วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > โควิด-19 ซ้ำเติม ตลาดแรงงานไทยวิกฤต

โควิด-19 ซ้ำเติม ตลาดแรงงานไทยวิกฤต

ตลาดแรงงานไทยถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีความเปราะบางมากเป็นพิเศษ นั่นเพราะเมื่อใดก็ตามที่เกิดสภาวะวิกฤตกับเศรษฐกิจ แรงงานไทยที่แม้ไม่ใช่ด่านหน้าที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทว่ากลับเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงปะทะเสมอ

การเลิกจ้าง ตัวเลขการว่างงาน เป็นภาพสะท้อนทิศทางความเป็นไปที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ ไม่จำเพาะเจาะจงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ตลาดแรงงานทั่วโลกก็เช่นกัน คล้ายกับว่าความมั่นคงของสถานภาพแรงงานจะดีร้าย ขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่ลดลงของเศรษฐกิจไทยในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งทยอยปิดตัวลง อันนำมาสู่การเลิกจ้างแรงงาน ซึ่งตัวเลขการว่างงานในเดือนธันวาคม 2562 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยคือ มีผู้ว่างงานจำนวน 367,000 คน เพิ่มขึ้น 18,000 คน เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 ที่มีตัวเลขผู้ว่างงาน 349,000 คน

บาดแผลของแรงงานทั้งในและนอกระบบจากสภาวะเศรษฐกิจซบเซายังไม่หายดี ภัยร้ายที่เสมือนคลื่นระลอกใหม่ ซัดเข้ามากระหน่ำซ้ำเติม กดหัวให้กราฟของผู้มีงานทำต่ำลง

หากจะกล่าวว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายก็ดูจะไม่แปลกนัก เพราะทั้งไทยและทั่วโลกต่างเคยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคมาหลายต่อหลายครั้ง ทว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 กลับสร้างความเสียหายในระบบแตกต่างไปจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในครั้งก่อนๆ

มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้ระบบเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดถูกฟรีซไว้ชั่วคราว หลายอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องโดยตรง ภาคการบริการ ภาคธุรกิจ SMEs ตั้งแต่ขนาดกลางถึงขนาดเล็ก หรือกลุ่มธุรกิจที่สายป่านไม่ยาว เป็นผลให้แรงงานที่อยู่ในกลุ่มนี้ต้องพบเจอกับความเสี่ยงอีกครั้ง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center) หรือ EIC มองว่า จากตลาดแรงงานที่มีความอ่อนแออยู่ก่อนหน้า ประกอบกับหลายปัจจัยลบที่เข้ามากระทบพร้อมๆ กัน ทั้งการแพร่ระบาดของ Covid-19 การหดตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาภัยแล้ง วิกฤตครั้งนี้จึงมีแนวโน้มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อแรงงานในหลายอุตสาหกรรม โดยกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด หนีไม่พ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร บันเทิง และค้าส่งค้าปลีก เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลโดยตรงจากการหายไปของนักท่องเที่ยวและมาตรการ Lockdown ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจที่มีความรุนแรง และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า (U-shaped recovery) ในส่วนของแรงงานในภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรงมากในปีนี้เป็นสำคัญ และยังอาจรวมถึงผลกระทบทางอ้อมจากกำลังซื้อที่หดตัวอีกด้วย ทำให้ความสามารถในการดูดซับแรงงานที่ตกงานจากภาคอื่นๆ มีค่อนข้างจำกัดในวิกฤตครั้งนี้

EIC มองว่า ลักษณะการจ้างงานจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อความเสี่ยงด้านรายได้และความมั่นคงของการทำงาน โดยกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้าง SMEs ซึ่งมีจำนวนรวมกันสูงถึง 23.4 ล้านคน คิดเป็น 62.2 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานรวม และมักจะมีความอ่อนไหวต่อสภาวะเศรษฐกิจ ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง โดยเปรียบเทียบในทุกสาขาธุรกิจ

การถาโถมเข้ามาของวิกฤตต่างๆ แม้นัยหนึ่งจะเป็นบททดสอบความแข็งแกร่ง ความอดทน หรือแม้กระทั่งแนวทางการแก้ปัญหาและการรับมือ ทว่า วิกฤตที่ไทยกำลังเผชิญคล้ายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลง

