วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ‘เฮงเสง’ เบาะไหว้เจ้าทำมือ ร้านสุดท้ายแห่งตลาดน้อย

‘เฮงเสง’ เบาะไหว้เจ้าทำมือ ร้านสุดท้ายแห่งตลาดน้อย

มือผอมเกร็งที่บ่งบอกถึงการเดินทางผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานของ “อาม่าจินดารัตน์” อีกหนึ่งผู้สานต่อแห่งร้าน ”เฮงเสง” ยังคงบรรจงเย็บริมเบาะไหว้เจ้าได้อย่างประณีต ไม่ทิ้งลายทายาทแห่งร้านทำเบาะไหว้เจ้าเย็บมือที่มีอายุกว่า 100ปี ที่เป็นร้านแรก ร้านเดียว และร้านสุดท้ายแห่งตลาดน้อย

เชื่อว่าใครที่มีโอกาสได้มาเดินเล่นในย่านตลาดน้อย น่าจะเคยผ่านตาหรือบางคนอาจจะได้แวะเวียนเข้าไปทำความรู้จักกับร้าน “เฮงเสง” ร้านทำเบาะไหว้เจ้า ที่ดึงดูดสายตาของผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาด้วยเบาะสีสันสดใสกันมาบ้าง

“ผู้จัดการ 360 องศา” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “วิมล เหลืองอรุณ” หรือ คุณเจี๊ยบ เจ้าของและทายาทรุ่นที่สาม ที่กำลังนำพาเฮงเสงให้ก้าวเดินไปอีกครั้งท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

คุณเจี๊ยบเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าประวัติความเป็นมาของร้านทำเบาะไหว้เจ้าแห่งนี้ว่า

“เหล่ากงเป็นผู้บุกเบิกกิจการร้านเฮงเสง แกล่องเรือจากเมืองจีนมาตั้งรกรากอยู่ในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นก็เริ่มทำหมอน มุ้ง ที่นอนนุ่นขายเลี้ยงชีพ ถือเป็นร้านแรกและร้านเดียวในตลาดน้อย สมัยก่อนแกทำส่งตามโรงแรมต่างๆ ย่านเยาวราช อย่างโรงแรม 7 ชั้น นอกนั้นก็มีเย็บเบาะนุ่นสำหรับวางบนเก้าอี้หวายส่งไปขายแถวประตูผีด้วย ซึ่งสมัยนั้นคนนิยมเก้าอี้หวายกันมาก ถือว่าขายดีทีเดียว”

คุณเจี๊ยบขยายความต่อไปว่า สมัยนั้นคนนิยมใช้เก้าอี้หวายเพราะยังไม่มีโซฟาเหมือนในปัจจุบัน เลยเย็บเบาะรองนั่งที่ใช้กับเก้าอี้หวายขึ้นมาขาย ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำส่งวันหนึ่งๆ เป็นจำนวนนับร้อยลูก โดยส่งไปขายย่านประตูผีซึ่งเป็นแหล่งทำผลิตภัณฑ์หวายเป็นหลัก

ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของร้านเฮงเสงก็ว่าได้ ทั้งที่นอน หมอน มุ้ง และเบาะหวาย ถูกส่งไปขายยังสถานที่ต่างๆ มากมาย แม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่เป็นช่วงยากลำบากก็ยังมีลูกค้า

“ช่วงสงครามไม่มีผ้าขาย อากงต้องเอาตะกร้าแอบไปซื้อผ้ามาใช้ เวลาเย็บผ้าก็ต้องปิดประตู เปิดเพลงให้กลบเสียงจักรเย็บผ้าไม่ให้เขารู้”

จากรุ่นบุกเบิกถ่ายทอดสู่ทายาทรุ่นหลัง
จากจุดเริ่มต้น เฮงเสงเดินทางผ่านกาลเวลาสู่การขับเคลื่อนของทายาทรุ่นที่ 2 อย่าง “อาม่าเมี่ยวลั้ง แซ่อิ๊ว” ซึ่งเป็นรุ่นคุณแม่ของคุณเจี๊ยบมารับช่วงต่อ พร้อมๆ กับความนิยมในที่นอนนุ่น เบาะหวาย และมุ้งที่เริ่มลดลง ทำให้ต้องเปลี่ยนมาเย็บเบาะไหว้เจ้า เบาะกลมรองเข่าที่ใช้ในศาลเจ้าแทน จนกลายมาเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเฮงเสง

“หลังๆ พอมีมุ้งลวด แอร์ โซฟา และที่นอนฟองน้ำเข้ามา มุ้งกับเบาะหวายของเราก็เริ่มได้รับความนิยมลดลง คุณแม่เลยหันมาทำเบาะไหว้เจ้า ซึ่งเบาะไหว้เจ้าของเราเย็บด้วยมือทั้งหมด เป็นเบาะกลมข้างในยัดด้วยนุ่นอย่างดีผสมใยมะพร้าวเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ซึ่งหัวใจสำคัญคือตอนยัดนุ่น ยัดอย่างไรให้แข็งแรง แต่ไม่แข็งจนเกินไป และไม่นิ่มจนเกินไป เพราะนิ่มไปก็ยุบเร็ว ใช้ได้ไม่นาน ต้องมีเทคนิคทำอย่างไรให้เบาะใช้ได้ทนแต่ยังนุ่มอยู่ด้วย ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด”

หัวใจสำคัญคือการยัดนุ่น เทคนิคที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
คุณเจี๊ยบอธิบายต่อว่า ขั้นตอนในการทำเบาะไหว้เจ้าของเฮงเสง เริ่มตั้งแต่ตัดผ้าดิบ นำไปเย็บ ก่อนจะมาสู่ขั้นตอนที่ยากและต้องมีเทคนิคเฉพาะคือการยัดใยมะพร้าวและนุ่นที่ทำด้วยมือเพียงอย่างเดียว ไม่ใช้เครื่องจักรช่วย อันเป็นเทคนิคเฉพาะของเฮงเสงที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ที่ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์เป็นสำคัญ

หลังจากยัดนุ่นและใยมะพร้าวเสร็จแล้วจึงเอาไปเย็บจับริม ใส่ปลอก และหุ้มพลาสติกพร้อมส่งขาย โดยปกติจะใช้เวลาในการทำประมาณ 1 วันต่อ 1 ใบ

โดยรูปแบบของเบาะไหว้เจ้าดั้งเดิมจะเป็นทรงกลม สีพื้น ซึ่งศาลเจ้าจะเน้นเบาะสีแดง ชมพู เป็นหลัก ส่วนปลอกหุ้มเป็นผ้ามันเงานำเข้าจากจีน ปักลวดลาย และอักษรจีนตรงกลาง และหุ้มด้วยพลาสติกด้านนอกอีกครั้งเพื่อป้องกันน้ำตาเทียนหรือธูป ซึ่งเบาะจะเปลี่ยนไปตามเทศกาล ถ้าเป็นเทศกาลกินเจคนจะนิยมสั่งเบาะสีเหลือง ถ้าเป็นงานกงเต๊กก็จะเป็นเบาะสีน้ำเงิน

“เบาะไหว้เจ้าของเรามีคนสั่งมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงตรุษจีนที่ตามศาลเจ้าจะนิยมเปลี่ยนเบาะเพื่อความสวยงามรับปีใหม่”

หลังจากทายาทรุ่น 2 นำพาเฮงเสงผ่านกาลเวลามากว่า 70 ปี แม้พลังกายถดถอย แต่ฐานลูกค้ายังคงเหนียวแน่น คุณเจี๊ยบจึงเข้ามาสานต่อในฐานะทายาทรุ่น 3 ที่พาเฮงเสงก้าวเดินไปอีกครั้ง ด้วยภาพลักษณ์แปลกใหม่แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ในแบบฉบับของเฮงเสง

“เราโตมากับธุรกิจของครอบครัว เห็นมาตั้งแต่เกิดมันก็ซึมซับไปเรื่อยๆ พอแม่เริ่มทำไม่ไหว เราก็เข้ามาทำต่อ พอทำไปสักระยะหนึ่ง มีโอกาสทำงานร่วมกับ TCDC เพราะเป็นช่วงที่ TCDC เขามีโปรเจกต์ทำงานร่วมกับชุมชน มีดีไซเนอร์มาช่วยออกแบบทั้งรูปทรงและลายผ้า จากเบาะไหว้เจ้าก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา แต่เรายังคงเอกลักษณ์ในการตัดเย็บแบบดั้งเดิมของเราเอาไว้”

ภายในระยะเวลา 2 ปี คุณเจี๊ยบได้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับ 2 นักออกแบบรุ่นใหม่จากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรูปลักษณ์แปลกใหม่

