วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > “แบรนด์เนมมือสอง” บูม พลิกสมรภูมิธุรกิจใหม่

“แบรนด์เนมมือสอง” บูม พลิกสมรภูมิธุรกิจใหม่

การพลิกกลยุทธ์ของโรงรับจำนำยี่ห้อเก่าแก่กว่า 40 ปี “ปิ่นคู่” ทั้งการสร้างภาพลักษณ์ใหม่และดึงร้านแบรนด์เนมมือสองยักษ์ใหญ่ชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น Brand Off Tokyo เข้ามาเปิดร้าน Brand Off Tokyo by Money Cafe แฟล็กชิปสโตร์แห่งแรกในประเทศไทย ระดมสินค้ามากกว่า 300 ไอเท็ม ทั้งกระเป๋า นาฬิกา จิวเวลรี ที่พร้อมการันตีเรื่องคุณภาพและราคา ถือเป็นจุดเปลี่ยนจากธุรกิจโรงรับจำนำแบบเดิมสู่ Lifestyle Pawn Shop และเร่งสมรภูมิการแข่งขันธุรกิจแบรนด์เนมมือสองแนวใหม่รุนแรงมากขึ้น

แน่นอนว่า หากพูดถึงแหล่งซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองยอดฮิตของเหล่านักชอปแบบเดิมๆ ทุกคนต้องไปตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เนื้อที่ขนาดใหญ่กว่า 66 ไร่ และรวบรวมสินค้ามากมายมหาศาล จัดแบ่งเป็นโซนหลักๆ ตั้งแต่โซนรองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้า แต่มีข้อเสีย คือมีทั้งของแท้และของก๊อบผสมกันจนแยกไม่ออก ทำให้ต้องใช้ทักษะและความชำนาญในการคัดสินค้า

หรือจะเป็นตลาดขายสินค้ามือสองที่เจ้าของนำมาขายเอง ซึ่งมีทั่วไปตามตลาดนัดทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดจตุจักร (JJ) ตลาดรถไฟ ตลาดนัดเลียบด่วน ตลาดหัวมุม ตลาดนกฮูก ตลาดนัดเมืองทองธานี รวมถึงงานมหกรรมสินค้าแบรนด์เนมมือสองต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของพ่อค้าแม่ค้ามืออาชีพและดาราเซเลบริตี้

นอกจากนี้ มีเพจขายของแบรนด์เนมออนไลน์ใน IG/Facebook/line ซึ่งเป็นอีกตัวเลือกของคนรุ่นใหม่ เช่น Dearbrandshop, Missbrandname_thonglor, Brandname_society, Famousbag และ Phudluxury (Grease House) แต่มีข้อเสีย คือไม่ได้สัมผัสสินค้าและต้องตัดสินใจซื้อจากการซูมภาพสินค้าไม่กี่ภาพ

ส่วนกลุ่มที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมมากขึ้น คือกลุ่มร้านแบรนด์เนมมือสองที่เปิดตัวมากขึ้นในย่านทองหล่อ สยาม เซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งสินค้าเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยม ทั้งกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ แว่นกันแดด ราคาสูงแต่สภาพสินค้าดีกว่า 90% เช่น ร้าน Dearbrandshop, issbrandname_thonglor, Brandname_society, Famousbag และ Phudluxury (Grease House) ถือเป็นร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือสองที่มีกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงและกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่เป็นขาประจำจำนวนมาก

แหล่งต่างๆ เหล่านี้สะท้อนการเติบโตของตลาดสินค้ามือสองอย่างชัดเจน ทั้งการซื้อและขายสินค้า โดยเฉพาะการอัพเกรดจากสินค้าธรรมดาทั่วไปเป็นสินค้าแบรนด์เนมราคาตั้งแต่ระดับหลายหมื่นบาทจนถึงหลายแสนบาท

ชูศักดิ์ ตั้งเลิศสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มันนี่ คาเฟ่ จำกัด กล่าวว่า โรงรับจำนำปิ่นเกล้าคู่ขนานลอยฟ้า ของครอบครัวถือเป็นโรงรับจำนำที่ดำเนินธุรกิจยาวนานกว่า 40 ปี ตั้งอยู่บนถนนบรมราชชนนี ซึ่งในฐานะทายาทรุ่นที่ 2 ได้เข้ามาปรับโฉมทั้งภาพลักษณ์ ตัวอาคาร และการให้บริการแบบ “Lifestyle Pawn Shop” พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โรงรับจำนำมันนี่คาเฟ่ ปิ่นคู่” เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการโรงรับจำนำเป็นกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์แบบคนรุ่นใหม่มากขึ้น เช่น กลุ่มนักธุรกิจที่ประกอบกิจการ SME กลุ่มวัยรุ่นที่มีความต้องการทางการเงินที่รวดเร็ว และกลุ่มพนักงานบริษัทระดับผู้จัดการขึ้นไป

ขณะเดียวกัน การปรับเปลี่ยนชื่อและภาพลักษณ์ใหม่สามารถล้างภาพโรงรับจำนำแบบเก่าๆ ทำให้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ กล้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เพราะถือเป็นช่องทางการเข้าถึงเงินทุนอีกแหล่งหนึ่ง

