วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > On Globalization > เหยื่อคนที่ 100 สร้างความตื่นตัวให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

เหยื่อคนที่ 100 สร้างความตื่นตัวให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

Column: Women in wonderland

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาที่ไม่มีรัฐบาลไหนประสบความสำเร็จในการแก้ไข ทุกวันนี้มีผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจจากสามี อดีตสามี หรือสมาชิกในครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัวไม่เหมือนปัญหาอื่นๆ เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสังคม ทุกชนชั้น และทุกศาสนา ดังนั้น แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วผู้หญิงก็ยังคงประสบกับความรุนแรงในครอบครัวเหมือนกัน

องค์กร Organization for Security and Co-operation in Europe (OSCE) ได้เปิดเผยข้อมูลสถิติความรุนแรงในครอบครัว ในปี 2016 ว่า ผู้หญิงประมาณ 43,600 คนต่อปีจากทั่วโลกถูกฆาตกรรมโดยคนในครอบครัว 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจจากคนในครอบครัวอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต และมีเพียง 11% เท่านั้นที่มีการดำเนินคดีและแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

คำว่า “การฆาตกรรมผู้หญิง” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Femicide ในที่นี้หมายถึงการฆาตกรรมที่ผู้ชายฆ่าผู้หญิงหรือเด็กหญิง เพราะพวกเธอเป็นผู้หญิง การฆาตกรรมนี้มักจะเกิดที่บ้าน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากความรุนแรงในครอบครัว

OSCE ยังได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการฆาตกรรมหญิงว่า เกิดขึ้นในทุกประเทศ ที่เกิดมากคือ ประเทศรัสเซีย เอลซัลวาดอร์ และแอฟริกาใต้ ทั้ง 3 ประเทศนี้มีผู้หญิงมากกว่า 6 คนจาก 100,000 คนถูกฆ่าตาย และประเทศที่มีฆาตกรรมหญิงสูงที่สุดคือ ฮอนดูรัส ผู้หญิงถูกฆ่าตายถึง 15 คนต่อผู้หญิง 100,000 คน ในขณะที่ในยุโรปตะวันตกค่าเฉลี่ยของผู้หญิงที่ถูกฆ่าตายอยู่ที่ 0.4 คนต่อผู้หญิง 100,000 คน หมายความว่า ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศฮอนดูรัสมีความเสี่ยงถูกฆ่าตายจากคนในครอบครัวมากกว่าผู้หญิงในยุโรปถึง 40 เท่า

ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในสหภาพยุโรป แต่ฝรั่งเศสก็ยังคงมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เรียกได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ ในยุโรปตะวันตก ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด รวมไปถึงมีจำนวนผู้หญิงที่ถูกฆ่าโดยสามี อดีตสามี แฟน หรือสมาชิกในครอบครัวสูงที่สุดด้วยเช่นกัน

ฝรั่งเศสมีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวประมาณปีละ 220,000 คน และมีผู้หญิงถูกฆาตกรรมโดยเฉลี่ย 1 คนในช่วงเวลา 3 วัน ในปี ค.ศ. 2016 มีผู้หญิง 123 คนตกเป็นเหยื่อการฆาตกรรม ปี ค.ศ. 2017 มี 135 คน ปี ค.ศ. 2018 มี 121 คน ในปี ค.ศ. 2019 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 1 กันยายน พบว่าผู้หญิงถึง 100 คนที่ถูกฆาตกรรมโดยสามี อดีตสามี หรือสมาชิกในครอบครัว นี่ถือเป็นจำนวนที่สูงมากและไม่มีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนของผู้ที่ถูกฆาตกรรมจากสาเหตุความรุนแรงในครอบครัวน้อยลง

Eurostat ได้เปิดเผยข้อมูลสถิติความรุนแรงในครอบครัวในทวีปยุโรปเช่นกัน ในปี ค.ศ. 2017 ฝรั่งเศสมีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรมโดยสามี อดีตสามี แฟน อดีตแฟน หรือสมาชิกในครอบครัว 0.18 คน ต่อผู้หญิง 100,000 คน ขณะที่สวิสเซอร์แลนด์มีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรมที่ 0.13 และอิตาลี 0.11 สเปน 0.12 และเยอรนมี 0.23


ที่มา: Eurostat, 2017 จาก BBC

ข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นสถานการณ์การใช้ความรุนแรงในครอบครัวในฝรั่งเศสนั้นแย่มาก โดยเฉพาะถูกฆาตกรรมโดยสามี อดีตสามี และสมาชิกในครอบครัว ที่ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็มีโอกาสที่จะถูกฆาตกรรม อย่างเช่นกรณีคุณยายวัย 92 ปีที่ถูกฆาตกรรมโดยสามีวัย 94 ปี และเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบศพของ Salomé อายุ 21 ปี ถูกทิ้งไว้ตรงกองขยะ โดยมีผ้าห่มเก่าๆ ปิดทับตัวเธอไว้ ตำรวจระบุสาเหตุการเสียชีวิตคือ ถูกฆาตกรรมโดยแฟนของเธอ

