วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > “อาทิตย์ อุไรรัตน์” : ตำนานที่มีชีวิตและความหวังครั้งใหม่

“อาทิตย์ อุไรรัตน์” : ตำนานที่มีชีวิตและความหวังครั้งใหม่

หากกล่าวถึงนักธุรกิจ-การเมืองไทยที่ดำเนินบทบาทโลดแล่นและอุดมด้วยสีสัน พร้อมด้วยเรื่องราวแห่งชีวิตที่มีทั้งมิติของความสำเร็จและบทเรียนบนความล้มเหลวให้ได้สืบค้นติดตาม “อาทิตย์ อุไรรัตน์” ถือได้ว่าเป็นอีกชื่อหนึ่งในทำเนียบนามของ “ตำนานที่ยังมีชีวิต” (Living Legend) ที่ต้องได้รับการเอ่ยถึงในลำดับต้นๆ อย่างไม่อาจปฏิเสธ

เพราะด้วยวัย 79 ปี หากเป็นผู้คนทั่วไปคงใช้เวลาในช่วงที่เป็นประหนึ่งปัจฉิมวัยนี้ ให้ผ่านพ้นไปด้วยการพักผ่อน หรือแม้กระทั่งคิดทบทวนอดีตกาลครั้งเก่า ด้วยท่วงทำนองที่อ่อนแรงกำลังในการสร้างสรรค์และขาดความคิดคำนึงถึงอนาคตเบื้องหน้า แต่สำหรับ อาทิตย์ อุไรรัตน์ ดูเหมือนเขายังอุดมด้วยจิตวิญญาณของการพัฒนาและความคิดฝันคาดหวังที่หาได้ยากสำหรับผู้คนที่กำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นผู้สูงอายุในวัย 80 (octogenarian) นี้

ความแตกต่างของ อาทิตย์ อุไรรัตน์ เมื่อเปรียบเทียบกับนักธุรกิจ-การเมือง รายอื่นๆ ของสังคมไทยที่เห็นได้ชัดในด้านหนึ่งอยู่ที่ทัศนะที่ก้าวหน้า ความกล้าหาญในการตัดสินใจโดยยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และไม่สยบยอมต่ออำนาจและผลกระทบที่อาจมีต่อกิจการของเขาและครอบครัว ซึ่งในด้านหนึ่งอาจทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมของอาทิตย์ อุไรรัตน์ ทั้งในมิติของการเมืองและธุรกิจ ดูประหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก แต่ด้วยวิถีที่ว่านี้ อาทิตย์ อุไรรัตน์ กลับกลายเป็นตัวแบบ (model) และตัวแทน (represent) ที่สะท้อนมิติความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ได้เป็นอย่างดี

ย่างก้าวของอาทิตย์ อุไรรัตน์ นับตั้งแต่การเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าการประปานครหลวง เมื่อปี 2527 ซึ่งได้รับการกล่าวถึงในฐานะ อัศวินม้าขาว ที่เข้าไปกอบกู้กิจการของการประปานครหลวงที่เคยเป็นดินแดนสนธยาและอุดมด้วยผลประโยชน์ ให้ปลอดพ้นจากอำนาจแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของทั้งเหล่าข้าราชการและนักการเมือง ย่อมไม่ใช่เหตุบังเอิญ หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก่อนก้าวสู่หลักไมล์ที่ใหญ่กว่าในเวลาต่อมา

“สถานการณ์อาจสร้างวีรบุรุษ” แต่หากวีรบุรุษท่านนั้นขาดความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว สถานการณ์ที่ว่าก็อาจฉีกกระชากความเป็นมนุษย์ให้ขาดวิ่นลงอย่างสิ้นเชิง ไม่ต่างจากเหตุการณ์ในปี 2535 หลังผ่านช่วงวิกฤต “พฤษภาทมิฬ” ที่เปิดโอกาสให้ อาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้แสดงบทบาทและจุดยืน

เขาเลือกที่จะปฏิเสธการเสนอชื่อ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ ให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ.สุจินดา คราประยูร ด้วยเหตุผลว่าอาจทำให้เกิดความวุ่นวายต่อเนื่อง และเลือกที่จะ “ต่อสาย” เสนอชื่อ อานันท์ ปันยารชุน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ก่อนที่ปฏิบัติการครั้งสำคัญนี้จะส่งผลให้อาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้รับการกล่าวถึงในฐานะ “วีรบุรุษประชาธิปไตย” อีกหนึ่งในตำนานการเมืองไทย ที่มีอายุรวมผ่านไป 25 ปี ให้จดจำ

ด้วยประวัติการศึกษาที่ผ่านทั้งกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และ เตรียมอุดมศึกษา ก่อนจะเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาการทูตและการต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท มหาบัณฑิตจาก Fletcher School of Law and Diplomacy, มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts)

ก่อนจะได้ทุนรัฐบาลไทยให้ไปศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิต สาขาการบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตต และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ดุษฎีบัณฑิตทางรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ รัฐโคโลราโด อาจให้ภาพอาทิตย์ อุไรรัตน์เป็นเพียงนักเรียนที่เรียนเก่งคนหนึ่ง แต่อาจขาดความสามารถในการปฏิบัติ หากในความเป็นจริง เขาถือเป็นบุคลากรระดับนำที่พร้อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเสมอ

