วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > “โออาร์” ต่อยอดความสำเร็จของ Café Amazon เปลี่ยนปั๊มน้ำมัน สู่ All Lifestyles in One Place

“โออาร์” ต่อยอดความสำเร็จของ Café Amazon เปลี่ยนปั๊มน้ำมัน สู่ All Lifestyles in One Place

จากร้านแรกที่เปิดตัวเมื่อปี 2545 ปัจจุบัน “คาเฟ่ อเมซอน” Café Amazon กิจการร้านกาแฟของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กลายเป็นแบรนด์ร้านกาแฟอันดับ 1 ของไทย ด้วยจำนวนสาขากว่า 4,000 สาขา ใน 10 ประเทศ และเป็นร้านกาแฟที่มีสาขามากเป็นอันดับ 6 ของโลก ที่สำคัญการเติบโตดังกล่าวยังถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดธุรกิจไลฟ์สไตล์ของโออาร์ที่น่าจับตา

ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา “โออาร์” จัดงาน “Inclusive Growth Days empowered by OR” งานใหญ่แห่งปีที่ฉายภาพทิศทางใหม่ในการดำเนินธุรกิจของโออาร์จากรูปแบบเดิมสู่การเป็น “Inclusive Growth Platform” การดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนธุรกิจทุกขนาด ทุกรูปแบบ ทั้งขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และสตาร์ตอัป ให้เติบโตไปด้วยกัน โดยใช้ Asset ทางธุรกิจที่โออาร์สั่งสมมากว่า 40 ปี

ซึ่งวิถีใหม่แห่งการดำเนินธุรกิจของโออาร์ครั้งนี้จะอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Empowering All toward Inclusive Growth” หรือ “เติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” ผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก คือ

The Future of Seamless Mobility – พลิกโฉมธุรกิจพลังงานและการเคลื่อนที่

All Lifestyles in One Place – ตอบโจทย์ทางเลือกการใช้ชีวิตในอนาคต ทั้งอาหาร สุขภาพ และการท่องเที่ยว

Global Market Opportunities – ขยายธุรกิจสู่ตลาดโลกและปรับเปลี่ยนรูปแบบการเข้าลงทุนให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศเป้าหมายที่แตกต่างกัน

OR Innovation – นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน สร้างตลาดใหม่ด้วยการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในบรรดา 4 กลยุทธ์หลักข้างต้น สิ่งที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือการขยายธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม หรือที่โออาร์เรียกว่า “ธุรกิจไลฟ์สไตล์” เพราะช่วงที่ผ่านมาเรามักเห็นความเคลื่อนไหวจากฝั่งโออาร์ในการขยายธุรกิจค้าปลีกมาอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญยังเป็นการพลิกโฉมจากสถานีบริการน้ำมันสู่การเป็น “All Lifestyles in One Place” อันมีจุดกำเนิดมาจากความสำเร็จของร้านกาแฟอย่าง “คาเฟ่ อเมซอน” นั่นเอง

“คาเฟ่ อเมซอน” เป็นกิจการร้านกาแฟของโออาร์ที่เปิดดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 20 ปี โดยสาขาแรกเปิดตัวในปี 2545 ในปั๊มน้ำมัน ปตท. ของ หจก. ศรีเจริญภัณฑ์ ถนนวิภาวดี ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ยังไม่มีธุรกิจเสริมเท่าใดนัก และในตอนต้นขายได้เพียงไม่กี่สิบแก้วต่อวัน

จากร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันที่มีไว้บริการผู้เดินทาง แต่ปัจจุบัน คาเฟ่ อเมซอน สามารถขยายสาขาไปได้กว่า 4,000 สาขา ใน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และโอมาน ซึ่งมีทั้งในรูปแบบที่โออาร์บริหารเองและในส่วนที่เป็นแฟรนไชส์ ขึ้นแท่นแบรนด์ร้านกาแฟที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 6 ของโลก

สมยศ คงประเวช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก โออาร์ เปิดเผยว่า “การเติบโตของคาเฟ่ อเมซอน ถือเป็นความสำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจให้โออาร์ตั้งเป้าขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์ เพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคโดยไม่จำกัดอยู่เพียงสถานีบริการน้ำมันเท่านั้น”

โดยโออาร์มีแผนขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์แบบครบวงจรเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคแบบ One-stop Solution for All Lifestyle ที่ไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่จะขยายให้ครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ด้านต่างๆ ของผู้บริโภค ทั้งท่องเที่ยว สุขภาพ และบริการต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่โดยไม่ยึดติดกับสถานที่ภายใต้แนวคิด To Go/To Home/To Chill

การรุกธุรกิจไลฟ์สไตล์ของโออาร์นั้นจะดำเนินการผ่านทั้งดำเนินธุรกิจเองและร่วมมือกับแบรนด์อื่นๆ โดยใช้ Asset ของโออาร์ ไม่ว่าจะเป็นด้านพื้นที่ การบริหารงาน ความเชี่ยวชาญในการทำการตลาด และการขยายฐานลูกค้า เพื่อเข้าไปช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับพันธมิตร ผ่านแคมเปญ “โออาร์ คือ โอกาส” ดังที่เห็นมีความเคลื่อนไหวออกมาเป็นระยะ ซึ่งพอจะไล่เรียงได้ดังนี้

