วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > แสนสิริเปิดศึกกรีนมิชชั่น บูมกลยุทธ์ “บ้านปลอดฝุ่น”

แสนสิริเปิดศึกกรีนมิชชั่น บูมกลยุทธ์ “บ้านปลอดฝุ่น”

ค่าย “แสนสิริ” ออกมาเปิดเกมพลิกวิกฤต “ฝุ่นพิษ” เป็นโอกาสรุกธุรกิจครั้งใหม่ โดยเฉพาะการประกาศย้ำวิสัยทัศน์ For Greater Well-being ตลอดปี 2562 เพื่อต่อยอด 2 แนวคิดหลัก Green & Well-being มาประยุกต์ใช้กับทุกโครงการใหม่ หลังจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาขึ้นชั้นเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถใส่ไลฟ์สไตล์ในทุกโครงการเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกวาดยอดขายถล่มทลายมาแล้ว

เหตุผลสำคัญ คือ เทรนด์และความต้องการอยู่อาศัยของคนยุคปัจจุบันตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ใช่บ้านหรูหรา ฟังก์ชันเก๋ๆ และความทันสมัยด้านเทคโนโลยีแบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว

อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทวางแผนนำร่องแนวคิด For Greater Well-being ในโครงการเศรษฐสิริ ทวีวัฒนา บ้านเดี่ยว คอนเซ็ปต์ Well-being เป็นโครงการแรก ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และเตรียมเปิดขาย Wellness Residence คอนโดมิเนียมสำหรับคนรักสุขภาพแห่งแรกของไทยบนทำเลศักยภาพกรุงเทพกรีฑา ในไตรมาส 2 ปีนี้ รวมทั้งจะรุกแบรนด์ “บุราสิริ” มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของคนในกรุงเทพฯ ที่อยากได้บ้านสไตล์รีสอร์ตเพื่อเติมเต็มสุขภาพกายและสุขภาพใจ

ที่สำคัญ แสนสิริเตรียมเปิดตัว “บ้านปลอดฝุ่น” หรือ Dust-free House ครั้งแรกของเมืองไทยภายในปีนี้ หลังจากใช้เวลาศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านระบบอากาศภายในและภายนอกที่อยู่อาศัย โดยก่อนหน้านี้เริ่มต้นใช้นวัตกรรมใหม่ในโครงการเดอะไลน์ พหลโยธิน ปาร์ค และโครงการเวลล์เนส เรสซิเดนซ์ ซึ่งสามารถเติมอากาศบริสุทธิ์และกรองฝุ่นละออง PM2.5 ได้ไม่น้อยกว่า 90% รวมถึงฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า PM1 ได้ไม่น้อยกว่า 75%

ขณะเดียวกัน ศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลดปริมาณฝุ่นและสร้างสภาวะแวดล้อมการอยู่อาศัยเพื่อสุขภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยในโครงการแนวราบมีการพัฒนาเทคโนโลยีระบบ “Dust free” และติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน บวกกับการวางฟังก์ชันและดีไซน์ใน 2 โครงการแรก คือ โครงการเศรษฐสิริ ทวีวัฒนา และโครงการจรัญ-ปิ่นเกล้า 2

อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายปี 2561 ก่อนเกิดวิกฤตฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ดูเหมือนว่า แสนสิริมองเห็นเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะเป็นกลยุทธ์การแข่งขันรุนแรงที่สุดในศึกอสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งประกาศปั้นโมเดล “Sansiri Green Mission” เพื่อประยุกต์แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” วาง Green Roadmap 4 ส่วนหลัก ได้แก่ Waste Management, Energy Saving & Generation, Smart Move และ Sustainability

อุทัยกล่าวว่า บริษัทได้จัดตั้งทีมวิจัยและพัฒนา (R&D) และร่วมมือกับพันธมิตรจากสถาบันและบริษัทชั้นนำระดับโลกกว่า 20 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเริ่มนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผ่านการทดสอบมาใช้ในโครงการนำร่องต่างๆ เช่น โครงการ Cooliving Designed Home นวัตกรรมบ้านระบายความร้อน การพัฒนาและติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า Wind Turbine และการเปิดตัว Smart Move แพลตฟอร์มบริการเช่ารถพลังงานไฟฟ้า 100% เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกบ้าน

หากลงลึกในรายละเอียดตามแผน Sansiri Green Mission นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาประยุกต์กับแบรนด์ดีเอ็นเอ (DNAs) โดยเน้นความสำคัญของแนวทางการจัดการของเสียและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการบนหลักการ 2 ข้อใหญ่

