วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > PR News > ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย รับรางวัลบริษัทที่น่าทำงานมากที่สุดแห่งปี จากเอชอาร์ เอเชีย

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย รับรางวัลบริษัทที่น่าทำงานมากที่สุดแห่งปี จากเอชอาร์ เอเชีย

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย รับรางวัลบริษัทที่น่าทำงานมากที่สุดแห่งปี จากเอชอาร์ เอเชีย ตอกย้ำพลังจาก 4 นโยบายหลักด้านทรัพยากรบุคคลของไมโครซอฟท์ ในการคำนึงถึงความสำเร็จแบบเป็นทีม การส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม การสนับสนุนการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด และการดูแลพนักงานอย่างครอบคลุม

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด รับรางวัลบริษัทดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2562 โดย เอชอาร์ เอเชีย (HR Asia Best Companies to Work for in Asia 2019 – Thailand Edition) ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีนายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับรางวัลในงานที่จัดขึ้น ณ โรงแรม แบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ เมื่อเร็วๆ นี้

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เราได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าความสำเร็จนี้มาจากทีมผู้บริหารและพนักงานของเราทุกคน หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กรในยุคดิจิทัล คือความสามารถในการทำงานที่โดดเด่นของบุคลากรภายในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เราดึงศักยภาพที่ดีที่สุดของพนักงานออกมาใช้ สนับสนุนเป้าหมายของพวกเขา และทำให้เขาพบคุณค่าจากการทำงาน รวมถึงมุ่งมั่นส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างในองค์กร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้พนักงานของเราสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อช่วยให้ทุกคนและทุกองค์กรบนโลกประสบความสำเร็จมากขึ้น”

นางสาวชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “พันธกิจของไมโครซอฟท์ คือการเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคนและทุกองค์กรบนโลกใบนี้ สามารถทำอะไรได้มากกว่าและประสบผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมีความสอดคล้องกับแรงบันดาลใจส่วนตัวในฐานะผู้ดูแลทรัพยากรบุคคลของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย คือ การเป็นกำลังหนุนสำคัญให้กับพนักงานของเราเพื่อให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือคนอื่นๆ บนโลกนี้ได้ ซึ่งเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาและเป็นกำลังหนุนหลักให้กับบุคลากรจนได้รับรางวัลในครั้งนี้ ทั้งด้านการสนับสนุนการทำงานแบบ agile คือการทำงานร่วมกันโดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่หน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนและเสริมคุณภาพของผลงาน พร้อมทั้งนำแนวคิดการทำงานในโลกยุคใหม่เข้ามาปรับใช้ให้พนักงานสามารถใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงความหมายจากการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความสำเร็จขององค์กร ทำให้พนักงานมีความเอาใจใส่ในงานที่ได้รับมอบหมายมากยิ่งขึ้น โดยทั้งหมดนี้พนักงานจะได้รับการดูแลและส่งเสริมผ่านระบบการประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยพิจารณาจากผลงานของตนเองและการมีส่วนร่วมในผลงานและการเรียนรู้จากผู้อื่น อีกทั้งนำกลับมาใช้เพื่อการสร้างสรรค์งานที่ดียิ่งขึ้น ดิฉันเชื่อว่าพนักงานของเราคือพลังสำคัญที่ทำให้องค์กรของเราขับเคลื่อนได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่มีขีดจำกัด รางวัลที่เราได้รับในครั้งนี้ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสำเร็จของเราในการนำนโยบายมาใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งการสนับสนุนการเรียนรู้และให้ความใส่ใจกับพนักงาน จนสะท้อนออกมาซึ่งความพึงพอใจของพนักงานจนได้รับรางวัลในครั้งนี้”

