วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ไปรษณีย์ไทยสู้ศึกรอบด้าน เร่งผลงานสนองกลยุทธ์ 4.0

ไปรษณีย์ไทยสู้ศึกรอบด้าน เร่งผลงานสนองกลยุทธ์ 4.0

กลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมาเมื่อมีรายงานว่า สมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย (ปณท) ไม่ผ่านการประเมินผลงานประจำปี 2560 จนเกิดกระแสรวมตัวชุมนุมประท้วงของกลุ่มพนักงานพร้อมติดริบบิ้นดำเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา

แม้ล่าสุด บอร์ดไปรษณีย์ไทยรีบออกมติสยบความเคลื่อนไหวยืนยันการประเมินผลงานยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา แต่ดูเหมือน “ไปรษณีย์ไทย” กำลังเจอศึกรอบด้าน ทั้งการแข่งขันในสมรภูมิธุรกิจโลจิสติกส์ที่เคยผูกขาดมาอย่างยาวนาน เพราะมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามารุกตลาดดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นเคอรี่เอ็กซ์เพรส เอสซีจีเอ็กซ์เพรส และไลน์แมน แถมบิ๊ก ปณท ยังถูกเกาะติดผลงานชนิดมีสิทธิ์หลุดจากตำแหน่งได้

ทั้งหมดทำให้ไปรษณีย์ไทยในฐานะองค์กรรัฐวิสาหกิจต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทุกวิธี โดยเฉพาะการสนองนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเร่งผลงานรูปธรรมชิ้นสำคัญก่อนการเลือกตั้งในปี 2562

แผนสำคัญ คือการให้ไปรษณีย์ไทยเป็นตัวกลางต่อยอดเครือข่ายเน็ตประชารัฐที่ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 24,700 หมู่บ้าน ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ด้วย “อีคอมเมิร์ซ”

โจทย์สำคัญ คือ ชาวบ้านขายสินค้า ปณท เป็นตัวกลางติดต่อผู้ซื้อด้วยระบบออนไลน์ เงินมาถึงชาวบ้านทั่วประเทศ ลูกหลานไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองใหญ่ ชาวบ้านในชุมชนลืมตาอ้าปากได้

ถ้าสำเร็จย่อมหมายถึงผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล คสช. ซึ่งบิ๊กไปรษณีย์อย่างสมร เทิดธรรมพิบูล รับรู้ความต้องการและเป้าหมายของรัฐบาลอย่างดีตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งช่วงเดือนมกราคม 2559

แน่นอนว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปณท ปรับกลยุทธ์มากมาย ทั้งจากแรงกดดันทางธุรกิจ แม้ยังสามารถยึดกุมส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 52% และต้องเร่งสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสมรย้ำกับสื่อมาตลอดว่า ไปรษณีย์ 4.0 ต้องเกิดจากการปรับการทำงานทั้ง 4 ระบบ ตั้งแต่ระบบรับฝาก ระบบคัดแยก ระบบการส่งต่อและระบบการนำจ่าย เพื่อรองรับปริมาณการจัดส่งมากกว่า 8 ล้านชิ้นต่อวัน เสริมเทคโนโลยีใหม่และสนองพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สมรกล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทต้องทำให้ระบบรับฝากสะดวกทุกที่ตลอด 24 ชั่วโมง ต้องเพิ่มช่องทางการรับฝากมากขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการรับฝากสิ่งของนอกที่ทำการไปรษณีย์ของกลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซ ผ่านโมบายแอพพลิเคชัน เชื่อมโยงกลุ่มลูกค้ากับทีมผู้ให้บริการรับฝากนอกสถานที่ ซึ่งไปรษณีย์ไทยเริ่มเปิดให้บริการรับฝากสิ่งของผ่านเครื่องให้บริการรับฝากไปรษณีย์อัตโนมัติ (APM) ที่กำลังรีบติดตั้งเพิ่มอีก 7 แห่งใน จ.กระบี่, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี และแม่สอด หลังจากติดตั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและได้รับการตอบรับอย่างดี

ส่วนบริการไปรษณีย์โดยระบบเคาน์เตอร์เน้นไปรษณีย์เวอร์ชั่นใหม่ (New CA POS) เชื่อมโยงระบบการทำงานตั้งแต่หน้าเคาน์เตอร์รับฝากจนถึงขั้นตอนการนำจ่าย ซึ่งทดลองติดตั้งระบบใหม่ 255 แห่ง และทยอยติดตั้งทั้ง 1,300 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับลูกค้ารายใหญ่ มีบริการรองรับการฝากล่วงหน้าได้ที่บ้านผ่านแอพ PROMPT POST คำนวณค่าใช้บริการอัตโนมัติ ซึ่งที่ทำการกลางทางและที่ทำการปลายทางจะทราบจำนวนปริมาณงานล่วงหน้า มีบริการจัดตั้งเครือข่ายรถยนต์สำหรับรับฝากสิ่งของ ณ ที่อยู่ลูกค้า โดยนำร่อง 10 แห่ง ได้แก่ สามเสนใน, หลักสี่, ปากเกร็ด, จรเข้บัว, รังสิต, คลองจั่น, ภาษีเจริญ, ยานนาวา,พระโขนง และพระประแดง รวมถึงบริการ Same day Post จัดส่งของด่วนในพื้นที่ กทม. ภายในวันเดียว

