข้อพิพาทถึงความถูกต้องตามกฎหมายของไทย

Agoda เว็บไซต์ผู้ให้บริการสำรองที่พักสำหรับนักเดินทางผ่านระบบออนไลน์ ที่มีเครือข่ายทั่วโลก และที่สำคัญคือมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ขณะที่เว็บไซต์ดังกล่าวมีโรงแรมที่พักให้นักท่องเที่ยวได้เลือกใช้บริการมากถึง 25,616 แห่งทั่วประเทศ แน่นอนว่าคงไม่ต้องพูดไปไกลว่า โรงแรมทั่วโลกที่ถูกบรรจุเอาไว้ในเว็บไซต์ Agoda มีมากเพียงใด

กระนั้นเมื่อประมาณกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญว่ากระทรวงกำลังเตรียมหารือกับเว็บไซต์ Agoda ในฐานะผู้ให้บริการจองห้องพักในโรงแรมที่มีเครือข่ายมากที่สุดในโลก ในเรื่องการทำตลาดด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นขอไม่ให้ Agoda กดราคาห้องพักกับผู้ประกอบการ และอยากให้เป็นอิสระตามกลไกตลาด หลังจากที่ผ่านมาพบว่า Agoda มีข้อตกลงกับผู้ประกอบการโรงแรมว่า ผู้ที่จะมาอยู่ในลิสต์รายชื่อให้บริการเช่าห้องพักผ่านเว็บไซต์นั้น ต้องมีการตั้งราคาที่ Agoda ให้ถูกที่สุดเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างด้านราคาโดยรวม

พร้อมกับจะหารือเรื่องตลาดสอบรายชื่อของห้องพักในกลุ่มโรงแรมผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะขอความร่วมมือ Agoda ให้พิจารณาเลือกเฉพาะโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเข้าไว้ในระบบ

แม้ว่าแนวความคิดของเจ้ากระทรวงดูจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่พักในประเทศไทย หากแต่สิ่งที่ภาครัฐต้องคำนึงและทำความเข้าใจอย่างแรกคือ บรรดาโรงแรมที่เข้าไปอยู่ในระบบฐานข้อมูลของ Agoda นั้นต่างเป็นไปด้วยความสมัครใจ นอกจากนี้ยังต้องเสียค่า Commission จากการ booking ของลูกค้าที่ใช้บริการห้องพักอีกด้วย

สำหรับในเรื่องการเลือกผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่ถูกกฎหมายเข้ามาในระบบของ Agoda นั้น แม้ว่าสิ่งที่ภาครัฐนำเสนอต่อกรณีที่เว็บไซต์ Agoda ควรจะเลือกโรงแรมที่พักที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย หากแต่แท้จริงแล้วเมื่อวิเคราะห์อย่างเป็นธรรม หน้าที่ที่จะต้องกำกับดูแลและควบคุม รวมไปถึงตรวจสอบความถูกต้องของการประกอบธุรกิจของโรงแรมต่างๆ นั้น คงไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเว็บไซต์บริการจองที่พักใดก็ตาม หากแต่ต้องเป็นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยที่ต้องใส่ใจดูแล เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ดีกว่าวัวหายล้อมคอกภายหลัง

กระนั้นการเจรจาระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้ให้บริการเว็บไซต์ Agoda แม้ว่าจะไม่ได้เกิดจากกรณีพิพาทร้ายแรงอะไรนัก แต่น่าจะได้บทสรุปที่น่าจะเป็นที่พอใจและยอมรับได้ของทุกฝ่าย ขณะที่กรณีของ Uber ผู้ที่เรียกตัวเองว่า “ผู้ให้บริการร่วมเดินทาง หรือ Ride-sharing” ดูจะเป็นปัญหาใหญ่กว่าหลายเท่านัก

นับตั้งแต่ที่ Uber เปิดให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 และได้รับความสนใจจากผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้โดยสารไม่ต้องประสบปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร ที่กลายเป็นปัญหาคุ้นชินกับแท็กซี่ไทย