ที่สำคัญ มีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเข้ามาเลือกชมและซื้อสินค้าที่หลุดจำนำมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมราคาแพง เช่น นาฬิกา กระเป๋า

จากธุรกิจโรงรับจำนำของครอบครัว “มันนี่คาเฟ่” จึงต่อยอดแตกไลน์ธุรกิจสินค้าแบรนด์เนมมือสอง โดยเจรจาดึง Brand Off Tokyo ร้านซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าแบรนด์เนมมือสองรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีสาขากว่า 50 แห่งทั่วประเทศและมีสาขาในฮ่องกง 8 สาขา ไต้หวันอีก 4 สาขา เข้ามาเปิดแฟล็กชิปสโตร์แห่งแรกในเมืองไทย ย่านสยามสแควร์ซอย 3 ภายใต้ชื่อ Brand Off Tokyo by Money Cafe เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น และวัยเริ่มต้นทำงานที่ต้องการสินค้าแบรนด์เนมในราคาคุ้มค่า

สำหรับกลุ่ม Brand Off Tokyo ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมานานกว่า 25 ปี ติด 1 ใน 3 ร้านรับซื้อขาย แลกเปลี่ยนของมือสองที่เก่าแก่และมีสาขาจำนวนมาก รวมทั้งอยู่ในสมาคม AACD (The Association Against Counterfeit Product Distribution) ต่อต้านและป้องกันสินค้าเลียนแบบ ใช้ระบบการรับซื้อสินค้าเฉพาะตัว มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญประจำการตัดสินใจจัดราคารับซื้อขายสินค้าและระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า แบ่งคุณภาพสินค้าตามการใช้งาน

เช่น N หมายถึงสินค้ายังใหม่ S หมายถึงสภาพเหมือนใหม่ A หมายถึงผ่านการใช้งานเล็กน้อย สภาพดี มีรอยบ้าง B หมายถึงสภาพการใช้งานพอควร และ C หมายถึงสภาพการใช้งานมานาน

ชูศักดิ์กล่าวว่า การเปิดร้าน Brand Off Tokyo by Money Cafe สาขาแรกใช้เงินลงทุนรวม 100 ล้านบาท แบ่งเป็นเฟสแรก เปิดชั้น 1–2 มีสินค้าประมาณ 300 เอสเคยู สินค้าแบรนด์เนมประเภทกระเป๋า 35% จิวเวลรี 35% เครื่องประดับต่างๆ นาฬิกา 30% ราคาเริ่มต้น 10,000–1,000,000 บาท ซึ่งแบรนด์กระเป๋าที่ได้รับความนิยมจากคนไทย คือ Chanel, Louis Vitton , Hermes, Balenciaga

ส่วนเฟส 2 จะเปิดประมาณเดือนตุลาคม 2561 ชั้น 3–4 เป็นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมมือสองที่เน้นกลุ่มลูกค้าวัยทำงาน เริ่มต้นราคาไม่สูงมากนัก เช่น Longchamp และ Paul Smith นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น 30% และมาจากในประเทศไทย 70%

ซึโตมุ ยาซุยาม่า ประธานบริหารแบรนด์ออฟโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ทางกลุ่มเห็นศักยภาพตลาดแบรนด์เนมมือสองในประเทศไทย มีการเติบโตและมีความต้องการ เนื่องจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นจำนวนมาก ทั้งจากจีน ฮ่องกง และไทย ซึ่งเป้าหมายหนึ่งคือการมาซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือสอง โดยร้าน Brand Off Tokyo ในประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมาซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือสองเป็นคนจีน 70% และคนไทย 10%

ส่วนการรุกตลาดประเทศไทยคาดว่า ปี 2562 จะเปิดร้านอีก 2 สาขา ขนาดพื้นที่ 50–100 ตารางเมตร เน้นพื้นที่ย่านการค้าและศูนย์การค้า งบลงทุนสาขาละ 50 ล้านบาท และตั้งเป้าเปิดครบ 6 สาขาภายใน 5 ปี ขณะที่เป้ารายได้ปีแรกของ Brand Off Tokyo by Money Cafe อยู่ที่ 80 ล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี รวมทั้งทางกลุ่มญี่ปุ่นยังวางแผนขยายธุรกิจไปประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา

หากประเมินทั้งศักยภาพการเติบโตและการรุกเข้ามาของผู้เล่นต่างชาติ ซึ่งล่าสุด เครือสหพัฒน์เพิ่งประกาศจับมือกับ Komehyo ร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง อันดับ 1 ในญี่ปุ่น เพื่อบุกธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือ 2 ในประเทศไทย โดยจะผุดสาขาแรกภายในต้นปีหน้า

จับคู่เฉพาะ 2 ยักษ์ญี่ปุ่น สมรภูมิแบรนด์เนมมือสองยกแรก ดุเดือดแน่

 

