วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจจีนโตต่อเนื่อง พินิจแผนฟื้นฟูจีน-ไทยปรับประยุกต์ใช้

เศรษฐกิจจีนโตต่อเนื่อง พินิจแผนฟื้นฟูจีน-ไทยปรับประยุกต์ใช้

โลกเผชิญกับเชื้อไวรัสโควิด-19 มาครบ 1 ปี การอุบัติของโรคระบาดส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั่วโลกต้องประสบกับภาวะการหดตัวอย่างรุนแรงในด้านเศรษฐกิจ ไม่เว้นแม้แต่จีน ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ

ทว่า ด้วยศักยภาพที่มีอิทธิพลมาจากรูปแบบการปกครอง เป็นผลสืบเนื่องให้รัฐบาลจีนสามารถสั่งการได้อย่างปัจจุบันทันด่วน แต่ประการสำคัญคือ การให้ความร่วมมือจากภาคประชาชน ในการต่อสู้กับโรคร้ายครั้งนี้

แม้ว่าโลกจะยังไม่สามารถประกาศชัยชนะที่มีต่อโรคโควิด-19 ได้ ทว่า การฟื้นตัวภายในระยะเวลาอันสั้นของจีน ดูจะเป็นการประกาศชัยชนะต่อการหดตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ

ตัวเลขที่น่าสนใจของเศรษฐกิจจีนเริ่มปรากฏให้เห็นในช่วงไตรมาส 3/2563 ที่จีดีพีขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อเนื่องจากไตรมาส 2/2563 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 เป็นผลสืบเนื่องจากการทยอยฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน นี่นับเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้เป็นอย่างดี กระทั่งตัวเลขเศรษฐกิจจีนไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เปิดเผย

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4/2563 ขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้จีดีพีทั้งปี 2563 เติบโตเกินคาดที่ร้อยละ 2.3 เป็นผลจากความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังอย่างทันท่วงทีและเห็นผล เห็นได้จากอัตราการขยายตัวของตัวเลขค้าปลีกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในกรอบร้อยละ 4.3-5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในไตรมาสสุดท้าย และสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตครอบคลุมในหลายหมวดหมู่อุตสาหกรรมมากขึ้น

โดยเริ่มเห็นการฟื้นฟูได้ดีของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่กลับมาได้ดีกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ ชี้ให้เห็นจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ ที่ขยายตัวได้ดีกว่าในช่วงไตรมาส 4/2563 ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่เริ่มคลี่คลายในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2563 (ก่อนเริ่มกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งในเดือนธันวาคม 2563) ส่งผลให้การส่งออกของจีนในไตรมาสนี้ได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกอย่างมาก โดยขยายตัวถึงร้อยละ 21.1 และ 18.1 ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2563 ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2564 จะกลับมาเติบโตในกรอบร้อยละ 8.0-8.5 จากแรงหนุนของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยกำลังซื้อจากชนชั้นกลางที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 400 ล้านคน และรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประสิทธิภาพและทักษะของแรงงานที่สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐยังคงไว้เพื่อกระตุ้นการบริโภค นอกจากนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาครัฐและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว ท่ามกลางการชะลอตัวในการลงทุนของภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมดั้งเดิม และความไม่แน่นอนของตลาดส่งออก

โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 จะแตกต่างออกไป โดยเปลี่ยนจากเดิมที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 เปลี่ยนเป็นการให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพในระยะยาว ที่มุ่งเน้นการลงทุนด้านคุณภาพชีวิตของประชากร และการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว เพื่อมุ่งเน้นความแข็งแกร่งของการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาคต่างประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “Dual Circulation” ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 ที่จะบังคับใช้ในปี 2564-2568 ทั้งนี้ สำหรับประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามในปี 2564 คือภาระหนี้ภาคเอกชนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา และความเสี่ยงประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่แน่นอนระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ต้องยอมรับว่าจีนสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเองในช่วงเวลาวิกฤตได้ดี เพราะไม่ใช่แต่การนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตได้โดยเร็วเท่านั้น ขณะเดียวกันคือการคิดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ใช่แค่แผนระยะสั้น แต่แผนพัฒนายังพร้อมที่จะขยายตัวไปเป็นแผนระยะยาวเพื่ออนาคตได้

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พัฒนานโยบายสนับสนุนการหมุนเวียนเศรษฐกิจคู่ขนาน หรือ Dual Circulation ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2563 โดยเน้นการพึ่งพาการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจสองกระแสควบคุ่และเกื้อหนุนกัน คือ Internal Circulation (การหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ) และ External Circulation (การหมุนเวียนเศรษฐกิจต่างประเทศ) เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนเป็นสำคัญ นโยบายดังกล่าวถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากจะใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของจีนภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568)

