วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > “เจริญ” ดันซิลิคอนแวลลีย์ ท้ารบ “ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค”

“เจริญ” ดันซิลิคอนแวลลีย์ ท้ารบ “ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค”

“เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” เปิดตัวโปรเจกต์ “สีลม เอจ (Silom Edge)” ตามยุทธการขยายอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ภายใต้อุ้งมือ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ลุยยึดทำเลทองทุกสี่แยกตลอดแนวเส้นพระราม 4 ไล่มาตั้งแต่เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ เดอะปาร์ค วัน แบงค็อก และสามย่านมิตรทาวน์ โดยรอบนี้หวังปักหมุดซิลิคอนแวลลีย์เมืองไทย เจาะคน Gen ใหม่ในยุคดิจิทัล ธุรกิจ Start-Up และแพลตฟอร์มออนไลน์

ขณะเดียวกันยังเป็นยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงทุกไลฟ์สไตล์และขมวดรวมศูนย์สู่โครงการ One Bangkok เมืองระดับโลกใจกลางกรุงเทพฯ ที่จะสะท้อนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในศตวรรษที่ 21

สำหรับโครงการ สีลม เอจ ยึดพื้นที่หัวมุมถนนสีลม หรือบริเวณห้างโรบินสันเก่า โดยได้รับสิทธิ์การเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ระยะเวลา 30 ปี พื้นที่โครงการรวม 50,000 ตารางเมตร มีพื้นที่ให้เช่า 22,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นอาคารสำนักงาน 12,000 ตารางเมตร และพื้นที่ค้าปลีก 10,000 ตารางเมตร ล่าสุดดำเนินการพัฒนาไปแล้วกว่า 65% และวางแผนเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2565 มูลค่าการลงทุนรวม 1,800 ล้านบาท

ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT กล่าวว่า หัวมุมถนนสีลมถือเป็นสุดยอดทำเลใจกลาง CBD เชื่อมต่อกับทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT นอกจากนี้ ยังเคยเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ และเป็นย่านการค้าเก่าแก่ เป็นศูนย์รวมของกลุ่มธุรกิจชั้นนำ มีอาคารสำนักงานมากถึง 43 อาคาร เป็นแหล่งที่ตั้งของสถาบันการเงินสำคัญระดับประเทศหลายแห่ง มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง โรงเรียน 23 แห่ง และสถานพยาบาล 3 แห่ง มีผู้ทำงานและผู้อยู่อาศัยมากกว่า 7 แสนราย รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนของกลุ่มทัวร์ต่างชาติ

ปัจจุบันถนนสีลมกลายเป็นหนึ่งในถนนเศรษฐกิจสำคัญของประเทศและไม่มีแลนด์แบงก์มากพอเพื่อการพัฒนาโครงการใหม่ได้อีกแล้ว

บริษัทจึงตัดสินใจเข้าลงทุนในทรัพย์สินนี้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส ภายใต้ชื่อ “สีลม เอจ” และนับเป็นต้นแบบโครงการ Re-development ที่นำอาคารเก่ามาแปลงเป็นมิกซ์ยูสพันธุ์ใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The new sandbox community in CBD” โดยพลิกรูปแบบการพัฒนาอาคารแบบเดิมๆ สร้างพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ในยุคดิจิทัล

“เหตุการณ์โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปจากเดิม การซื้อสินค้าและบริการออนไลน์กลายเป็นนิวนอร์ม แต่ผู้ประกอบการบนโลกออนไลน์เริ่มเห็นความจำเป็นในการขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้าบนโลกออฟไลน์ การมีออฟฟิศหรือร้านค้าบนทำเลใจกลางกรุงเทพฯ ที่เดินทางสะดวกยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญและเราต้องการเปลี่ยนถนนสีลมจากถนนแห่งการลงทุนหรือวอลล์สตรีต ให้เป็น ซิลิคอนแวลลีย์เมืองไทย สร้างนักพัฒนานวัตกรรมหน้าใหม่เข้าสู่วงการธุรกิจรับยุควิถีชีวิตใหม่ในโลกดิจิทัล”

แน่นอนว่า ธนพลพยายามตอกย้ำถึงจุดแข็งของ “สีลม เอจ” ความเป็นมิกซ์ยูสแนวใหม่ อาจไม่ใช่บิ๊กโปรเจกต์หลายหมื่นล้านบาท แต่ต้องการนำเสนอคอนเซ็ปต์รองรับทุกการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอย่างคล่องตัว เพราะวิถีชีวิตยุคโควิดเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) ได้สำรวจเจาะตลาดอาคารสำนักงานของไทยช่วงปี 2563-2564 พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดและเทรนด์การทำงานรูปแบบ Work from Home ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้ความต้องการเช่าหรือขยายพื้นที่สำนักงานลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2563 ลดลงกว่า 50% และลดลงต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

แม้ปี 2564 ความต้องการเช่าหรือขยายพื้นที่สำนักงานเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์หลังเผชิญหน้าโควิด-19 โดยกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ได้แก่ กลุ่มธุรกิจดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ การเงิน และธุรกิจสุขภาพ