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือรูปแบบการให้บริการที่ Uber นำเข้ามาในประเทศไทยนั้นยังไม่มีกฎหมายไทยรองรับ แม้ว่าไทยจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพรั่งพร้อมไปด้วยอุปกรณ์อันทันสมัย หากแต่ในแง่มุมของกฎหมายกลับยังไม่ได้ถูกพัฒนาให้เท่าทันหรือรองรับการเติบโตของพัฒนาการที่กำลังทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

การขยายตัวของผู้ขับขี่ Uber ในไทยกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และได้รับกระแสนิยมจากผู้บริโภค กระทั่งส่งผลต่อรายได้ของแท็กซี่ ที่อาจมองว่าผู้ขับ Uber เข้ามาแย่งผู้โดยสารและทำให้รายได้ลดลง กระทั่งวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่ออาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหารถแท็กซี่ผิดกฎหมาย ในเรื่องการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการเป็นรถสาธารณะ แม้ว่าเครือข่ายสหกรณ์จะไม่ได้ต่อต้านการนำ Application มาใช้ แต่ต้องการให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องการหารือกับผู้บริหาร Uber ถึงกรณีพิพาทดังกล่าวและขอให้ Uber หยุดให้บริการในช่วงเวลาที่ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำระบบบริการร่วมเดินทางมาใช้ ซึ่งระยะเวลาศึกษาในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะอยู่ระหว่าง 6 เดือน ถึง 1 ปี จึงจะได้ข้อสรุป

กระนั้น เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายรัฐสัมพันธ์สื่อสารองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (อูเบอร์) บอกเล่าเหตุผลของการเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยว่า “ภาคเอกชนมีความมุ่งหมายที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย และเป้าหมายด้านรายได้จะเป็นปัจจัยหลักสำคัญ หากแต่การเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดี ทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นตัวเลือกใหม่ให้กับสภาพปัญหาในปัจจุบัน”

ก่อนจะบอกความคิดเห็นกรณีการถกเถียงปัญหาที่จะเป็นทางออกระหว่าง Uber และผู้ขับขี่แท็กซี่เดิมว่า “เห็นด้วยกับกรณีที่ให้มีการศึกษาความเหมาะสมร่วมกัน หากแต่ไม่มีการรับปากว่าจะยุติการให้บริการ และยังจะเดินหน้าให้บริการต่อไป เพราะอูเบอร์ไม่ได้ผิดกฎหมาย เพียงแต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ” ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า ในภูมิภาคอาเซียนมีกฎหมายที่ออกมาอย่างเป็นทางการรองรับการบริการร่วมเดินทางแล้ว ในประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ขณะที่ประเทศเวียดนามกำลังทดลองประโยชน์ของบริการร่วมเดินทางและศึกษาในเชิงของบริการ ผลที่ส่งต่อเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังมีเมียนมาร์ และกัมพูชา เชิญชวนอูเบอร์เข้าไปให้บริการ และกำลังศึกษาเรื่องกฎหมายก่อนที่จะให้บริการอีกด้วย”

ขณะที่รายได้ของผู้ขับขี่ Uber นั้นเอมี่ อธิบายว่า 75-80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ จะอยู่ในมือของคนไทย คืออยู่ในระบบเศรษฐกิจของไทย และ อีก 20-25 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าบริการที่ Uber เรียกจากผู้ใช้ Application

แม้ว่าทั้งกรณีของ Agoda และ Uber จะถูกภาครัฐพิจารณาความถูกต้องในด้านกฎหมาย หากแต่ทั้งสอง Application กลับเป็นที่ถูกใจคนไทยที่เป็นผู้บริโภค เมื่อมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นในด้านการให้บริการ ทั้งเรื่องบริการจองห้องพัก และตัวเลือกในด้านการขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น

สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายจะต้องตระหนักคือ หากจะก้าวข้ามขีดการพัฒนาเพื่อให้ไทยพร้อมและเข้าสู่การเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ยุคที่อุดมไปด้วยนวัตกรรมอันทันสมัย ทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องก้าวออกจาก Comfort Zone และยึดจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน คือ การพัฒนา

ใส่ความเห็น