วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > “เซ็น” รุกเกมก้าวกระโดด จาก “จิราธิวัฒน์” สู่ “มหาชน”

“เซ็น” รุกเกมก้าวกระโดด จาก “จิราธิวัฒน์” สู่ “มหาชน”

30 ปีก่อน สุทธิเดช จิราธิวัฒน์ น่าจะรับรู้แนวโน้มความนิยมอาหารญี่ปุ่นของคนไทย จนตัดสินใจลงทุนเงินส่วนตัวเปิดกิจการร้านอาหารญี่ปุ่น “ZEN” บุกเบิกตลาดเจแปนนีสฟู้ดในประเทศไทย กระทั่งพัฒนาสู่การเป็นผู้ให้บริการร้านอาหาร (Food Service) มีแบรนด์ในเครือ 12 แบรนด์ ผุดสาขามากถึง 255 สาขา และล่าสุดกำลังเดินหน้านำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขายหุ้นไอพีโอไม่เกินไตรมาสแรกปีนี้ เพื่อเปิดเกมก้าวกระโดดผลักดันรายได้สู่หลักหมื่นล้านบาทให้ได้ภายในปี 2565

ดูเหมือนว่า การขยายธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้นเกิดขึ้นชัดเจนเมื่อสุทธิเดชส่งต่อกิจการให้ลูกชายและลูกสาว คือ สรรคนนท์ และ จอมขวัญ จิราธิวัฒน์ เข้ามาสานต่อธุรกิจแบบเต็มตัว โดยอาศัยความเป็นคนรุ่นใหม่วางแผนดำเนินงานรับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ของกลุ่มเป้าหมาย พร้อมๆ กับการดึงมืออาชีพเข้ามาสร้างกลยุทธ์สู้ศึกร้านอาหารที่แข่งขันรุนแรงมากขึ้น

โดยเฉพาะปี 2561 สรรคนนท์ประกาศดึง บุญยง ตันสกุล อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลุยแผนขยายแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้แต่งตัวก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อปูทางสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมร้านอาหาร ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศแต่ยังมองไกลไปถึงต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ หากมองเส้นทางของกลุ่มอาหารเซ็น จากร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN สาขาแรกเมื่อปี 2534 และเติบโตต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านปิ้งย่าง อากะ (AKA) ในปี 2550 ร้านอาหาร ออน เดอะ เทเบิ้ล (on the table) ในปี 2553 จนกระทั่งเริ่มรุกเข้าสู่กลุ่มร้านอาหารไทย โดยซื้อกิจการร้านตำมั่วเมื่อปี 2559 เพื่อสร้างฐานรายได้และเจาะลูกค้ากลุ่มใหม่

ขณะเดียวกัน เมื่อกระแสอาหารญี่ปุ่นแรงไม่ตก ทำให้บริษัทยังเปิดเกมสร้างแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น ทั้งร้านซูชิ ชู (Sushi Cyu) และร้านมูชะ บาย เซ็น (Musha) รวมทั้งหาโอกาสการเจาะทุกช่องว่างการตลาด

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN กล่าวว่า กลุ่มบริษัทมีจุดเด่นด้านการเป็น Food Services อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ได้มีเพียงธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจแฟรนไชส์เท่านั้น แต่ครอบคลุมธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการและเข้าถึงไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายอย่างครอบคลุมทุกระดับ

ปัจจุบัน ZEN แยกธุรกิจหลักเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Delivery) และบริการจัดเลี้ยง (Catering) ธุรกิจให้บริการบริหารร้านอาหาร (Restaurant Management) และบริการที่ปรึกษาเกี่ยวกับร้านอาหาร (Restaurant Consultancy) และธุรกิจอาหารค้าปลีก (Retail Business) เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง (Ready-to-Cook) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) ซึ่งเป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากการจำหน่ายในร้านอาหารมาต่อยอดเพื่อวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป

สำหรับธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจแฟรนไชส์ เป็น 2 กลุ่มที่เชื่อมโยงกันจากแบรนด์ร้านอาหารภายใต้การดำเนินงานทั้ง 12 แบรนด์ ประกอบด้วย กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ ได้แก่ ZEN ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม (Authentic Japanese Food) เน้นเจาะลูกค้ากลุ่มครอบครัวและคนทำงานที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงสูง ยอดบิลเฉลี่ยต่อคนต่อครั้งประมาณ 450 บาท ล่าสุดเปิด 43 สาขา

มูชะ (Musha by ZEN) ร้านอาหารญี่ปุ่นแนวใหม่ เน้นจับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ลูกค้าวัยเริ่มต้นทำงาน กลุ่มครอบครัว และผู้บริโภคที่ต้องการรับประทานอาหารพร้อมเสิร์ฟ หรืออาหารจานด่วน ยอดบิลเฉลี่ย 150 บาท ล่าสุดเปิดแล้ว 4 สาขา

ซูชิ ชู (Sushi Cyu Carnival Yakiniku) ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบพรีเมียม เน้นลูกค้าผู้ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นที่มีกำลังซื้อสูง กลุ่มบริษัท ผู้มีรสนิยมสูง ยอดบิลเฉลี่ยต่อครั้งต่อคน 1,600 บาท ล่าสุดเปิด 3 สาขา

อากะ (AKA) ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น (Yakiniku) เน้นกลุ่มลูกค้าวัยทำงาน กลุ่มเพื่อนและครอบครัวรุ่นใหม่ ยอดบิลเฉลี่ย 500 บาท ล่าสุดมีจำนวนสาขา 18 ร้าน โดยเป็นสาขาแฟรนไชส์ 1 สาขา

เท็คซึ (Testu) ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่นแบบพรีเมียม รองรับลูกค้าที่ชื่นชอบอาหารที่ใช้วัตถุดิบระดับพรีเมียม ยอดบิลต่อคนต่อครั้งอยู่ที่ 1,600 บาท ล่าสุดเปิด 1 สาขา และ On the Table Tokyo Cafe ร้านอาหารประเภทไลฟ์สไตล์ จับลูกค้ากลุ่มเพื่อน กลุ่มพนักงานออฟฟิศ และครอบครัวคนรุ่นใหม่ ยอดบิลเฉลี่ย 380 บาทต่อคนต่อครั้ง ปัจจุบันมี 19 สาขา โดยเป็นสาขาแฟรนไชส์ 1 แห่ง

อีกกลุ่มแบรนด์ คือ กลุ่มร้านอาหารไทย ล่าสุดมี 6 แบรนด์ โดยมี 3 แบรนด์ที่จับกลุ่มครอบครัวและคนทำงานที่มีรายได้ระดับปานกลาง ได้แก่ ตำมั่ว ร้านอาหารไทย-อีสาน ยอดบิลต่อคนต่อครั้งเฉลี่ย 250 บาท ปัจจุบันมีสาขารวม 118 แห่ง แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของ 13 แห่ง และสาขาแฟรนไชส์ 105 แห่ง

ลาวญวน ร้านอาหารไทย-อีสานและเวียดนาม ยอดบิลเฉลี่ย 300 บาท ปัจจุบันมี 24 สาขา แบ่งเป็นสาขาของบริษัท 6 แห่ง และสาขาแฟรนไชส์ 18 แห่ง และแจ่วฮ้อน ร้านอาหารประเภทสุกี้ลาวหรือจิ้มจุ่ม ยอดบิลเฉลี่ย 350 บาท ปัจจุบันเปิดแล้ว 13 สาขา แยกเป็นสาขาของบริษัท 4 แห่ง และสาขาแฟรนไชส์ 9 แห่ง

ส่วนร้านเฝอ แบรนด์ก๋วยเตี๋ยวสไตล์เวียดนาม จับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา วัยเริ่มต้นทำงาน ครอบครัว และลูกค้าที่ต้องการรับประทานอาหารแบบเร่งด่วน ยอดบิลเฉลี่ย 120 บาท เป็นสาขาแฟรนไชส์ทั้งหมด 10 แห่ง