ย้อนรอยโรงตึ๊งแห่งแรก ย่านประตูผี

การรับจำนำในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณในรัชสมัยพระบรมโกศ กรุงศรีอยุธยา ตามพระราชกำหนดที่ออกในปี 2234 กำหนดให้การรับจำนำกระทำในเวลากลางวัน ให้จำนำกันแต่คนที่รู้จักกันดี ไม่ได้มีการตั้งโรงรับจำนำทั่วไป

กระทั่งปี 2409 ชาวจีน ชื่อ ฮง แซ่เบ๊ ตั้งโรงรับจำนำแห่งแรกในประเทศไทย ย่านประตูผี ถนนบำรุงเมือง ชื่อร้านโรงรับจำนำย่องเซี้ยง ข้างวัดเทพธิดาราม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงรับจำนำสำราญราษฎร์” เริ่มแรกคิดดอกเบี้ยเพียง 1 เฟื้อง (12 .5 สตางค์) จากเงินต้น 1 ตำลึง (4 บาท)

ปี 2411 มีการตราพระราชบัญญัติ กำหนดไม่ให้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าชั่งละ 1 บาท หรือ 1.25% ต่อเดือน

เมื่อโรงรับจำนำของจีนฮงได้รับความนิยมมาก จึงมีผู้เปิดโรงรับจำนำตามจีนฮงอีกหลายสิบโรง ธุรกิจโรงรับจำนำจึงบูมมากๆ ในปี 2433 มีโรงรับจำนำในกรุงเทพ ฯ ถึง 200 โรง การตั้งโรงรับจำนำสมัยนั้นไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้รัฐบาล

ปี 2438 (ร.ศ.114) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโรงรับจำนำรัตนโกสินทร์ศก 114 และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2438 กำหนดให้ผู้ที่จะตั้งโรงรับจำนำต้องขออนุญาต มีการกำหนดค่าธรรมเนียม และระยะเวลาการใช้ใบอนุญาต กำหนดเวลาจำนำและไถ่ถอน กำหนดให้จัดทำตั๋วจำนำและบัญชีเป็นหลักฐาน พร้อมกำหนดอัตราดอกเบี้ยจำนำ เงินต้นไม่เกิน 1 บาท คิดดอกเบี้ย 3 อัฐ ต่อ 1 เดือน ถ้าเงินต้นเกิน 50 บาทแต่ไม่เกิน 400 บาท คิดดอกเบี้ยบาทละ 2 อัฐต่อ 1 เดือน การไถ่ของกำหนดภายใน 3 เดือน หากเทียบอัตรา 64 อัฐเป็น 1 บาท ดังนั้น 3 อัฐ เท่ากับ 1.56%

โรงรับจำนำแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งขึ้นถูกต้องตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ร.ศ.114 ชื่อ “ฮั้วเส็ง” ก่อตั้งโดยเล็ก โทณวณิก

ต่อมาทางการยกเลิกพระราชบัญญัติ ร.ศ.114 และตราพระราชบัญญัติใหม่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2481 ให้ใช้วิธีประมูลตั้งโรงรับจำนำทุกๆ 5 ปี เพราะไม่ต้องการให้มีมากจนเกินไป

สำหรับโรงรับจำนำของรัฐจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2498 ในสมัย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ปี 2505 รัฐบาลตราพระราชบัญญัติโรงรับจำนำฉบับใหม่ กำหนดจำนวนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย การอนุญาต คุณสมบัติของผู้รับอนุญาต และบทกำหนดโทษ

ปี 2517 รัฐบาลออกพระราชบัญญัติโรงรับจำนำใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเน้นการลงหลักฐานของผู้จำนำ ป้องกันการจำนำทรัพย์ที่ได้มาโดยทุจริต

ปี 2526 มีการออกพระราชบัญญัติโรงรับจำนำอีกครั้ง มุ่งช่วยเหลือประชาชนที่นำทรัพย์มาจำนำแล้วหลุดจำนำโดยเจ้าของไม่ตั้งใจ หาเงินมาไถ่ไม่ทัน หรือขาดการส่งดอกเบี้ย จึงขยายเวลา หรือหลักเกณฑ์ ซึ่งใช้บังคับมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันธุรกิจโรงรับจำนำแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ โรงรับจำนำของเอกชนในรูปธุรกิจแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงรับจำนำที่ดำเนินกิจการโดยกรมประชาสงเคราะห์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2498 เริ่มแรกใช้ชื่อว่า “โรงรับจำนำของรัฐ” และเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานธนานุเคราะห์” เมื่อปี 2500

ประเภทสุดท้าย โรงรับจำนำที่ดำเนินกิจการโดยเทศบาล เรียกว่า “สถานธนานุบาล” เปิดแห่งแรกที่เทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อปี 2503

อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป โรงรับจำนำของเอกชนมีการปรับลุคใหม่และแตกไลน์เป็นร้านรับซื้อแลกเปลี่ยนสินค้าแบรนด์เนม เจาะขยายฐานลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่และเพิ่มมาร์จินสร้างรายได้มากขึ้น

ใส่ความเห็น