วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > New&Trend > แอดแมน 2018 ชี้ โฆษณาวันนี้ไม่ควรมีดีแค่ขายของ พร้อมกระตุ้นคนโฆษณาใส่ใจสร้างงานเพื่อสังคม

แอดแมน 2018 ชี้ โฆษณาวันนี้ไม่ควรมีดีแค่ขายของ พร้อมกระตุ้นคนโฆษณาใส่ใจสร้างงานเพื่อสังคม

สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย แถลงข่าวจัดงาน แอดแมน อวอร์ดส แอนด์ ซิมโปเซียม 2018 (Adman Awards & Symposium 2018) งานประกวดและแสดงผลงานของคนในวงการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของธุรกิจการสื่อสารการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 โดยในปีนี้มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “Creativity for Sharing หรือ ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแบ่งปันสู่สังคม” ตอกย้ำความรับผิดชอบที่นักโฆษณาและนักสื่อสารการตลาดต้องมีและต้องตระหนักอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่วงการโฆษณาและการสื่อสารหมุนเร็ว ฉะนั้นทุกข้อความที่สื่อสารผ่านทุกชิ้นงานล้วนส่งผลต่อผู้รับสารทั้งสิ้น

โดยในงานแถลงข่าวยังได้มีการจัดงานเสวนา “โฆษณา ไม่ขายของ ……….. อย่างเดียว” เพื่อถกทุกมุมมองว่าโฆษณาที่ไม่ขายของมักไม่ประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ โดยได้รับเกียรติจากลูกค้าและครีเอทีฟชั้นนำของประเทศ อาทิ นางสาวภาณิศา สุวรรณรัตน์ นายกรณ์ เทพินทราภิรักษ์ นายกิตติ ไชยพร โดยมี นายเป็นเอก รัตนเรือง มาเป็นผู้ดำเนินการเสวนา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นายปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธานคณะดำเนินงาน แอดแมน อวอร์ดส แอนด์ ซิมโปเซียม 2018 กล่าวว่า งานมหกรรมโฆษณานี้เป็นปีที่ 15 แล้ว ถือเป็นงานรวมตัวใหญ่ที่สุดของคนทำงานในวงการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทตัวแทนโฆษณา บริษัทสื่อโฆษณา บริษัทกราฟฟิคดีไซน์ บริษัทสื่อดิจิตอล รวมถึงบริษัทประชาสัมพันธ์ ตลอดจนผู้ประกอบการและนักการตลาด โดยในปีนี้ต่างออกไปจากทุกปีตรงที่สมาคมโฆษณาฯ ต้องการให้งาน แอดแมนฯ เป็นงานของทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่งานของผู้คนในวงการโฆษณาเท่านั้น แต่ต้องการให้เป็นงานของประชาชนทุกคนให้ได้เรียนรู้ ร่วมคิด สร้างและรับแรงบันดาลใจไปพร้อมๆ กัน จึงเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ “Creativity For Sharing” ในปีนี้

“ในปีนี้เราจัดงานให้ต่างออกไปจากทุกๆ ปี คือ ไม่เพียงแต่งานประกวดรางวัลและมอบรางวัลให้กับผู้คนในวงการโฆษณาแล้ว แต่ยังเราได้เปลี่ยนจากงานประกาศผลรางวัล ให้เป็น “งานวันความคิดสร้างสรรค์แห่งชาติ (ที่เราเรียกว่า Creativity Day)” ให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้เข้าชม ได้แรงบันดาลใจไปต่อยอดทำสิ่งต่างๆ ทั้งในสาขาอาชีพนี้ หรือในสาขาอาชีพของตนเองได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแนวคิด “Creativity For Sharing หรือ ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแบ่งปันสู่สังคม” นั่นเอง นอกจากนี้ Creativity For Sharing ยังจะกล่าวถึงความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่จิตสำนึกที่นักโฆษณาหรือแอดแมนต้องมี แม้ในอดีตจะมีความเข้าใจว่าโฆษณานั้นถูกสร้างขึ้นเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดหรือเพื่อขายสินค้าเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีเอเจนซี่หลายแห่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าชิ้นงานที่เป็นมากกว่าการขายของนั้นก็ประสบความสำเร็จและสามารถสร้างยอดขายให้กับสินค้าได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคมีมุมมองและการรับรู้ต่อสินค้ามากไปกว่าประโยชน์ของสินค้าที่ตนเองจะได้รับ แต่เป็นประโยชน์ของสินค้า และคุณค่าที่มีต่อสังคม” นายปารเมศร์ กล่าว

