วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > โกลคอนลุยล้างขาดทุน A&W ถึงคิวเจาะตลาดลูกชิ้นกัญชง

โกลคอนลุยล้างขาดทุน A&W ถึงคิวเจาะตลาดลูกชิ้นกัญชง

โกลบอล คอนซูเมอร์ หรือ GLOCON ประกาศเร่งเกมบุกตลาดใหม่ชนิดพลิกกระบวนท่า หลังปิดฉากฟาสต์ฟูด A&W หันมาลุยธุรกิจลูกชิ้นปิ้งบ้านๆ ทั้งปูพรมขยายสาขาในสถานีบริการน้ำมัน ส่งฟูดทรักเจาะทำเลหลักๆ และเตรียมงัดเมนูใหม่ “ลูกชิ้นอารมณ์ดี” ผสมกัญชงเป็นจุดขายกระตุ้นรายได้ครั้งใหญ่

ขณะเดียวกัน ยังมองหาโอกาสเพิ่ม Portfolio ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยขณะนี้เล็งเป้าหมาย 2 ตลาดใหม่ คือ ตลาดร้านก๋วยเตี๋ยวและตลาดซอสปรุงรสบนโต๊ะอาหาร รวมทั้งเร่งแตกไลน์สินค้าในกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานแช่เย็นแช่แข็งและกลุ่มสแน็กประเภทผลไม้อบแห้ง

แน่นอนว่า โกลคอนผลักดันธุรกิจอาหารอย่างดุเดือด โดยเฉพาะการต่อยอดจากการร่วมทุนซื้อหุ้นบริษัท พงษ์-ศราแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (PSM) และบริษัท พงษ์-ศรา ดิสทริบิวชั่น จำกัด (PSD) ผู้ผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นแบรนด์ “ลูกชิ้นทิพย์” ในสัดส่วนร้อยละ 70 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดเมื่อปลายปี 2564 เนื่องจากบริษัท พงษ์-ศราแมนูแฟคเจอริ่ง มีโรงงานผลิตสินค้ากลุ่มลูกชิ้น (Meatball) มากกว่า 35 เอสเคยู เช่น ลูกชิ้นหมูเล็ก-ใหญ่ ลูกชิ้นเอ็นหมู ลูกชิ้นหมูผสมไก่ ลูกชิ้นก๋วยเตี๋ยว ไส้กรอกรมควันหนังกรอบ และกลุ่มซอสน้ำจิ้ม ทั้งน้ำจิ้มลูกชิ้น น้ำจิ้มขวดสามรส ซึ่งสามารถแตกไลน์สินค้าอีกจำนวนมาก

ทั้งนี้ หากดูข้อมูลวิจัยของยูโรมอนิเตอร์พบว่า ตลาดอาหารประเภทเส้น (Rice, Pasta and Noodles) เติบโตต่อเนื่องจากปี 2563 มีเม็ดเงินรวม 69,277 ล้านบาท ปี 2564 เพิ่มเป็น 71,238 ล้านบาท และปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 73,230 ล้านบาท รวมทั้งคาดการณ์อีก 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตอยู่ที่ 79,029 หรือเกือบ 8 หมื่นล้านบาท

ส่วนตลาดซอส (Sauces, Dressings and Condiments) เมื่อปี 2564 มีมูลค่ามากถึง 49,536 ล้านบาท ปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 51,209 ล้านบาท ปี 2566 จะอยู่ที่ 52,990 ล้านบาท ปี 2567 จะอยู่ที่ 54,880 ล้านบาท และปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 56,899 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองตลาดล้วนมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลและยังสามารถเติบโตได้อีกในระยะยาว

นายนพพร ภัทรรุจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON เปิดเผยว่า บริษัทสามารถใช้ฐานการผลิตโรงงานลูกชิ้นทิพย์สร้างความหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มซอสที่มีการใช้บนโต๊ะอาหารของผู้บริโภคทุกครอบครัว มีศักยภาพทั้งในแง่มูลค่าตลาดและช่องว่างการเจาะตลาด

