วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > “รอยัลออคิด” ลุยโรดแมป 2 ปี เจาะเวลเนสทัวร์หนีขาดทุน

“รอยัลออคิด” ลุยโรดแมป 2 ปี เจาะเวลเนสทัวร์หนีขาดทุน

แม้กลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ตัดสินใจเปลี่ยนแผนตัดขายโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน มาเป็นการฝากทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ “แกรนด์ รอยัล ออคิด โฮสพีทาลิตี้” ระดมเม็ดเงินผ่านกองทุนเพื่อลดผลกระทบจากพิษโควิด แต่ยังยืนยันเป้าหมายการซื้อกิจการกลับมาทั้งหมดภายใน 3-5 ปี โดยคาดหวังว่าธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะเริ่มกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งตั้งแต่ปี 2565

ขณะเดียวกัน ปี 2565 ยังเป็นช่วงจังหวะครบรอบการดำเนินกิจการ 40 ปี โดยบริษัทโรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกาศเดินหน้าแผนแม่บทระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า พัฒนาสู่การเป็นโรงแรมชั้นนำภายใต้แนวคิดใหม่ WELLeisureTM Hotel ตอบสนองเทรนด์ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทั่วโลก

จุดเด่นสำคัญอยู่ที่การเปิดบริการด้านเวลเนสและสุขภาพแบบองค์รวม บนพื้นที่มากถึง 5,000 ตารางเมตร เพื่อให้บริการเต็มรูปแบบ ทั้งการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย การบำบัดด้วยโภชนาการ เวชศาสตร์ป้องกันและการฟื้นฟูสุขภาพ โดยจะทำให้ขั้นตอนการดูแลสุขภาพสามารถทำได้ง่ายและเข้าถึงได้ในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว เพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนควบคู่กับการดูแลสุขภาพ

โรงแรมยังวางแผนเปิดรูฟทอปบาร์แห่งใหม่ ขนาดพื้นที่กว่า 4,500 ตารางเมตร ซึ่งจะเป็นรูฟทอปริมแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุด สามารถชมวิวเมืองและแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างชัดเจน

นายวิทวัส วิภากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทโรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิวทัศน์ของแม่น้ำเจ้าพระยายังเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างดี และร้านอาหารของโรงแรมถือเป็นจุดยอดนิยมในการชมพลุ เนื่องจากจุดที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับ “ไอคอนสยาม” โรงแรมจึงมีแผนปรับปรุงห้องอาหารริมแม่น้ำ เพื่อยกระดับเป็นห้องอาหารที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งบนโค้งน้ำเจ้าพระยา โดยเพิ่มสถาปัตยกรรมที่สะท้อนประวัติศาสตร์อันยาวนานของสถานที่ตั้งโรงแรม ซึ่งเป็นอดีตที่ตั้งของบ้านกัปตันจอห์น บุช ผู้บังคับการเรือพระที่นั่งในรัชกาลที่ 4 เพิ่มบรรยากาศและความมีชีวิตชีวาของท่าเทียบเรือในสมัยกัปตันบุชกลับมาอีกครั้ง

แน่นอนว่า การกระโดดเข้าสู่สมรภูมิธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพริมน้ำถือเป็นการพลิกสถานการณ์อีกครั้ง หลังช่วงโควิดแพร่ระบาดปี 2563-2564 บริษัทเจอพิษการปิดประเทศชนิดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น “0” ฉุดรายได้และกำไรติดลบ โดยปี 2563 มีรายได้เพียง 245 ล้านบาท กำไรสุทธิติดลบ 154 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 147 ล้านบาท และปี 2564 ตัวเลขสิ้นสุดไตรมาส 3 มีรายได้รวม 104 ล้านบาท กำไรสุทธิติดลบจากปีก่อนหน้า 166 ล้านบาท

แต่หากย้อนหลังไป 4 ปีก่อนเกิดการระบาดของโรค คือปี 2559-2562 โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน มีศักยภาพการสร้างรายได้เติบโตทุกปี จากปี 2559 อยู่ที่ 863 ล้านบาท ปี 2560 เพิ่มเป็น 893 ล้านบาท จากนั้นทะลุหลักพันล้านอยู่ที่ 1,030 ล้านบาทในปี 2561 และ 1,075 ล้านบาทในปี 2562 ตามลำดับ โดยมีอัตราการเข้าพักของโรงแรมเฉลี่ยเกิน 80% ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้บริษัทมีแนวทางชัดเจนจะต้องซื้อคืนโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ในระยะ 5 ปีข้างหน้านับจากนี้ตามเงื่อนไขการระดมทุน