Salomé เป็นผู้หญิงคนที่ 100 ของปีนี้ในประเทศฝรั่งเศส ที่ถูกฆาตกรรมโดยคนในครอบครัว ทำให้ประชาชนออกมาเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลให้จัดการกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้โดยคนในครอบครัว

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการฆาตกรรมหญิงนั้น ฝรั่งเศสก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

เบื้องต้น Marlène Schiappa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความเท่าเทียมกันทางเพศได้จัดให้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้ผู้คนตื่นตัวในเรื่องนี้ หาทางป้องกันและวิธีการปกป้องผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ และวิธีการลงโทษผู้ที่ทำผิด

ซึ่งการจัดสัมมนานี้จะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 3 กันยายน-25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กสากล โดยจะมีการจัดสัมมนาที่ปารีสและอีก 91 ครั้งตามเมืองต่างๆ ในฝรั่งเศส การสัมมนาแต่ละครั้งจะมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาและที่อยู่อาศัย ทนายความ อัยการ และครอบครัวของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเข้าร่วมด้วย

นอกจากจัดสัมมนาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวแล้ว ประธานาธิบดี Emmanuel Macron ได้เปิดศูนย์ร้องเรียนและขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว (3919 Domestic Violence Hotline) อีกครั้ง และเมื่อวันที่ 3 กันยายน ซึ่งเป็นวันแรกที่รัฐบาลเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ ประธานาธิบดี Macron ได้ไปที่ศูนย์รับร้องเรียนและร่วมรับฟังปัญหาต่างๆ ที่คนโทรเข้ามา หนึ่งในปัญหาที่ประธานาธิบดี Macron พบคือ เมื่อผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อโทรไปหาขอความช่วยเหลือจากตำรวจ ตำรวจกลับตอบว่าไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ หากต้องการให้ตำรวจช่วยให้ไปขอคำสั่งรับการคุ้มครองจากศาลและให้ศาลสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปแทรกแซงเรื่องในครอบครัวได้

ประธานาธิบดี Macron มองเรื่องนี้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของฝรั่งเศสที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะคนส่วนใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อ มักโทรหาตำรวจเป็นที่แรกเพื่อขอความช่วยเหลือ เมื่อตำรวจปฏิเสธ อาจจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และในที่สุดพวกเธออาจจะถูกฆ่าตายได้ ตำรวจจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือกับประชาชน ไม่ใช่ปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น ประธานาธิบดี Macron และนายกรัฐมนตรี Edouard Philippe จึงประกาศจะใช้เงิน 5 ล้านยูโรแก้ไขปัญหานี้

นายกรัฐมนตรี Philippe อธิบายเพิ่มเติมว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะจัดทำตัวชี้วัดที่สำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งในเบื้องต้นตัวชี้วัดที่สำคัญที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปคือ (1) จำนวนที่พักฉุกเฉิน ที่จะมีการสร้างห้องสำหรับผู้หญิงเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ห้อง จากเดิมที่มีอยู่ 5,000 ห้อง

(2) มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบการทำงานของตำรวจ ในการรับเรื่องร้องเรียนและคดีความต่างๆ จากผู้หญิง และดูว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการกับคดีความและการร้องขอความช่วยเหลือในกรณีต่างๆ อย่างไร เบื้องต้นจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการทำงานของตำรวจใน 400 สถานีตำรวจทั่วประเทศ

(3) มีการแต่งตั้งอัยการและศาลในกรณีฉุกเฉิน สำหรับคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด

(4) หลังจากวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ไปแล้ว ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงสามารถแจ้งความที่โรงพยาบาลได้เลย

(5) ประธานาธิบดี Macron และนายกรัฐมนตรี Philippe จะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายการลงโทษผู้กระทำผิดในคดีความรุนแรงในครอบครัว โดยจะเสนอให้ผู้กระทำผิดใส่กำไลข้อเท้าติดตามตัว (Electronic Monitoring) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดเข้าใกล้คนที่ตกเป็นเหยื่อ รวมถึงกรณีที่ศาลอาจจะตัดสินว่าไม่มีความผิดด้วย

นี่เป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องการฆาตกรรมหญิงและความรุนแรงในครอบครัวเบื้องต้น หลังวันที่ 25 พฤศจิกายน รัฐบาลฝรั่งเศสจะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการจัดสัมมนาทั่วประเทศมาปรึกษาหารือกันอีกที เพื่อนำข้อเสนอที่น่าสนใจมาบังคับใช้ในการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว

เรื่องนี้ต้องติดตามต่อไปว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะให้ความสนใจกับเรื่องนี้ได้ตลอดหรือไม่ ถ้าหากรัฐบาลฝรั่งเศสจริงจังกับการแก้ปัญหานี้ ในอนาคตจำนวนผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงและถูกฆาตกรรมโดยคนในครอบครัวในฝรั่งเศสก็จะลดลง และหากวิธีการที่ฝรั่งเศสนำมาใช้สามารถป้องกันความรุนแรงในครอบครัวได้ ประเทศอื่นๆ ก็น่าจะนำวิธีการเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของประเทศตนเองได้เช่นกัน

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/shame-1251333

ใส่ความเห็น