ด้านนายชัยประนิน วิสุทธิผล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการโฆษณาอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานโฆษณาเพื่อสังคม หรือ CSR Advertising ซึ่งวงการโฆษณาและสื่อสารการตลาดมักจะถูกตั้งคำถามจากสังคมเสมอในเรื่องการผลิตโฆษณาอย่างไรให้อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบและจริยธรรมอันดีของสังคม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสมาคมโฆษณาฯ ได้ผลักดันและส่งเสริมเรื่องนี้อย่างเข้มข้นอยู่ตลอด เพราะจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมคือหัวใจสำคัญที่นักสร้างสรรค์โฆษณาตลอดจนนักสื่อสารการตลาดต้องมี ในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคม จึงต้องแน่ใจว่าสังคมจะถูกสร้างสรรค์ไปในทางที่ดี งานทุกชิ้นต้องสร้างคุณค่าต่อสังคมไม่ใช่เพียงขายสินค้าเท่านั้น

“วันนี้สังคมเปลี่ยนไป สื่อเปลี่ยนไป ผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนไป ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณดีๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเรา ผู้บริโภคไม่ได้มองเพียงแค่สินค้าชิ้นนี้จะให้อะไรกับเรา แต่ภาพลักษณ์ความรับผิดชอบขององค์กรที่ผลิตสินค้าก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกันที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโฆษณาในประเทศไทยเองก็มีความเปลี่ยนแปลงให้เห็นมากขึ้น มีโฆษณาหลายชิ้นที่สอดแทรกเนื้อหาเพื่อสังคมและประสบความสำเร็จเป็นที่พูดถึงในวงกว้างและสามารถเข้าไปครองใจผู้บริโภคเลยก็มี เหล่านี้คือข้อพิสูจน์เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดัน เปลี่ยนแปลงค่านิยมการทำโฆษณาให้หันมาใส่ใจสังคม รับผิดชอบต่อผู้บริโภคกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก และกระแสการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนอีกด้วย ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าเราพัฒนาได้อย่างทัดเทียมประเทศอื่นๆ การสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม จะทำให้เราเป็นมืออาชีพที่แตกต่างและยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง”

สอดคล้องกับแนวคิดของ นายกิตติ ไชยพร ประธานกรรมการตัดสิน แอดแมน อวอร์ด แอนด์ ซิมโปเซียม 2018 ที่เชื่อว่า โฆษณาที่ดีนั้นนอกจากต้องขายผลิตภัณฑ์แล้วยังต้องสามารถใส่สิ่งดีๆ เพื่อสังคมลงไปได้ด้วย “ผมเชื่อว่าเราสามารถทำโฆษณาที่ดีที่สามารถขายของได้และดีต่อคนในสังคมด้วยไปควบคู่กัน โดยเราอาจจะต้องคิดเผื่อคนอื่นให้มากขึ้นอีกนิดให้เกิด Brand Love ซึ่งความรู้สึกรักและชื่นชอบแบรนด์จะทำให้ขายของได้ดีขึ้นและยั่งยืนขึ้นด้วย จึงเป็นที่มาของ Creativity For Sharing และในปีนี้ทางสมาคมฯ ได้จัดงานความคิดสร้างสรรค์แห่งชาติ หรือ Creativity Day ซึ่งกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นจากงานประกาศรางวัล กิจกรรมแรกคือ Talk ที่มีเป้าหมายในการให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั้งในและนอกวงการที่สนใจในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ กิจกรรมต่อมาคือ Exhibition Zone ซึ่งประกอบไปด้วย