เดอ ตำมั่ว (de Tummour) ร้านอาหารไทย-อีสาน แบบพรีเมียม จับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงและลูกค้าชาวต่างชาติ ยอดบิลเฉลี่ยต่อคนต่อครั้ง 400 บาท ล่าสุดมีสาขาแฟรนไชส์ 1 แห่ง

สุดท้าย ร้านเขียง (Khiang by Tummour) ร้านอาหารไทยตามสั่งหรือ Street Food แบรนด์ใหม่ที่นำเสนออาหารไทยจานเดียวยอดนิยม เพื่อเข้าถึงลูกค้าทั่วไป จับกลุ่มลูกค้าวัยเริ่มต้นทำงาน ครอบครัว นักเรียน นักศึกษา และลูกค้าที่ต้องการอาหารจานด่วน ยอดบิลเฉลี่ยเพียง 80-100 บาทต่อคนต่อครั้ง ล่าสุดเปิดสาขาแรกในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาเจษฎาบดินทร์ จังหวัดนนทบุรี และเตรียมแผนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

ถ้านับรวมสาขาทั้งหมด เซ็นกรุ๊ปมีร้านอาหารทั้งในไทยและต่างประเทศรวม 255 สาขา แบ่งเป็นกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารไทย 167 สาขา และกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น 88 สาขา ซึ่งในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นร้านอาหารที่กลุ่มบริษัทเป็นเจ้าของ 110 สาขา และให้สิทธิ์แฟรนไชส์ 145 สาขา โดยปี 2562 วางแผนงานขยายร้านอาหารของกลุ่มบริษัทฯ 36 สาขา และขยายสาขาแฟรนไชส์ 87 สาขา

ปี 2563 วางแผนงานขยายร้านอาหารของกลุ่มบริษัทฯ 50 สาขา และขยายสาขาแฟรนไชส์ 175 สาขา

ด้านภาพรวมผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม–กันยายน 2561) มีรายได้รวม 2,226.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,826.3 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 108.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 49.2 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจแฟรนไชส์

นอกจากนี้ มีธุรกิจอาหารค้าปลีก (Food Retail) นำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากการขายที่ร้านอาหารในเครือ เช่น น้ำปลาร้าปรุงรส หมี่มั่ว น้ำจิ้มแจ่ว แจ่วบอง มาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง (Ready-to-Cook) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) ภายใต้แบรนด์ของบริษัท วางจำหน่ายทั่วไป

บุญยงยอมรับว่าการผลักดันให้รายได้โตไปถึงหลักหนึ่งหมื่นล้านบาท เฉลี่ยทุกๆ ปีต้องโตราว 20-25% ต่อปี ซึ่งไม่ง่าย แต่ไม่ยากและเป็นไปได้ เพราะในกลุ่มร้านอาหารไทยยังมีช่องว่างอีกมาก จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักยังมาจากกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น รวมทั้งการขยายสาขาผ่านระบบแฟรนไชส์อย่างรวดเร็ว ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศเปิดแล้ว 8 สาขาที่ลาว กัมพูชา และพม่า

ที่สำคัญ กลยุทธ์การแตกแบรนด์รองรับลูกค้าทุกกลุ่ม ตั้งแต่ระดับล่าง กลาง บน และพรีเมียม จากร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียม มื้อละ 1,600 บาท มาถึงสตรีทฟู้ด ข้าวกะเพราหมู บิลละไม่ถึงร้อยบาท ถือเป็นกลยุทธ์นอกกรอบที่ท้าทายแบรนด์พรีเมียมอย่าง “ZEN” และน่าจะพิสูจน์ว่า การพลิกเกมครั้งนี้จะก้าวกระโดดได้ตามเป้าหมายหรือไม่

ใส่ความเห็น