วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > “สงกรานต์” วัดดวงเศรษฐกิจ ท้าปัจจัยเสี่ยงโควิดพุ่ง ป่วย-ตาย

“สงกรานต์” วัดดวงเศรษฐกิจ ท้าปัจจัยเสี่ยงโควิดพุ่ง ป่วย-ตาย

เทศกาลสงกรานต์ 5 วันนี้กำลังชี้ชะตาประเทศไทย 2 ด้าน ด้านหนึ่ง ลุ้นสัญญาณการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้คน อีกด้านหนึ่ง ลุ้นหายนะโควิด-19 ตามสมมุติฐานของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งการแพร่เชื้อต่อเนื่องไปทุกจังหวัด จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงสุด 50,000 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบจะเพิ่มขึ้น 3,000 ราย ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจสูงสุด 900 ราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 100 รายต่อวัน

ยิ่งไปกว่านั้น คาดการณ์ฉากทัศน์ระดับแย่ที่สุด ในกรณีผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดการแยกตัวกักตัว ฉีดวัคซีนทุกเข็มต่ำกว่า 200,000 โดสต่อวัน ช่วงหลังสงกรานต์ ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 1-2 แสนราย ผู้ป่วยปอดอักเสบจะเพิ่มสูงสุดราว 6,000 ราย ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจสูงสุด 1,700 ราย และอาจมีผู้เสียชีวิตถึง 250 รายต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายภาคเอกชนยังยืนยันเรียกร้องให้รัฐผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อผลักดันเศรษฐกิจเดินหน้า หลังเจอวิกฤตยาวนานกว่า 2 ปี โดยล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกาศปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2565 เป็นขยายตัว 2.5-4% จากเดิม 2.5-4.5% และปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเป็น 3.5-5.5% จากเดิม 2-3% พร้อมจี้รัฐบาลรีบยกเลิกมาตรการ Test & GO เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างรายได้ในยามที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นๆ มีข้อจำกัด

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลควรต่ออายุโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2565

ขณะเดียวกัน หอการค้าไทยได้หารือกันและมีข้อสรุปให้รัฐบาลเร่งดำเนินการใน 6 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทั่วประเทศเกิน 70% โดยเฉพาะประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แล้วประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นโดยเร็วหลังสงกรานต์หรือในเดือนพฤษภาคม เพราะหากเริ่มเดือนกรกฎาคมตามแผนของรัฐบาลอาจไม่ทันกับการแข่งขันกับนานาประเทศ เพราะไทยพึ่งพิงรายได้จากภาคท่องเที่ยว ภาคการค้า และภาคการลงทุนกับต่างชาติ

2. อยากให้รัฐบาลขยายเวลาโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 และเฟสถัดไปถึงสิ้นปีนี้ หลังจากเฟส 4 สิ้นสุดเดือนเมษายน และเพิ่มสมทบคนละครึ่งต่อคนเป็น 1,500 บาท เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศต่อเนื่อง

3. เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรขยายเวลาการเก็บเต็มจำนวนและทยอยเก็บเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได

4. รัฐบาลควรรีบขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% เพื่อกู้เงินมากระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้เพดานหนี้ใกล้เต็ม 60% และเงินกู้เดิมเหลือเพียง 7 หมื่นล้านบาท ไม่เพียงพอ

5. การปรับขึ้นแรงงานขั้นต่ำ อยากให้เป็นการตัดสินใจร่วมในระดับจังหวัดในอัตราแตกต่างกัน แทนการประกาศใช้อัตราเดียวกันทั้งประเทศ และ 6. เร่งลดอุปสรรคจากกฎระเบียบที่ล้าสมัย และเสริมช่องทางการส่งออก