ขณะเดียวกัน ปณท เพิ่งติดตั้งเครื่องคัดแยกไปรษณีย์อัตโนมัติแบบ Cross Belt Sorter สามารถคัดแยกกล่องพัสดุ 9,000 ชิ้นต่อชั่วโมง และเครื่องคัดแยกไปรษณีย์อัตโนมัติแบบ Mix Mail Sorter คัดแยกซองจดหมาย 8,000 ชิ้นต่อชั่วโมง โดยประเดิมติดตั้งที่ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา จ.ชลบุรี และเตรียมติดตั้งเครื่อง Cross Belt Sorter อีก 2 เครื่อง ที่สำนักงานใหญ่หลักสี่เดิม และศูนย์อีคอมเมิร์ซที่จะสร้างเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2561 บริเวณพื้นที่หลักสี่ เพื่อรองรับปริมาณงานลูกค้าอีคอมเมิร์ซรายใหญ่กว่า 100 ราย

ทั้งนี้ จะมีบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท.ดบ.) รับผิดชอบเส้นทางส่งต่อด้วยรถขนส่งไปรษณีย์ 5 เส้นทางหลัก ได้แก่ เส้นทางศรีราชา-กบินทร์บุรี, เส้นทางพระนครศรีอยุธยา-กบินทร์บุรี, เส้นทาง กทม.-กบินทร์บุรี, เส้นทางใน กทม. และเส้นทางอีเอ็มเอสใน กทม.

ด้านแผนเร่งต่อยอดเน็ตประชารัฐ ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล มีการพัฒนาแอพพลิเคชันและติดตั้งระบบพีโอเอส (POS: Point of Sale) เพื่อบริหารจัดการค้าปลีกผ่านระบบร้านค้าออนไลน์ ระบบอี-เพย์เมนต์ และระบบอีโลจิสติกส์ ให้ร้านค้าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยตั้งเป้าติดตั้งครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 5,000 แห่ง และมีทีม Area Coach ลงพื้นที่ที่ทำการไปรษณีย์ ควบคุมคุณภาพการบริการ การทำตลาด และการสร้างกลยุทธ์การแข่งขันกับคู่แข่งในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย 7 แห่ง ได้แก่ จ.ชลบุรี 1 แห่ง และกรุงเทพฯ 6 แห่ง ได้แก่ อ่อนนุช, รามอินทรา, สามเสนใน, บางขุนเทียน, บางพลี และลาดพร้าว

ล่าสุด ไปรษณีย์ไทยเดินหน้าจับมือกับบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวร้านออนไลน์ thailandpostmart.com หรือ อี-มาร์เก็ตเพลส ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากทั่วประเทศ รองรับโครงการดิจิทัลชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน และสินค้าโอทอปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงสุดยอดของดีของเด่นจากชุมชนทั่วไทย เช่น อาหารชื่อดังจากหลายพื้นที่อย่างแดงแหนมเนือง หมูย่างเมืองตรัง เป็ดย่างพิมาย รวมถึงสินค้าของไปรษณีย์ โดยสามารถสั่งได้ตลอด 24 ชม. และจัดส่งสินค้าถึงมือภายใน 1-2 วันทำการหลังรับคำสั่งซื้อและชำระเงิน

ถ้าดูจากปี 2560 ซึ่งไทยแลนด์โพสต์มาร์ทเริ่มให้บริการอย่างไม่ทางการ มียอดจำหน่ายสินค้ากว่า 50 ล้านบาท แต่มั่นใจว่า หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการและเพิ่มรายการสินค้าจากแหล่งผลิตโดยตรงอีกเดือนละ 1,000 รายการ จะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท โดยวางเป้าขยายฐานสินค้าชุมชนและของดีทั่วไทยในเว็บไซต์ไม่ต่ำกว่า 12,000 รายการ ภายในเดือนเมษายน 2562 ใน 8 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มสินค้าอร่อยทั่วไทย ของดีประจำจังหวัด สินค้าชุมชน สินค้าไปรษณีย์ สุขภาพและความงาม บ้านและสวน ยานยนต์ และสินค้าฮาลาล รวมทั้งจะเชื่อมโยงเข้ากับสินค้าในระบบร้านค้าปลีก หรือ POS ชุมชนอีก 5,000 จุด ภายในสิ้นปีนี้

