วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > ไตรมาสแรกส่งออกไทยพุ่ง หวังทั้งปีโตต่อเนื่องไร้ผันผวน

ไตรมาสแรกส่งออกไทยพุ่ง หวังทั้งปีโตต่อเนื่องไร้ผันผวน

แม้ว่ากรมอุตุฯ จะประกาศว่าไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หากแต่สถานการณ์เหตุบ้านการเมือง และเศรษฐกิจโดยรวมยังคงร้อนระอุคุกรุ่น และนับวันดูจะยิ่งทวีความร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งการปรับราคาก๊าซหุงต้ม การปรับอัตราค่าไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกของตลาดโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งออกมาเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าโดยสาร

และทั้งหมดทั้งมวลย่อมส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมสู่ประชาชนรากหญ้าตาดำๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คนหาเช้ากินค่ำต้องพยายามอยู่ให้รอดในสภาวการณ์เช่นนี้ แม้ภาครัฐจะพยายามออกมาแจกแจงแถลงไขต่อประเด็นการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคว่า “กระทบน้อย”

ความกังวลต่อเรื่องเศรษฐกิจและปากท้อง ทั้งจากแง่มุมของประชาชนและภาครัฐดูจะสวนทางกันไม่น้อย เมื่อล่าสุด หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เปิดเผยตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกว่าสูงถึง 4.8% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวน่าจะดึงดูดและเร่งนักลงทุนที่กำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจว่าจะลงทุนในไทยดีหรือไม่ ขณะที่แง่มุมจากผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือประชาชนทั่วไปกลับเห็นต่าง และมองว่าเศรษฐกิจไทยดีจริงแต่แค่ในระดับบนเท่านั้น คล้ายกับว่าเม็ดเงินที่วิ่งอยู่ในระบบเศรษฐกิจจริงๆ ไม่อาจหยั่งรากถึงในระดับล่างได้เลย

ขณะที่ฟันเฟืองในระบบเศรษฐกิจของไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความผันผวน หากแต่ฟันเฟืองที่ยังคงขับเคลื่อนได้ดี ยังคงเป็นฟันเฟืองตัวเดิมอย่างการท่องเที่ยว และการส่งออก

โดยเฉพาะการส่งออกที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี กระทั่งกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยรายงานตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนเมษายน 2561 ว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องสูงถึง 12.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ซึ่งมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า 18,945.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การค้าระหว่างประเทศในเดือนเมษายนนี้กลับเป็นการค้าที่ขาดดุล ซึ่งเป็นการขาดดุลในรอบ 43 เดือน เมื่อตัวเลขการนำเข้าในเดือนเมษายนอยู่ที่ 20,229 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวถึง 20.4 เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยมาจากความเปลี่ยนแปลงของทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น และมีการนำเข้าสินค้าทุนมาใช้ในกระบวนผลิตเพิ่มขึ้น

และหากพิจารณาตัวเลขการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน 2561 มีมูลค่า 81,755 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.5 เปอร์เซ็นต์ และการนำเข้ามีมูลค่า 81,102 ล้านดอลลาร์ เกินดุลอยู่ 673 ล้านดอลลาร์

สินค้าที่เป็นพระเอกที่ทำให้การส่งออกของไทยเติบโตในอัตราเร่งนี้ ยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มเกษตร ได้แก่ ผลไม้สด ผัก แช่เย็น แปรรูป ซึ่งมีการขยายตัว 50.7 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ตลาดหลักของสินค้าเกษตรคือ ประเทศจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา

ขณะที่สินค้าส่งออกอื่นๆ ที่ยังมีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี คือ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป โดยประเทศที่นิยมนำเข้าสินค้าจากไทย ได้แก่ อินเดีย กลุ่มประเทศ CLMV และสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าในห้วงเวลานี้ฟันเฟืองการส่งออกของไทยจะมีแรงเหวี่ยงที่ดี ซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค กระนั้นในช่วงเวลา 8 เดือนที่เหลือ ยังคงต้องเฝ้าระวังสังเกตความเสี่ยงที่อาจสร้างความผันผวนให้เกิดขึ้น แม้ว่าหลายฝ่ายจะคาดการณ์ออกมาในทางดีว่า การส่งออกตลอดทั้งปี 2561 น่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีอัตราการขยายตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ดูเหมือนจะอยู่ในช่วงคลื่นลมสงบ สร้างความโล่งใจให้แก่บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าและส่งออกไทยไม่น้อย

ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปีนี้ น่าจะยังรักษาอัตราการขยายตัวที่เป็นบวกต่อเนื่องจาก 4 เดือนแรกได้ เมื่อเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง รวมถึงระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้การที่สหรัฐฯ และจีน ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่สงครามการค้า น่าจะทำให้ภาพการค้าโลกมีความผันผวนลดลง ปัจจัยบวกเหล่านี้จะช่วยหนุนภาพการส่งออกสินค้าไทยตลอดทั้งปี 2561 ให้ขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 8.0

และแม้ว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจทั้งจากฝั่งตะวันออกของโลกอย่างจีน และฝั่งตะวันตกของโลกอย่างสหรัฐฯ จะคลี่คลายไปในทางที่ดีแล้วก็ตาม แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในอนาคต คงจะดีไม่น้อยหากผู้ประกอบการไทยจะเฝ้าระวังและอ่านสถานการณ์รอบด้าน โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการนำเข้าของจีน ซึ่งหมายถึงการลดภาษีการนำเข้า

แง่มุมหนึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้า และมีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศจีน กระนั้นนโยบายดังกล่าวของจีนเป็นการสร้างความสะดวกให้แก่สินค้านำเข้ามากขึ้น นับเป็นการเปิดกว้างทางการค้าของจีน

นโยบายนี้เองที่อาจทำให้ไทยเผชิญหน้ากับคู่แข่งทางการค้าที่มีตลาดหลักอยู่ในประเทศจีนมากขึ้น แม้จะมีข้อดีที่ว่า เป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้พัฒนาศักยภาพสินค้าของตัวเองเพื่อให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น แต่นั่นหมายถึงผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเพียงพอที่จะพัฒนาและปรับปรุง รวมไปถึงการมีต้นทุนและสายป่านที่ยาวพอ

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงพาณิชย์ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์สงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังให้ไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในภูมิภาค โดยเฉพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่กลุ่ม Start-up ในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ เมื่อสินค้าในกลุ่มนี้มีมูลค่าการส่งออกกว่า 12.2 หมื่นล้านดอลลาร์

โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 12,093 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมองว่า การส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกตลาด และมีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น กำลังซื้อสูง จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะตลาด จีน มาเลเซีย อินเดีย เมียนมา เวียดนาม

ดูเหมือนว่าการส่งออกของไทยจะเป็นความหวังของเศรษฐกิจไม่น้อย เมื่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าหมายการส่งออกทั้งปีต้องเติบโต 8 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่ากว่า 255,630 ล้านเหรียญดอลลาร์ โดยให้เน้นการส่งออกไปยังเมืองรองและตลาดใหม่ โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าและส่งออกผลไม้ตามยุทธศาสตร์ ประกอบกับการผลักดันให้ไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นมหานครผลไม้โลก

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสถานการณ์การส่งออกของไทยจะแกว่งไกวตามแรงเหวี่ยงของจีนและสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด บทสรุปการส่งออกของศักราชนี้จะเป็นอย่างไร ผันผวนมากน้อยเพียงใดคงต้องเฝ้าดู

ใส่ความเห็น