สาเหตุสำคัญเนื่องจากกำลังซื้อของคนไทยยังไม่พลิกฟื้นอย่างแท้จริง แม้เทศกาลสงกรานต์ปีนี้อาจคึกคักมากกว่าปีก่อน แต่ไม่ใช่จุดพีค โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจงัดผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงดังกล่าวมีแนวโน้ม “เหงาจัด” ประชาชนจะงดการเดินทางออกนอกพื้นที่ เนื่องจากปัญหาน้ำมันแพง สินค้าขึ้นราคาและยังมีความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เม็ดเงินช่วงสงกรานต์จะลดลงจากปีก่อนหน้า 5.4% อยู่ที่ 1.06 แสนล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเม็ดเงินการใช้จ่ายรวมในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ของคนกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 23,400 ล้านบาท ลดลง 2.5% จากปีก่อน โดยคิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 5,600 บาท ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อนและเม็ดเงินค่าใช้จ่ายปรับลดลงเกือบทุกประเภท ทั้งการซื้อสินค้า ค่าสาธารณูปโภค ชอปปิ้ง ค่าบริการและท่องเที่ยว

ดังนั้น หากมองในแง่ธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้กระทั่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 (ศบค.) ปลดล็อกให้ชาวต่างชาติไม่ต้องตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง แต่ให้ตรวจ RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย และตรวจ self-ATK อีกครั้งในวันที่ 5 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

ปรากฏว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดิม 8,000-9,000 คนต่อวัน เป็น 12,000-13,000 คนต่อวัน เนื่องจากกลุ่มต่างชาติที่นิยมเข้ามาเที่ยวสงกรานต์ในไทยเป็นชาวจีนและไต้หวัน แต่ทั้งสองประเทศยังไม่เปิดให้พลเมืองเที่ยวต่างประเทศ ส่วนนักท่องเที่ยวยุโรปมีเพียงเล็กน้อย เพราะช่วงนี้อยู่นอกฤดูการท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ของยุโรป

นอกจากนี้ ศบค. ยังกำหนดเงื่อนไขการจัดงาน โดยอนุญาตให้เล่นน้ำและจัดกิจกรรมตามประเพณีเท่านั้น เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี แต่ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม ห้ามจำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน ทำให้สงกรานต์ไร้แรงดึงดูด จนกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสารต้องตัดสินใจงดจัดเทศกาลประจำปี และยอมรอความชัดเจนเรื่องการประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่นเรียบร้อยก่อน

ทว่า หน่วยงานภาครัฐอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ 5 วัน จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศสูงถึง 3.34 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้หมุนเวียนมากถึง 11,000 ล้านบาท อัตราการเข้าพักเฉลี่ย 41% คึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา หลังรัฐบาลไม่มีมาตรการห้ามเดินทางข้ามภูมิภาค และให้จัดงานได้ภายใต้มาตรการรักษาระยะห่าง และ COVID Free Setting

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ เช่น ชลบุรี นครราชสีมา กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยว (พักค้าง) เกินกว่า 60% ได้แก่ ชลบุรี นครราชสีมา ภูเก็ต กาญจนบุรี อุดรธานี ประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ ททท. ยังเดินหน้าจัดงานเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ประจำปี 2565 เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 3 จังหวัดหลัก ได้แก่ “สงกรานต์วิถีใหม่ แต่งไทยเที่ยววัด” ณ พระอารามหลวง 10 แห่งในกรุงเทพฯ ได้แก่ วัดราชบพิธฯ วัดสระเกศ วัดกัลยาณมิตร วัดอรุณ วัดพระเชตุพน วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสุทัศน์ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดราชนัดดา และวัดประยุรวงศาวาส งาน Songkran Music Heritage Festival 2022 ใน จ.สงขลา และพระนครศรีอยุธยา

ประเทศไทยคงต้องวัดกันระหว่าง “เศรษฐกิจ” กับ “โควิด” จะหาจุดสมดุลได้หรือไม่ เพื่ออยู่กับโควิดอย่างมีสติ ไม่มีการแพร่ระบาดและผลักดันเศรษฐกิจต่อไปได้ด้วย.

ใส่ความเห็น