นางอาภาพร สกุลกิตติยุต สถาปนิกด้าน โซลูชั่น คลาวด์ หรือนักวิทยาการข้อมูล พนักงานผู้ทุ่มเทของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ที่เข้ามาร่วมงานกับไมโครซอฟท์ช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ กล่าวว่า “ดิฉันเริ่มเข้ามาทำงานไมโครซอฟท์ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ 7 เดือนครึ่ง ซึ่งค่อนข้างกังวลใจ เพราะคิดเอาเองว่าองค์กรส่วนใหญ่น่าจะกังวลกับการรับพนักงานที่จะต้องลางานทันทีหลังเข้าทำงานเดือนแรกๆ แต่สำหรับไมโครซอฟท์นั้นต่างออกไป ที่นี่ให้ความสำคัญกับการพิจารณาศักยภาพของคนมากกว่าเงื่อนไขอื่นๆ ดิฉันจึงมีโอกาสได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม และลาคลอดเป็นเวลา 5 เดือนพร้อมได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนด้วย หลังจากที่เริ่มทำงานไปได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น ขอบคุณมากที่มองเห็นศักยภาพและให้โอกาสเรา เมื่อกลับมาทำงาน ระบบการทำงานในองค์กรยังเอื้ออำนวยให้ทำงานได้อย่างยืดหยุ่น สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ จึงสามารถทำให้ทุ่มเทกับการทำงานจากที่ใดก็ได้รวมถึงบริหารเวลาของตัวเองได้เป็นอย่างดี จนล่าสุดดิฉันได้รับรางวัล Microsoft Platinum Award ในฐานะ Outstanding Achiever จากผลงานที่โดดเด่นในการสร้างความสำเร็จให้ลูกค้า ผ่านการนำเสนอโซลูชันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งความสำเร็จของลูกค้า ก็นับเป็นอีกก้าวของความสำเร็จในการทำงานด้วยเช่นกัน”

นายศุภวิชญ์ เกตุอุดม นักวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี พนักงานวัย 25 ปีที่เคยฝึกงานที่ไมโครซอฟท์ประเทศไทยภายใต้โครงการ MACH หรือ Microsoft Academy of College Hires ก่อนที่จะเข้ามาเป็นพนักงานประจำของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ก่อนที่จะเริ่มมาทำงานที่ไมโครซอฟท์ ผมเรียนจบด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเคยมีประสบการณ์ทำงานพาร์ทไทม์ที่ต้องใช้ทักษะเชิงเทคนิคมาก่อน จึงรู้สึกอยากลองทำงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อกับลูกค้าดูบ้าง ซึ่งไมโครซอฟท์ได้เปิดโอกาสให้ผมได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ เพราะผมได้เรียนรู้จากเพื่อนๆ พี่ๆ ผู้ร่วมงานที่มีประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถหลายคน เราทำงานกันเป็นทีมอย่างแท้จริง คำนึงถึงความสำเร็จแบบเป็นทีม จนสามารถนำเสนอโซลูชั่นที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผมยังได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จากการทำงานที่นอกเหนือหน้าที่ความรับผิดชอบ สำหรับผมที่นี่คือแหล่งความรู้ที่พร้อมจะแบ่งปัน ผมเชื่อว่ามีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้ามาทำงานที่บริษัทไอทีระดับโลกนี้แบบผม เพียงฝึกตัวเองให้พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ เพราะไมโครซอฟท์เป็นบริษัทที่สอนให้เราพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ให้การทำงานที่ยืดหยุ่น เปิดกว้าง และให้ความสำคัญกับความสามารถเฉพาะตัวของบุคลากรแต่ละคน ทั้งหมดนี้นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเปิดโอกาสด้านความก้าวหน้าในอาชีพการงานของทุกคนได้อย่างเต็มศักยภาพ”

รางวัลบริษัทดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย โดย เอชอาร์ เอเชีย มีที่มาจากผลการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานภายในองค์กรโดยใช้เกณฑ์การตัดสินด้วยโมเดลการประเมินการมีส่วนร่วมโดยรวม หรือ Total Engagement Assessment Model (TEAM) ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพนักงาน 3 ประการ ได้แก่

1. องค์กรที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง (Collective Organization for Real Engagement: CORE) ซึ่งประกอบด้วยการประเมินด้านวัฒนธรรมและจริยธรรม ความเป็นผู้นำและองค์กร และความคิดริเริ่มที่มีการดำเนินงานอยู่

2. การมีส่วนร่วมระดับบุคคล (Self: Heart, Mind & Soul) ประกอบด้วยการประเมินการมีส่วนร่วมทางด้านอารมณ์ ความตั้งใจและแรงจูงใจ และพฤติกรรมและการสนับสนุน

3. การมีส่วนร่วมระดับกลุ่ม (Group: Think, Feel & Do) ประกอบด้วยการประเมินการตระหนักรู้ร่วมกัน สภาพอารมณ์ภายในสถานที่ทำงาน และพฤติกรรมและการทำงานร่วมกันของทีม

ใส่ความเห็น