ขณะที่ผลึกความคิดที่ได้รับการสั่งสมบ่มเพาะในแต่ละช่วง ดูเหมือนจะเป็นทรัพยากรตั้งต้นที่พร้อมจะฉายโชนศักยภาพให้เจิดจำรัสจากกระบวนการเรียนรู้และวิสัยทัศน์ของเขาในเวลาต่อมา

ในช่วงปี 2515-2518 ขณะที่อาทิตย์กำลังทำงานเพื่อใช้ทุนหลวงอยู่นั้น เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองวิชาการของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และมีหน้าที่ดูแลงานการวางระบบกำลังพลแบบที่ครอบคลุมสาขาวิชาชีพที่กำลังขาดแคลนอยู่ในประเทศเวลานั้น เช่น แพทย์และพยาบาล ซึ่งนี่อาจเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้เขาให้ความสนใจกับการวางรากฐานด้านการสาธารณสุขและการศึกษาในเวลาต่อมา

โรงพยาบาลพญาไท ภายใต้บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปี 2519 และขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่มหวิทยาลัยรังสิต เกิดขึ้นในช่วงปี 2528 พร้อมกับการเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเอกชนรายแรกของไทยที่มีการเรียนการสอนในหลักสูตรแพทยศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ภายใต้แนวความคิดที่จะเชื่อมโยงให้โรงพยาบาลพญาไทเป็นประหนึ่ง teaching hospital ให้กับคณะแพทยศาสตร์ ม.รังสิตแห่งนี้

แต่ความผิดพลาดที่ปรากฏชัดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กลายเป็นบาดแผลฉกาจฉกรรจ์ ให้กับอาทิตย์ อุไรรัตน์ และครอบครัว เพราะกลุ่มทุนที่เข้ามาครอบงำกิจการประสิทธิ์พัฒนา ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายในโรงพยาบาลพญาไทเท่านั้น หากยังเล็งผลเลิศในการมีส่วนร่วมในมหาวิทยาลัยรังสิตด้วย

อาทิตย์ อุไรรัตน์ เลือกที่จะยอมสูญเสียและปล่อยให้โรงพยาบาลพญาไทหลุดออกจากมือของครอบครัวอุไรรัตน์ไป แต่ยังปักหลักรักษาป้อมค่ายอยู่ในฐานที่มั่นในมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อตระเตรียมความพร้อมและรอคอยการเคลื่อนทัพครั้งใหม่ เป็นเวลานานนับเนื่องได้มากกว่า 14 ปี

โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้แถลงถึงการก่อตั้งโรงพยาบาลอาร์เอสยูอินเตอร์เนชั่นแนล (RSU International Hospital) RIH พื้นที่ 11 ไร่ ในย่านธุรกิจบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ด้วยเงินลงทุนทั้งโครงการ 2ระยะรวมมูลค่าสูงถึง 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท และเป็นการประกาศตัวกลับเข้ามาสู่แวดวงธุรกิจโรงพยาบาลอีกครั้ง

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือโครงการดังกล่าวได้รับการเปิดเผยมาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อปี 2558 โดยในครั้งนั้น บมจ.เอเวอร์แลนด์ (EVER) ระบุว่าได้เตรียมแผนการลงทุนขยายธุรกิจโรงพยาบาลภายใต้ บริษัท มายฮอสพิทอล จำกัด (MY HOSPITAL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยจะเข้าร่วมทุนกับกลุ่มของอาทิตย์ อุไรรัตน์ เจ้าของมหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอดีตผู้บริหารโรงพยาบาลพญาไท เพื่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ในนาม “รังสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ฮอสพิทัล” ขนาด 300 เตียง ด้วยมูลค่าลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท

โดย EVER จะเข้าถือหุ้น 30% ผ่าน MY HOSPITAL ซึ่งได้เข้าทำสัญญาร่วมทุนในบริษัท อาร์เอสยู อินเตอร์เนชั่นแนล ฮอสพิทอล จำกัด (RIH) โดย RIH ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,200 ล้านบาทเมื่อกลางปี 2557เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายการลงทุน และอยู่ระหว่างออกแบบและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนที่ความเป็นไปของโครงการที่ว่านี้จะเงียบหายไปและกลับมาเปิดตัวอีกครั้งในปีนี้

ความคาดหวังของอาทิตย์ อุไรรัตน์กับโครงการ RSU International Hospital ในด้านหนึ่งย่อมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการหวนคืนเพื่อประกาศศักยภาพและความสามารถในการเป็นผู้นำธุรกิจโรงพยาบาล และศูนย์สุขภาพที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางเท่านั้น หากแต่ในอีกมิติหนึ่งโครงการดังกล่าวคือการสานต่อเจตจำนงของการสร้างเสริมนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านการสาธารณสุขในแบบ Smart Hospital ที่ผสานศาสตร์ทางการแพทย์ทั้งแผนตะวันตกและตะวันออก แบบครบวงจร

หากฉากชีวิตของอาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่กำลังเดินทางเข้าสู่ช่วงอายุครบ 79 ปีเต็มในเดือนพฤษภาคมนี้ จะผ่านประสบการณ์ร้อนหนาวมาอย่างโชกโชน บางทีการเกิดขึ้นของ RSU International Hospital อาจกำลังทำหน้าที่เป็นประหนึ่งความหวังครั้งใหม่และอนุสรณ์สถานแห่งความเป็นไปของตำนานที่มีชีวิตบทนี้

ใส่ความเห็น