โดยปีแรกเป็นการทำงานร่วมกับ “ศรัณย์ เย็นปัญญา” นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง “56th Studio” ที่ผสานเทคนิคการจับจีบเบาะด้วยมืออันเป็นเทคนิคเฉพาะของเฮงเสง เข้ากับวัสดุใหม่ๆ จนได้เป็นเบาะรองนั่งพิมพ์ลายดอกไม้สีหวานที่มาพร้อมเก้าอี้สีพาสเทลที่เป็นทั้งเฟอร์นิเจอร์และงานศิลปะไปพร้อมๆ กัน

ส่วนในปีที่ 2 เฮงเสงเปลี่ยนโฉมผลิตภัณฑ์ไปอีกหนึ่งขั้น ด้วยการทำงานร่วมกับเจ้าของแบรนด์ Vinn Patararin ที่เปลี่ยนโฉมเบาะไหว้เจ้าแบบเดิม สู่เบาะรูปทรงใหม่ๆ ที่เพิ่มฟังก์ชันให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย

จากเบาะไหว้เจ้าทรงกลมสีสดใส เฮงเสงเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างหมอนทรงบ๊ะจ่างสำหรับวางมือถือ หมอนอิงสีสวยสำหรับตกแต่งบ้าน พวงกุญแจเบาะเล็กจิ๋วน่ารัก เบาะกลมรองนั่งที่สีสันและลวดลายเปลี่ยนไปตามยุคสมัย รวมถึงหมอนลายดอกโบตั๋นดอกไม้มงคลของจีนที่กลายเป็นอีกหนึ่งไอเทมสุดฮอตของเฮงเสง

“กระบวนการทำก็ไม่ค่อยต่างจากเดิม แต่วิธีการเย็บก็จะยากขึ้นหน่อย มีการใช้ผ้าชนิดอื่นๆ มาผสมกับผ้าลายโบตั๋น ซึ่งคนจีนชอบดอกโบตั๋นอยู่แล้ว สีที่ใช้ก็เป็นสีมงคลอย่างสีแดง สีชมพู ผลตอบรับถือว่าดี ลูกค้าชอบนะ เขาก็ซื้อได้ง่ายขึ้นเพราะใช้ตกแต่งบ้านได้ ยิ่งช่วงงาน Bangkok Design Week นี่ขายดีมาก แต่เบาะไหว้เจ้า ที่นอนนุ่น หมอนยัดนุ่นอะไรพวกนี้ก็มีลูกค้าอยู่ตลอด”

คุณเจี๊ยบเล่าต่อว่าที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ลวดลายและดีไซน์ใหม่ทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโอกาสไปออกร้านตามงานต่างๆ รวมถึงวางขายในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้างใหญ่แหล่งรวมงานคราฟท์อย่างไอคอนสยาม ส่วนตอนนี้ช่องทางจำหน่ายหลักนอกจากหน้าร้านแล้วลูกค้ายังสามารถสั่งซื้อผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ ‘Hengseng เฮงเสง รับทำหมอน เบาะไหว้เจ้า ตลาดน้อย’ ได้ด้วยเช่นกัน

ก้าวใหม่ของเฮงเสงโดยการนำพาของทายาทรุ่นที่ 3 ทำให้เฮงเสงสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจคือ การสานต่อนับจากนี้จะเป็นอย่างไร

“ตอนนี้หลักๆ จะมีพี่ อาอี๊ ที่เป็นคนทำ ส่วนแม่แกอายุเยอะแล้ว หลังจากนี้ไม่แน่ใจว่าจะมีคนสานต่อไหม แต่ที่แน่ๆ คือเราไม่อยากให้ความรู้พวกนี้มันหายไป สิ่งที่คิดไว้คืออยากส่งต่อให้ใครก็ได้ที่เขาสนใจ อาจจะเปิดสอนในอนาคตก็ได้” คุณเจี๊ยบกล่าวทิ้งท้าย

ตลอดการเดินทางกว่า 100 ปีของธุรกิจครอบครัวเล็กๆ ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นอย่าง “เฮงเสง” ย่อมผ่านทั้งยุครุ่งเรือง และยุคแห่งความท้าทาย แต่สิ่งหนึ่งที่เราหวังอยู่ลึกๆ คือ ความรู้และกรรมวิธีในการทำเบาะไหว้เจ้าทำมือแบบดั้งเดิมจะยังคงสืบทอดสู่คนรุ่นหลังต่อไปได้.

ใส่ความเห็น