เศรษฐกิจถดถอย การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ประชากรลดลง กำลังซื้อลดลง ภัยแล้ง หลายปัจจัยเหล่านี้ EIC ประเมินว่า จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3.5 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานประมาณ 8-13 เปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงานรวมปัจจุบัน ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาในปี 1985 โดยจะสูงกว่าสถิติอัตราการว่างงานสูงสุดเดิมที่ 5.9 เปอร์เซ็นต์ ในปี 1987 ทิ้งห่างอัตราการว่างงานในวิกฤตต้มยำกุ้งที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์ ในปี 1998 และในวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2009

สาเหตุการว่างงานในครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าในอดีต เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีความเปราะบางสะสม ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า ประกอบกับมีมาตรการ lockdown ซึ่งจำเป็นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคแต่ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (sudden stop) อีกทั้งภาคเกษตรที่เคยเป็นแหล่งดูดซับแรงงานก็มีแนวโน้มที่จะมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่นั้นในครั้งนี้จากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง

ทั้งนี้ EIC มองว่า จะมีแรงงานอีกจำนวนมากที่แม้จะไม่ตกงาน แต่จำนวนชั่วโมงการทำงานและรายได้จะลดลงอย่างมาก หรือกระทั่งไม่มีรายได้เลยในบางช่วง และหากผลกระทบลากยาวไปจนถึงครึ่งปีหลังหรือนานกว่านั้น จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นได้มากกว่าที่ประเมินไว้ข้างต้นจากกิจการที่จะมีการปิดตัวลงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเสี่ยงที่มีสภาพคล่องไม่เพียงพอ

จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2019 พบว่า ครัวเรือนไทยที่พึ่งพารายได้จากการทำงานเป็นลูกจ้างอย่างเดียวมีจำนวน 7.9 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 36.2 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งในกลุ่มนี้มีจำนวนถึง 5.2 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 65.5 เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าว ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมรายจ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือน และหากเป็นครัวเรือนที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีครัวเรือนจำนวนถึง 4.3 ล้านจากทั้งหมด 5.8 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 72.9 เปอร์เซ็นต์ ที่มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ ยังมีสถิติจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในภาคอุตสาหกรรม 2562 โดยเปรียบเทียบครึ่งปีแรกของปี 2561 และ ปี 2562 ติดลบถึง 8.0 เปอร์เซ็นต์ สามารถส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้างงานที่ลดลงในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ธุรกิจการก่อสร้าง -13.64 เปอร์เซ็นต์ โลจิสติกส์และการขนส่งลดลง -8.00 เปอร์เซ็นต์ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตลดลง -6.20 เปอร์เซ็นต์ การท่องเที่ยวและโรงแรม ลดลง -6.20 เปอร์เซ็นต์ การค้าส่ง-ค้าปลีก ลดลง -4.35 เปอร์เซ็นต์ การเกษตรกรรม เพิ่มขึ้นเพียง +3.80 เปอร์เซ็นต์

เมื่อถึงเวลานี้ แม้หลายฝ่ายจะยังไม่ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันเท่าใดนัก นั่นเพราะปัญหาเรื่องโควิด-19 ยังไม่จบและยังไม่พ้นไปจากประเทศไทย แม้รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะมีจำนวนลดลงจนเป็นที่น่าพอใจ

ทว่า มาตรการเฝ้าระวัง คำสั่งบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ยังคงอยู่ ประชาชนยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมเฉกเช่นในสภาวะปกติได้ เพราะมีตัวอย่างจากประเทศที่ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง และประกาศผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ จนท้ายที่สุดพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เช่น สิงคโปร์ ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มถึง 1,426 ราย (ข้อมูลวันที่ 21 เมษายน 2563) ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์กำลังพิจารณาใช้เรือสำราญเป็นที่พักสำหรับแรงงานต่างชาติที่หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 เพื่อลดความแออัดในหอพัก

ความถดถอยของเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อที่ลดลง หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ปัญหาภัยแล้ง ปัจจัยลบเหล่านี้ส่งผลลบต่อตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน คงต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจากไทยทำสงครามกับเชื้อไวรัสโควิด-19 จนชนะได้แล้ว ภาครัฐจะมีมาตรการหรือแนวทางที่จะแก้ปัญหาแรงงานไทยอย่างไร เมื่อตลาดแรงงานเป็นรากฐานสำคัญที่มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้อย่างแข็งแรง

ใส่ความเห็น