ข้อแรก การรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์สูงสุด

ข้อสอง การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรการบริโภคให้น้อยที่สุด ซึ่งสอดรับกับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (ปี 2559-2564) ตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และร่างแผนจัดการขยะพลาสติกอย่างบูรณาการ (ปี 2560-2564)

อุทัยกล่าวว่า แสนสิริ กรีนมิชชั่นใช้งบประมาณก้อนแรก 50 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปี 2562-2564 ตั้งเป้าลดปริมาณขยะคอนกรีตจากการก่อสร้าง เช่น ใช้นวัตกรรม “Earth Blox” นำเศษคอนกรีตมวลเบาเหลือใช้จากการก่อสร้างกลับมาเป็นส่วนผสมสร้างบล็อกคอนกรีตใหม่ นำกลับมาใช้ทำแผ่นทางเท้า ช่องลมระบายอากาศ และของตกแต่งภายในแลนด์สเคป จะเพิ่มการก่อสร้างด้วยระบบพรีคาสต์สำหรับคอนโดมิเนียมจาก 50% เป็น 80% ภายในปี 2564 ซึ่งสามารถลดขยะคอนกรีตที่เกิดจากการก่อสร้างโดยวิธีก่ออิฐฉาบปูนได้ถึง 1,600 ตันต่อปี ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) มากกว่า 48 ตันต่อปี เท่ากับพื้นที่สีเขียวของป่าไม้ 36 ไร่ รวมทั้งตั้งเป้าหมายในการประกาศภารกิจการลดปริมาณขยะคอนกรีตจากการก่อสร้างในโรงงานพรีคาสต์เป็น 0% หรือ Zero Waste ภายในสิ้นปี 2562

ส่วนการกำจัดขยะจากการบริโภคของลูกบ้าน บริษัทติดตั้งเครื่อง Food Waste Machine จำนวน 10 เครื่อง บนพื้นที่ส่วนกลางในทุกโครงการแนวสูงที่จะพัฒนาตั้งแต่ปี 2562 และตั้งเป้าขยายการใช้งานใน 23 โครงการ ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยปีแรกจะแปรรูปขยะมูลฝอยมากถึง 18 ตันต่อปี จาก 10 โครงการ และเมื่อครบ 23 โครงการ จะแปรรูปขยะมูลฝอยเฉลี่ย 42 ตันต่อปี

นอกจากนี้ ติดตั้ง Refun Machine เครื่องรับคืนขวดพลาสติกและกระป๋องในทุกโครงการแนวสูง รวม 23 โครงการ ภายในปี 2564 และร่วมมือกับสตาร์ทอัพในการพัฒนาแอปพลิเคชัน Go Greens เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะให้ลูกบ้าน รวมทั้งติดตั้งเครื่อง Home bio gas นวัตกรรมเครื่องเปลี่ยนขยะมูลฝอยเป็นก๊าซหุงต้มที่โรงแรมเอสเคป เขาใหญ่ และสำนักงานใหญ่ เซลล์ ออฟฟิศ เซลล์ แกลเลอรี เพื่อยกเลิกการใช้ขวดน้ำดื่มพลาสติก 100% ภายในปลายปี 2562

ด้าน Energy Saving & Generation มีแผนติดตั้ง Solar Roof ครอบคลุม 31 โครงการ ภายในปี 2564 ซึ่งจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 2 เมกะวัตต์ เทียบเท่าปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ชาร์จสมาร์ทโฟนถึง 1,400 ล้านเครื่อง และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 2,223 ตันต่อปี หรือคิดเป็นพื้นที่ป่า 1,600 ไร่ และระบบ Smart Move สร้างแพลตฟอร์มบริการยานพาหนะระบบเช่า ติดตั้ง Electronic car sharing และ EV Charger ครบทุกโครงการแนวสูงตั้งแต่ปี 2561 โดยติดตั้งแล้ว 5 สถานี รวม 11 คัน และเตรียมเพิ่มอีก 4 สถานี รวม 6 คันในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 7.5 ตันต่อปี คิดเป็นพื้นที่ป่า 5.7 ไร่

ล่าสุด บริษัทชูจุดขายโครงการคอนโดมิเนียม เดอะ ไลน์ พหลโยธิน พาร์ค เป็น “Green Condominium” 100% โครงการแรก เพื่อต่อยอดทุกโครงการในอนาคต เปิดศึกกรีนมิชชั่นและแนวคิด For Greater Well-being ในสงครามอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบด้วย

ใส่ความเห็น