ปี 2558 บุกตลาดฟาสต์ฟู้ดไทยด้วยการจับมือกับแบรนด์ไก่ทอดระดับท็อปทรีของโลกอย่าง “เท็กซัสชิคเก้น (Texas Chicken)” ชิงส่วนแบ่งจาก 2 เจ้าตลาดใหญ่ทั้ง “เคเอฟซี” และ “แมคโดนัลด์” โดยปัจจุบัน เท็กซัส ชิคเก้นขยายสาขาทั้งในพีทีที สเตชั่น, ศูนย์การค้า, คอมมูนิตี้ มอลล์ และสแตนด์อโลนอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ปี 2564 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่มีความเคลื่อนไหวออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เริ่มจากการเข้าถือหุ้น 20% ใน “บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด” เจ้าของร้านสลัดชื่อดัง “โอ้กะจู๋” ด้วยงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท นั่นทำให้โอ้กะจู๋สามารถขยายสาขามาเปิดในพีทีที สเตชั่น เพิ่มมากขึ้น รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ Grab & Go วางจำหน่ายในร้านคาเฟ่ อเมซอนได้ อีกทั้งยังใช้ความเชี่ยวชาญของคาเฟ่ อเมซอน ด้านโลจิสติกส์มาใช้พัฒนาธุรกิจของโอ้กะจู๋ได้อีกด้วย

เข้าลงทุนในบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ “Flash Express” ต่อยอดธุรกิจรับส่งพัสดุ “Flash Express Drop Off ส่งง่าย ส่งไว ทั่วไทย ที่ Cafe Amazon” เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ

ต่อด้วยการเข้าลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัป โดยการจับมือกับกองทุน 500 Startups หรือ 500 TukTuks จัดตั้งกองทุน “ออร์ซอน เวนเจอร์ส” (ORZON Ventures, L.P.) ด้วยงบลงทุนรวมกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัปใหม่ๆ ที่ดำเนินธุรกิจในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโออาร์และธุรกิจแนว Mobility & Lifestyle

โดยข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2565 ระบุว่า “ออร์ซอน เวนเจอร์ส” ได้มีการลงทุนในสตาร์ตอัป 5 รายแรก ได้แก่ 1. Pomelo แพลตฟอร์มและแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2. Carsome แพลตฟอร์มซื้อ-ขายรถยนต์มือสองออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการนำเสนอบริการแบบครบวงจร 3. GoWabi แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการด้านความงามและสุขภาพ 4. Protomate ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยี AI ที่นำมาพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมด้านการเดินทาง และสุดท้าย 5. Freshket สตาร์ตอัปไทยที่ให้บริการธุรกิจห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร (Food Supply Chain Service) จัดหา นำเข้า และจัดจำหน่ายวัตถุดิบสำหรับลูกค้าร้านอาหาร โรงแรม และผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังเพิ่มพอร์ตธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยการเข้าถือหุ้นใน “บริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน จำกัด” ผู้ให้บริการร้านอาหาร KOUEN และ “บริษัท คามุ คามุ จำกัด” ผู้ให้บริการร้าน KAMU KAMU อีกแห่งละ 25%

มิถุนายน 2565 โออาร์ประกาศจับมือกับบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (KNX) ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าแบบอุตสาหกรรม รวมถึงประกอบกิจการร้านสะดวกซัก ภายใต้แบรนด์ “อ็อตเทริ วอชแอนด์ดราย – Otteri wash & dry” ซึ่งถือเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในธุรกิจร้านสะดวกซัก เป็นการรุกเข้าสู่ธุรกิจร้านสะดวกซักของโออาร์ด้วยวงเงินกว่า 1,105 ล้านบาท

ในช่วงเวลาเดียวกันโออาร์ยังรุกธุรกิจไลฟ์สไตล์ไปอีกขั้น ด้วยการเปิดตัว “ปิ่นโตปั๊ม” บริการสั่งอาหารจากร้านค้าภายในปั๊ม ด้วยตัวเลือกร้านค้าที่หลากหลายรวมอยู่ในจุดเดียว โดยลูกค้าสามารถเลือกสั่งได้ทั้งใน Line ปิ่นโตปั๊ม (Line @pintopump) หรือ แอปพลิเคชัน QueQ ซึ่งมีทั้งรูปแบบเดลิเวอรีและรับเองที่หน้าร้าน ตอบโจทย์ลูกค้าที่แวะเติมน้ำมัน แต่ไม่อยากรอคิวในการสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่ม

ล่าสุดกรกฎาคม 2565 โออาร์ขยายสู่ธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยการลงนามสัญญาความร่วมมือกับ Traveloka ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับการค้นหา จอง ชำระเงินสำหรับตั๋วเครื่องบิน ที่พัก การเดินทาง และไลฟ์สไตล์ต่างๆ

และที่สำคัญปลายปีนี้โออาร์จะเปิดตัว Community Space แฟล็กชิปแห่งความ All Lifestyles in One Place ที่แรกของโออาร์ ภายในบริเวณวิภาวดี 62 โดยพื้นที่ทั้งหมดจะแบ่งเป็นพื้นที่บริการน้ำมันเพียง 30% และอีก 70% เป็นส่วนของไลฟ์สไตล์ ที่รวบรวมร้านอาหาร เครื่องดื่ม และบริการไว้ครบถ้วน

ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวในการรุกธุรกิจไลฟ์สไตล์ของโออาร์ที่เรียกได้ว่าเดินหน้าเต็มกำลัง และหลังจากนี้น่าจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นทำให้ภาพของปั๊มน้ำมันแบบเดิมของโออาร์กำลังจะเปลี่ยนโฉมสู่ความเป็น All Lifestyles in One Place ที่เห็นภาพชัดเจนได้ในอีกไม่นาน.

ใส่ความเห็น