ที่สำคัญ ตลาดท่องเที่ยวริมน้ำมีแนวโน้มเติบโตหลายเท่าตัว เนื่องจากกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ต่างเร่งพัฒนาโปรเจกต์มิกซ์ยูส ซึ่งจะเพิ่มแรงดึงดูดชาวต่างชาติ และสามารถเชื่อมต่อสู่จังหวัดต่าง ๆ ด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการประกาศลงนามสัญญาเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี กับ บริษัท หวั่งหลี จำกัด เพื่อเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โครงการ “ล้ง 1919” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผุดโครงการ The Integrated Wellness Destination ระยะเวลาสัญญา 64 ปี ด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 3,436 ล้านบาท ประกอบด้วยโรงแรมหรูขนาด 86 ห้อง เรสซิเดนซ์จำนวน 56 ยูนิต พร้อมบริการสุขภาพแบบองค์รวมมาตรฐานของแบรนด์ Ritz Carlton ที่มีความลักชัวรี และบริการการท่องเที่ยวทางน้ำในรูปแบบ Ecotourism ทั้งกลางวัน กลางคืน โดยมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2569

ยิ่งไปกว่านั้น แอสเสท เวิร์ด คอร์ป ยังวางโมเดลเชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆ ในเครือที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวอย่างครบวงจรภายใต้แนวคิด The River Journey เริ่มตั้งแต่โครงการเอเชียทีค 2 ฝั่ง ต่อด้วยโปรเจกต์ The Integrated Wellness Destination หรือจุดที่ตั้ง “ล้ง” ตามด้วยโครงการตรงข้ามย่านทรงวาดที่จะเชื่อมกับล้ง และโครงการภายใต้ AWC บริเวณอาคารอี๊สต์เอเชียติ๊ก ก่อนต่อยอดไปยังโครงการในต่างจังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ และเชียงราย

ทั้งหมดเพื่อสร้าง New Destination เจาะกลุ่มเป้าหมายระดับนานาชาติ และเป็นหมุดต่อยอดบิ๊กโปรเจกต์อีกหลายโครงการ ทั้งในกลุ่มโรงแรม คอนโดมิเนียม ค้าปลีก และธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ตลอดสายน้ำ

หรือจะเป็นโครงการใหม่ของบิ๊กคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศแผนพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม อดีตอาคารที่ทำการของศุลกสถานริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยเจริญกรุง 36 เพื่อก่อสร้างอาคารใหม่และพัฒนาอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปี พร้อมพื้นที่โดยรอบประมาณ 5 ไร่ ในรูปแบบมิกซ์ยูส มีโรงแรมหรูไม่ต่ำกว่า 5 ดาว มูลค่าลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568

นั่นยังไม่นับรวมอีกหลายโครงการและโรงแรมอีกหลายแห่งที่ซุ่มพลิกโฉมรอตลาดท่องเที่ยวฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อทางการตัดสินใจกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go รายใหม่จากทุกประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 หลังถูกระงับการลงทะเบียนมานานกว่า 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2564 เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ทั้งนี้ สมาคมโรงแรมไทย (THA) เชื่อมั่นว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเติบโตทันที โดยประเมินเบื้องต้นในเดือนกุมภาพันธ์จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 2-3 แสนคน ใกล้เคียงกับช่วงปลายปีที่ผ่านมาและจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนมีนาคม รวมถึงตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศที่น่าจะมีการจัดประชุมสัมมนามากขึ้น

นอกจากนั้น สมาคมฯ พยายามประสานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกี่ยวกับการจัดหา Hotel Isolation ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีความพร้อมให้นักท่องเที่ยวของโรงแรมที่ติดเชื้อโควิด-19 กักตัวต่อในห้องพัก โดยไม่ต้องย้ายออกไปโรงพยาบาล (ฮอสพิเทล) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มเติม เพื่อเตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอนาคต

ขณะเดียวกันสมาคมโรงแรมไทยยังร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ยื่นข้อเสนอต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว. การท่องเที่ยวและกีฬา เรียกร้องให้รัฐเยียวยาธุรกิจโรงแรม เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนในระยะฟื้นตัว ได้แก่ การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% สำหรับภาคธุรกิจโรงแรม ขยายเวลาเงินอุดหนุนค่าจ้างแรงงานกลุ่มเอสเอ็มอี 6 เดือน คนละ 3,000 บาท ภายใต้จำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการสูงสุด 200 คน และช่วยสนับสนุนค่าจ้างพนักงานใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ภายใน 5 ปี เพื่อกระตุ้นการจ้างงานในช่วงฟื้นฟู 50% ของเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับแผนควบคุมการแพร่ระบาดโควิด ทั้งระบบสาธารณสุขและจิตสำนึกของคนไทยทุกคน เพื่อรับมือและอยู่ร่วมกับ “โควิดสายพันธุ์ใหม่” โดยไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการปิดประเทศอีกต่อไป.

ใส่ความเห็น