สมรยังย้ำว่า ภาพรวมตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มูลค่าเม็ดเงินจะทะลุกว่า 3 ล้านล้านบาทในปี 2563 ทำให้มูลค่าตลาดการขนส่งสินค้าและไปรษณีย์ของประเทศเติบโตรวดเร็ว ซึ่งไปรษณีย์ไทยตั้งเป้ารายได้รวมปีนี้จะสูงถึง 3.08 หมื่นล้านบาท เติบโตกว่า 10% จากปี 2560 แยกสัดส่วนรายได้จากการส่งพัสดุแบบซอง 37% หรือราวปีละ 1 หมื่นล้านบาท รายได้จากพัสดุกล่อง มีสัดส่วน 43% หรือ 1.16 หมื่นล้านบาท/ปี โดยรายได้พัสดุกล่องมีแนวโน้มโตเร็วมากจากตลาดอี-คอมเมิร์ซ

อาศัยข้อได้เปรียบประการสำคัญ คือ ไปรษณีย์ไทยมีฐานข้อมูลประชากรทั่วประเทศ และมีสาขาบริการครอบคลุม ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล

แต่ทั้งหมดทั้งปวง ผลงานที่เร่งปั๊มถี่ยิบทุกเดือนจะเข้าตากรรมการหรือไม่ การประชุมบอร์ด ปณท ครั้งต่อไป รู้กัน

 

ล้อมกรอบ

จากม้าเร็ว สู่ยุค 4.0

ระบบไปรษณีย์ไทยใช้เวลามากกว่า 138 ปี สร้างและพัฒนาจนกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ โดยแบ่งเป็นยุคๆ จากยุคที่ 1 การสื่อสารแห่งราชธานี จากการติดต่อข่าวสารที่อาศัยเครือข่ายกลุ่มพ่อค้า ใช้ม้าเร็ว และตั้งคนเร็วตามเมืองสำคัญ จนถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่สนพระทัยในการเขียนจดหมายโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษ และทรงใช้การไปรษณีย์ติดต่อกับประมุขและบุคคลทั้งในและนอกประเทศ

๐ ยุคที่ 2 สืบศักดิ์ศิวิไลซ์ในสากล
ปี 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน “ข่าวราชการ” ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์ มีที่ทำการ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองโอ่งอ่าง ซึ่งปัจจุบันถูกรื้อสร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพุทธ เรียกชื่อ “ไปรษณียาคาร”

ยุคนั้น มีการผลิต “แสตมป์ชุดโสฬส” แสตมป์ชุดแรกของประเทศ จัดพิมพ์ไปรษณียบัตรครั้งแรก

ต่อมา มีการเปิดโรงเรียนไปรษณีย์และคมนาคม สร้างที่ทำการไปรษณีย์แห่งที่ 2

๐ ยุคที่ 3 อภิวัฒนาการไปรษณีย์ไทย
ปี 2441 กระทรวงโยธาธิการประกาศรวมกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข เรียกชื่อ “กรมไปรษณีย์โทรเลข” และพัฒนาบริการ เปิดที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขครบ 18 มณฑลทั่วประเทศ ใช้รถยนต์ขนส่งไปรษณียภัณฑ์ และเปิดเส้นทางขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศในประเทศ จนย้ายที่ทำการใหญ่มารวมกับที่ทำการไปรษณีย์แห่งที่ 2 และเปลี่ยนชื่อเป็น “ที่ทำการไปรษณีย์กลาง” ย่านเจริญกรุง

ช่วงสู่รอยต่อการเมืองปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย กรมไปรษณีย์โทรเลขเข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ กระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 แยกงานระดับปฏิบัติการและตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ

๐ ยุคที่ 4 ธำรงพันธกิจเพื่อประชา
ปี 2520 กรมไปรษณีย์โทรเลขแปลงสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้ชื่อ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) สังกัดกระทรวงคมนาคม มีการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พัฒนาบริการสื่อสารทั้งด้านไปรษณีย์และโทรคมนาคม

ปี 2529 เปิดอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ย่านถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่

ปี 2546 แปลงสภาพอีกครั้งเป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) องค์กรรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

๐ ยุคที่ 5 ดำเนินวัฒนาเพื่อปวงชน
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ขยายเครือข่ายที่ทำการไปรษณีย์มากกว่า 1,300 แห่ง และศูนย์ไปรษณีย์ ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค พร้อมกับการเร่งยกระดับบริการสู่ยุคออนไลน์และยุค 4.0 ท่ามกลางการแข่งขันที่ร้อนแรง เป็นการพลิกโฉมหน้าอีกครั้ง

ใส่ความเห็น