ที่สำคัญถือเป็นแผนสร้าง Portfolio ใหม่ หลังจากคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ตัดสินใจปรับโครงสร้างเคลียร์คัต (Clear cut) ธุรกิจที่สร้างผลขาดทุน โดยยุติการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร A&W ซึ่งมีผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันหลายปีผิดไปจากแผนเดิมที่เคยตั้งเป้าจะขยายสาขาทั่วประเทศครบ 100 สาขา เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งมากกว่า 10% ของตลาด QSR ในเซกเมนต์เบอร์เกอร์-ไก่ทอดที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท และขึ้นเป็นเบอร์ 3 ในตลาด

 

นอกจากนั้น ยังประกาศปิดกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร Kitchen Plus จำหน่ายอาหารจานเดียว ข้าวราดแกง ชุดเซตอาหาร สเต๊ก พาสต้า และอาหารรับประทานเล่นต่างๆ จากเดิมขยายสาขามากกว่า 30 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในโฮมโปรและสถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่น แต่ต้องทยอยปิดให้บริการจนเหลือ 2 สาขาและยอมปิดถาวรในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การยุติธุรกิจร้านอาหารทั้งสองแบรนด์อาจไม่ใช่การบริหารที่ผิดพลาดทั้งหมด แต่สาเหตุหลักมาจากพิษโควิดแพร่ระบาดหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เจอทั้งมาตรการล็อกดาวน์ การแข่งขันสูงในสมรภูมิธุรกิจและวิกฤตเศรษฐกิจ กำลังซื้อหดตัวหนัก ประชาชนขาดรายได้และหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ทำให้บริษัทต้องทบทวนแผนและหันมาลุยธุรกิจที่ถนัดมากกว่า

ปัจจุบันกลุ่มโกลคอนมีธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ธุรกิจอาหารแปรรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ลูกชิ้นทิพย์ และผลไม้อบแห้ง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 73% 2. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทต่างๆ สัดส่วน 24% และ 3. ธุรกิจเทรดดิ้ง สัดส่วน 3% โดยปีนี้ชูธงกลุ่มธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารพร้อมรับประทาน (Ready Meal) เพราะยังมีความต้องการสูงมาก

ผู้บริหารโกลคอนระบุว่า ถ้าไม่รวมผลประกอบการของ A&W จนส่งผลให้ยอดขาดทุนสะสมสูงกว่า 1,027 ล้านบาท บริษัทจะมีกำไรจาก Business Unit อื่นๆ รวมกว่า 60 ล้านบาท รายได้รวมเติบโตกว่า 23% แตะ 1,862 ล้านบาท ตามการเติบโตของยอดขาย โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแปรรูป ซึ่งรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์โควิด มีอัตราเติบโตกว่า 40% สามารถทำรายได้แตะ 642 ล้านบาท กลุ่มผลไม้อบแห้ง เติบโต 32% อยู่ที่ 465 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์เติบโต 14% อยู่ที่ 651 ล้านบาท

นั่นยิ่งตอกย้ำให้แผนธุรกิจในปี 2565 ต้องกลับมาเน้นอุตสาหกรรมอาหารที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งกลุ่มอาหารแปรรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน และผลไม้อบแห้ง พร้อมมองหาพันธมิตรรายใหม่ๆ ศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) โดยตั้งเป้าหมายผลักดันรายได้เติบโตแตะ 3,000 ล้านบาท ในปี 2565 และขยับสู่ระดับ 10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (ปี 2565-2570)