นโยบาย Dual Circulation แยกเป็น Internal Circulation ที่มุ่งส่งเสริมอุปสงค์ในประเทศ โดยเร่งกระตุ้นการบริโภคในประเทศเพื่อให้เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนท่ามกลางอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังชะลอตัว โดยปัจจุบันสัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนของจีนอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี หมายความว่ามีโอกาสที่จะผลักดันการบริโภคในประเทศให้ขยายตัวได้อีก

นอกจากนี้จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้พัฒนาภาคเกษตรกรรมให้ก้าวสู่การเกษตรดิจิทัล เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและสร้างช่องทางการค้าผ่าน E-Commerce ด้วยการเร่งเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมพื้นที่ชนบทให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568 จากระดับ 2 เปอร์เซ็นต์ ณ เดือนมีนาคม 2563

Internal Circulation อีกด้านคือการปรับโครงสร้างอุปทาน โดยจะให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้จีนพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่จีนกำลังเผชิญการกีดกันอย่างรุนแรง โดยจีนจะมุ่งส่งเสริมการสร้างสายการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศผ่านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง ตลอดจนเร่งส่งเสริมการลงทุนตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 โดยล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 จีนได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตชิปและการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องซึ่งครอบคลุมการให้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 10 ปี

ขณะที่ด้าน External Circulation คือ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจจีนเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เพื่อให้ภาคการค้าและการลงทุนมีส่วนในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจีนจะประกาศรายละเอียดของยุทธศาสตร์ External Circulation ที่เป็นรูปธรรมในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในการประชุมสภาประชาชนจีนในเดือนมีนาคม 2564

ข้อมูลที่น่าสนใจว่า จีนมีแนวโน้มเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคการเงินและตลาดทุนมากขึ้น รวมทั้งผ่อนคลายกฎระเบียบในการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เงินหยวนมีบทบาทเพิ่มขึ้นในตลาดการเงินระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ จีนยังสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับกลุ่มประเทศ BRI (Belt and Road Initiative) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์สำคัญของจีน อาทิ กลุ่มประเทศอาเซียน ปากีสถาน และแอฟริกา ด้วยการเดินหน้าสานต่อโครงการลงทุนในกลุ่มประเทศ BRI สะท้อนได้จากมูลค่าการลงทุนของจีนในประเทศ BRI ที่ยังขยายตัวราว 19 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่แม้จะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19

นโยบาย Dual Circulation ที่มุ่งเน้นกระตุ้นการเติบโตของตลาดผู้บริโภค และลดการพึ่งพาตลาดต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐฯ หากจีนดำเนินตามนโยบายดังกล่าวไปได้อย่างต่อเนื่องและเห็นถึงประสิทธิภาพ มีความเป็นไปได้ว่า จีนอาจก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกอันดับ 1 ในสักวัน

แนวทางการพัฒนาของจีนอาจสร้างผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการลงทุนที่จีนสยายปีกการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา

จังหวะก้าวของจีนในห้วงยามนี้ คงไม่ใช่เพียงดำเนินตามนโยบายใหม่ของสี จิ้นผิง แต่ดูเหมือนว่า แผนพัฒนาใหม่นี้จะถูกวางรากฐานมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากนัก

แน่นอนว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนได้รวดเร็วคือ ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ด้วยเวลาอันรวดเร็ว และนำมาสู่การพัฒนาวัคซีนในที่สุด

เมื่อพิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนฉบับดังกล่าวแล้ว รัฐไทยอาจนำมาปรับใช้ได้ในบางประการ โดยเฉพาะด้านการพึ่งพาตลาดภายในประเทศให้มากขึ้น เมื่อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่จะระอุและร้อนแรงไม่แพ้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์

และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับภาคการเกษตรของไทยให้มากขึ้น เมื่อไทยมีข้อได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมเกษตรในหลายมิติ ทั้งสินค้าเกษตรไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ความสามารถของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการพัฒนาพันธุ์พืชให้มีความแข็งแรงต่อสภาพอากาศและศัตรูพืช

แต่ต้องยอมรับว่า ภาคเอกชนไทยยังคงยึดโยงกับตลาดต่างชาติอยู่มาก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หากไทยผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิดระลอกใหม่ แม้ปัจจุบันนโยบายที่รัฐบาลใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะคล้ายนโยบายของจีน คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่สามารถสร้างกระแสบวกทางเศรษฐกิจได้ดีถึงระดับฐานราก แต่นั่นอาจไม่เพียงพอ เพราะหากพิจารณาสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในปัจจุบัน ที่เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน มีความเป็นไปได้ว่า ไทยอาจถึงเวลาที่ต้องมองหาแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวรอไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาที่ผู้ติดเชื้อลดลงหรือเป็นศูนย์ จะได้ประกาศใช้ได้ทันที

ใส่ความเห็น