1. Adman Gallery ซึ่งจะนำเสนอภาพ และเรื่องราวความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานสำเร็จของคนที่เกี่ยวข้องกับวงการโฆษณา และให้คนเหล่านั้นให้รางวัลกับตัวเองโดยใช้ชื่อว่า Create Your Own Award 2. Idea Store ซึ่งจะจัดแสดงผลงานที่ได้รับรางวัลของเอเยนซี่ต่างๆ 3. Brief Market เป็นโซนที่รวบรวมบรีฟดีๆ จากมูลนิธิ หรือองค์กรต่างๆ ให้ครีเอทีฟมารับบรีฟ และ 4. Goodvertising เป็นรางวัลที่เกิดขึ้นเป็นปีแรก โดยเราจะมอบให้กับบุคคลนอกวงการโฆษณา แต่สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมครับ” นายกิตติ กล่าวปิดท้าย

สำหรับประเภทการประกวดของแอดแมนฯ ในปีนี้ได้แก่ Ad That Works (Effective Communication), Branded Content & Entertainment, Brand Experience & Activation, Design, Digital & Interactive Media, Direct Marketing, Film, Innovative Idea, Integrated Marketing Communication (IMC) Campaign, Media, Out of Home, Print, Promo & Activation, Public Relations และ Radio รวมทั้งสิ้น 14 ประเภท

ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ทางสมาคมฯ ได้จัดให้มีการเสวนาขึ้นภายใต้หัวข้อ “โฆษณาไม่ขายของ ……… อย่างเดียว” โดยได้ลูกค้าและครีเอทีฟมากประสบการณ์ของวงการโฆษณา อาทิ นางสาวภาณิศา สุวรรณรัตน์ Senior Brand Manager – Dove & Clear Thailand, Unilever นายกรณ์ เทพินทราภิรักษ์ อดีตผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์, Ogilvy & Mather นายกิตติ ไชยพร Founder & Creative, Mana โดยงานนี้ได้ผู้กำกับชื่อดังอย่าง นายเป็นเอก รัตนเรือง มาเป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ที่จะมาถามถึงเรื่องของการมองความคิดสร้างสรรค์ให้ลึกกว่าที่เคยเป็นเรื่องความเป็นไปได้ในการคิดและสร้างงานซึ่งมีเนื้อหาที่มีประโยชน์เพื่อสังคมไปกับงานโฆษณานั้นๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบที่ดีแก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นจิตสำนึกที่ดี แรงบันดาลในการสร้างสรรค์งานที่ดี และอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะคนโฆษณามีหน้าที่และจรรยาบรรณทางอาชีพในการรับผิดชอบนำเสนอเรื่องราวที่ดีที่จะสร้างผลสะท้อนที่ดีแก่สังคมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป

นอกจากนี้สมาคมฯ ยังขยายความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติม ทั้งสัมมนาเชิงวิชาการที่จัดร่วมกับนิตยสาร BrandAge และสัมมนากลุ่มนักศึกษาจากสาขาวิชาการโฆษณาและสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมเป็นเจ้าภาพในหัวข้อ “คนโฆษณา…เส้นทางนอกตำรา” และยังมีสื่อพันธมิตรอื่นๆ ที่ช่วยประชาสัมพันธ์งานนี้ ประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด บริษัท เซ้นส์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด True4u GMM 25 บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด บริษัท ไทยรัฐทีวี จำกัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และรวมถึงสื่อการตลาดอย่าง BrandBuffet และ Marketing Oops!!

วันความคิดสร้างสรรค์แห่งชาติ หรือ Creativity Day (ครีเอทีวิตี้ เดย์) จะจัดขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 9.00-22.30 น. ณ เมืองไทย จีเอ็มเอ็ม ไลฟ์เฮ้าส์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ใส่ความเห็น