ด้านการผลิต บริษัททุ่มเงินลงทุนย้ายโรงงานอาหารแช่แข็งจากจังหวัดสมุทรสงครามไปยัง จ.สมุทรสาคร โดยเพิ่มกำลังการผลิตถึง 3 เท่า และย้ายโรงงานผลไม้อบแห้ง ซึ่งมีระบบสาธารณูปโภคที่ดีมีมาตรฐานระดับสากลรองรับการขยายกำลังการผลิตในอนาคตอีกกว่าเท่าตัว รวมถึงมีโรงงานลูกชิ้นทิพย์เข้ามาเสริมด้านการผลิตและจำหน่าย ซึ่งล่าสุดบริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารประเภทลูกชิ้นและไส้กรอก แบรนด์ “ลูกชิ้นทิพย์” ตั้งแต่เดือนมีนาคม และตั้งเป้าสร้างยอดขายจากแบรนด์ลูกชิ้นทิพย์ทั้งปี 550 ล้านบาท

“ถ้าดูข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์ ตลาด Ready Meal มูลค่าเม็ดเงินมากกว่า 26,000 ล้านบาท ยังมีรูมค่อนข้างใหญ่ ซึ่งเราเป็นผู้เล่นในตลาดอยู่แล้ว ทั้งแบรนด์อีซี่โกขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น มีส่วนแบ่งมากถึง 30% รองจากแบรนด์ของซีพีออลล์และซีพีแรม เรายังรับจ้างผลิตป้อนห้างโลตัส บิ๊กซี แม็คโคร ส่วนกลุ่มสแน็ก มีฟรุตสแน็กแบรนด์ Viiva อยู่ในตลาดและอีกตัวที่กำลังเร่งขยาย คือกลุ่ม Processed Meat and Seafood ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 25,000 ล้านบาท ซึ่งมีธุรกิจลูกชิ้นทิพย์เข้ามาเสริมพอร์ตเรียบร้อยแล้ว” นพพรกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะเมนูพระเอกกลุ่มกัญชง ทั้งกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็ง (Frozen Hemp Product) และกลุ่มลูกชิ้นทิพย์ เช่น ลูกชิ้นสาหร่ายผสมผงกัญชง ลูกชิ้นผสมผงกัญชง ลูกชิ้นปลาผสมผงกัญชง ลูกชิ้นอารมณ์ดีแบรนด์ “ลูกชิ้นทิพย์” น้ำจิ้มผสมกัญชง

ขณะที่ขยายไลน์เมนูใหม่รองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารพร้อมรับประทานแบรนด์ “อีซี่โก” เปิดตัวเมนูเกาหลีอย่างซุปกิมจิ ข้าวผัดกิมจิ บะหมี่ผัดซอสเกาหลี กลุ่มกับข้าว เช่น ต้มยำกุ้งแม่น้ำ ลาบทอด กลุ่มเมนูอาหารจากโปรตีนพืช (Plant Based Food) และกลุ่มฟรุตสแน็ก

สำหรับแบรนด์ลูกชิ้นทิพย์ บริษัทยังเพิ่มผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นคีโต ไม่ผสมแป้ง เน้นเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพและผู้ต้องการลดน้ำหนัก ลูกชิ้นวาฟเฟิล ลูกชิ้นใส่ถ้วยพร้อมรับประทาน ลูกชิ้นเขียวหวานไข่ข้น และลาบลูกชิ้น เพื่อความหลากหลายและเพิ่มจุดขายสนับสนุนแผนการขยายแฟรนไชส์ ซุ้มลูกชิ้นทิพย์ ซึ่งมีให้เลือก 3 รูปแบบ เงินลงทุนตั้งแต่ 8,790 บาท 21,900 บาท และ 31,900 บาท ตามขนาดซุ้ม จำนวนวัตถุดิบและเตา โดยเตรียมปูพรมสาขาในสถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่นและบางจาก รวมถึงเพิ่มรถฟูดทรักลูกชิ้นทิพย์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

ทั้งหมดถือเป็นการท้าพิสูจน์กลยุทธ์รอบใหม่ การลุยตลาดแมสมากขึ้นและพยายามสร้างไลน์ผลิตภัณฑ์ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม รองรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะโกลคอนคงไม่ต้องการบาดเจ็บจากธุรกิจอีกต่อไปแล้ว.

ใส่ความเห็น