แต่รูปแบบการใช้พื้นที่เปลี่ยนจากการเช่าพื้นที่สำนักงานแบบมาตรฐาน (Core) เพื่อความเป็นส่วนตัว สร้างเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองกลายเป็นเทรนด์พื้นที่สำนักงานแบบยืดหยุ่น (Flex) เช่น โคเวิร์กกิ้งสเปซ (Co-working Space) สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก สตาร์ตอัป ฟรีแลนซ์ ที่ต้องการพื้นที่เพื่อสร้างเน็ตเวิร์กทางธุรกิจ เน้นความยืดหยุ่นสูง ทั้งเรื่องพื้นที่ และสัญญาเช่า เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ

ผู้เช่าส่วนใหญ่ต่างมองหาความคล่องตัวในการใช้พื้นที่ ต้องการทั้งพื้นที่สำนักงานแบบมาตรฐาน (Core) และพื้นที่สำนักงานแบบยืดหยุ่น (Flex) พร้อมกัน กลายเป็นรูปแบบสำนักงาน Core & Flex ไม่เน้นสัญญาระยะยาว ซึ่งสามารถรองรับกลุ่มสตาร์ตอัปที่อาจไม่ต้องการเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่หรือราคาค่าเช่าสูงในโครงการมิกซ์ยูสระดับพรีเมียมมากๆ

“สีลม เอจ” ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี จึงถูกจับตา ทั้งในแง่การตอบรับของกลุ่มลูกค้าและยอดการจับจองพื้นที่ ทั้งอาคารสำนักงานและรีเทล ซึ่งผู้บริหารระบุชัดเจนว่า “ไม่แพง” อัตราค่าเช่าพื้นที่สำนักงานต่ำกว่าในย่านเดียวกันถึง 30% หรืออยู่ที่ราว 750-800 บาทต่อตารางเมตร

ขณะที่หากเจาะโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค บนหัวมุมถนนสีลมอีกฟากฝั่งหนึ่ง เป็นมิกซ์ยูสโปรเจกต์ มูลค่ากว่า 46,000 ล้านบาท ภายใต้แนวคิด Here for Bangkok ซึ่งกลุ่มดุสิตธานีจับมือกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัท วิมานสุริยา จำกัด

ภายในแบ่งพื้นที่หลัก 4 ส่วน ประกอบด้วยส่วนฐานอาคาร (Bare Shell) เป็นโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค มีพื้นที่หลักเป็นห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเฉพาะทางในกลุ่มเซ็นทรัล จำนวน 8 ชั้น โรงภาพยนตร์ จำนวน 6 โรง พื้นที่รวม 80,000 ตารางเมตร โดยทำเป็นศูนย์การค้าลึกไปจนถึงชั้นออกบัตรโดยสารสถานีสีลมของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และเชื่อมต่อกับทางเดินลอยฟ้าไปรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ที่สถานีศาลาแดง นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรพื้นที่บางส่วน 7 ไร่ เป็นสวนสาธารณะ และลานกีฬากลางแจ้ง เสมือนขยายจากสวนลุมพินีออกมาเพิ่มเติม

อาคารสำนักงานเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส ความสูง 43 ชั้น พื้นที่รวม 90,000 ตารางเมตร ออกแบบในโทนสีเงิน และให้มุมมองโอบล้อมสวนลุมพินีทั้งหมด

ส่วนอาคารที่พักอาศัย ประกอบด้วย ดุสิต เรสซิเดนเซส จำนวน 160 ยูนิต และดุสิต พาร์คไซด์ จำนวน 246 ยูนิต ความสูง 69 ชั้น ออกแบบในโทนสีนาก และเป็นอาคารสูงที่สุดของโครงการ ให้มุมมองสวนลุมพินีแบบกว้าง 360 องศา ยาวจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา

สำหรับกำหนดการเปิดให้บริการเฟสแรกจะเผยโฉมโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ จำนวน 250 ห้อง ในปี 2566 ตามด้วยเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส และศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค ในปี 2567 ก่อนปิดท้ายเปิดดุสิต เรสซิเดนเซส และดุสิต พาร์คไซด์ ในปี 2568

ดังนั้น การหมายมั่นให้ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นโครงการ One-of-a-kind Landmark ที่จะยกระดับพลิกโฉมให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครระดับโลก ชูความเป็น Fully- Integrated Mixed-Use Development เทียบชั้นมหานครระดับโลกที่มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางเมืองอย่าง เซ็นทรัล พาร์ค (Central Park) ที่นิวยอร์ก และไฮด์พาร์ค (Hyde Park) ที่ลอนดอน

นั่นยิ่งทำให้สงครามมิกซ์ยูสบนทำเลย่านพระราม 4 ร้อนเดือดมากขึ้น และ “สีลม เอจ” ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่กำลังพิสูจน์ไอเดียแหวกแนวจะมีประสิทธิภาพมากเพียงใดด้วย

ใส่ความเห็น