วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > เยรูซาเลม: สันติภาพบนระเบิดเวลาลูกใหม่

เยรูซาเลม: สันติภาพบนระเบิดเวลาลูกใหม่

การประกาศยอมรับและรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล โดย Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อไม่นานมานี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในวงการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางแล้ว กรณีดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นระเบิดเวลาครั้งใหม่ที่พร้อมรอการจุดชนวนและส่งผลสะเทือนในวงกว้างอย่างที่ไม่มีผู้ใดคาดการณ์ถึงผลที่จะติดตามมาได้

ท่วงทำนองของโดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนี้ นับเป็นการปรับเปลี่ยนจุดยืนและแนวทางแห่งนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ในกรณีว่าด้วยสันติภาพในตะวันออกกลาง ที่ดูจะมีจุดศูนย์กลางแห่งความขัดแย้งอยู่ที่กรณีพิพาท อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ไปอย่างสิ้นเชิง

หากแต่ในอีกมิติหนึ่ง การประกาศรับรองสถานะของนครเยรูซาเลม เป็นการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ตามที่เคยประกาศไว้ระหว่างการหาเสียงว่าจะย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทล อาวีฟ ไปยังนครเยรูซาเลม ซึ่งเป็นสิ่งที่อิสราเอลปรารถนามาเป็นเวลานาน

ภายใต้เหตุผลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุว่าเขากำลังจะนำพาให้เกิด “ข้อตกลงสุดท้าย” ของสันติภาพขึ้น แต่ดูเหมือนว่าท่าทีและการตอบสนองจากทั่วทุกสารทิศกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม และเต็มไปด้วยความรู้สึกกังวลไม่เห็นด้วยกับท่าทีล่าสุดของทรัมป์ในครั้งนี้

โดยวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย ถึงกับระบุว่าการที่ทรัมป์ยอมรับให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล เป็นการทำลายกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีบริบทและปัจจัยทางการเมืองละเอียดอ่อนมากอยู่แล้ว ให้อยู่ในภาวะแหลมคมและสุ่มเสี่ยงยิ่งขึ้นไปอีก

พร้อมกับระบุว่าสถานะของเยรูซาเลม ควรเป็นไปตาม “ฉันทามติ” ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ภายใต้กระบวนการเจรจาบนพื้นฐานของมติสหประชาชาติ มากกว่าการประกาศยอมรับฝ่ายเดียวดังที่สหรัฐอเมริกาดำเนินการอยู่

นอกจากนี้ ปูตินยังเน้นย้ำด้วยว่าอิสราเอลและปาเลสไตน์ควรกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาโดยเร็วที่สุด เพื่อปรับความเข้าใจและคลี่คลายความขัดแย้งในทุกประเด็น ซึ่งรวมถึงสถานะของเยรูซาเลมด้วย

มูลเหตุที่ทำให้การประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล กลายเป็นประเด็นร้อนในทางการเมืองระหว่างประเทศ และกำลังส่งผลกระทบต่อสันติภาพของโลกในวงกว้าง ในด้านหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ที่นครศักดิ์สิทธิ์ในนาม เยรูซาเลม แห่งนี้ถือเป็นหัวใจแห่งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่ดำเนินยืดเยื้อต่อเนื่องยาวนาน

ไม่เพียงเพราะเยรูซาเลมมีความสำคัญเกี่ยวข้องทางศาสนาและมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งสำหรับชาวยิว มุสลิม และคริสต์ เท่านั้น หากยังมีนัยความหมายทางการเมือง ซึ่งทำให้ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่แห่งนี้ จะก่อให้เกิดความรุนแรงปะทุขึ้นอย่างทันที

ในทัศนะของชาวอิสราเอล เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและไม่อาจแบ่งแยกได้ โดยนับตั้งแต่การก่อตั้งรัฐอิสราเอลสมัยใหม่ในปี 1948 มีการตั้งรัฐสภาอิสราเอลขึ้นทางตะวันตกของเมือง จากนั้นหลังทำสงคราม Six-Day War ในปี 1967 กับเพื่อนบ้านประเทศอาหรับ อิสราเอลได้ยึดเยรูซาเลมตะวันออกรวมถึงเขตเมืองเก่าด้วย ซึ่งการผนวกรวมเยรูซาเลมตะวันออกในครั้งนั้นเป็นการกระทำที่นานาชาติไม่ยอมรับ

ขณะที่สำหรับชาวปาเลสไตน์ย่อมเห็นแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เพราะสำหรับชาวปาเลสไตน์ “เยรูซาเลมตะวันออกและเขตเมืองเก่า” คือเมืองหลวงของพวกเขา และจุดยืนดังกล่าวนี้ เป็นแนวทางสันติภาพที่นานาชาติสนับสนุนมาอย่างยาวนาน ในนาม “ทางแก้ 2 รัฐ” (two-state solution) ซึ่งมีพื้นฐานจากความคิดให้ก่อตั้งรัฐอิสระปาเลสไตน์ติดกับอิสราเอล ตามพรมแดนที่ปรากฏก่อนปี 1967 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวปฏิบัติที่ปรากฏในมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 242 (United Nations Security Council resolution 242)

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในด้านหนึ่งก็คือชาวเมืองเยรูซาเลมประมาณ 1 ใน 3 หรือกว่าร้อยละ 30 เป็นชาวปาเลสไตน์ โดยจำนวนไม่น้อยเป็นพลเมืองที่มีพื้นฐานครอบครัวซึ่งพำนักและอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้มานานนับหลายร้อยปีแล้ว

ความตึงเครียดในนครเยรูซาเลมยังดำเนินอยู่ด้วยปัจจัยหลากหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องการขยายการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเยรูซาเลมตะวันออกซึ่งถูกมองว่าผิดกฎหมาย ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐบาลอิสราเอลยังคงดำเนินการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่และขยายการเข้าครอบครองดินแดนแห่งนี้ต่อไป โดยปัจจุบันมีตัวเลขประเมินว่ามีชาวยิวอาศัยอยู่กว่า 200,000 คน หลายชาติชี้ว่าอิสราเอลละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่อิสราเอลไม่ยอมรับข้อกล่าวหานี้

แม้ว่าทางการสหรัฐอเมริกาจะระบุว่า การรับรองสถานะของนครเยรูซาเลมในครั้งนี้เป็นการ “ยอมรับสภาพความเป็นจริง” ตามความเห็นของทรัมป์เท่านั้น โดยการกำหนดเขตแดนที่ชัดเจนระหว่างอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์จะยังคงต้องรอให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงโดยเห็นพ้องกันเสียก่อน ส่วนสถานะของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเยรูซาเลมจะไม่ได้รับผลกระทบจากการนี้ แต่ดูเหมือนว่าแรงสะท้อนกลับจากการประกาศนี้จะไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด

โดยชาวปาเลสไตน์จำนวนมากพากันประท้วงต่อต้านแผนการประกาศรับรองของสหรัฐฯ ดังกล่าว ส่วนบรรดาผู้นำโลกอาหรับ รวมทั้งผู้นำฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปต่างออกคำเตือนถึงผู้นำสหรัฐฯ ว่า การกระทำเช่นนี้เท่ากับทำลายกระบวนการสันติภาพและเสถียรภาพในตะวันออกกลาง

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศจากชาติสมาชิกสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ระบุว่า การที่สหรัฐฯ ตัดสินใจรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ผิดหลักกฎหมาย และกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในภูมิภาคมากขึ้น พร้อมกับเตือนให้สหรัฐฯ ล้มเลิกการตัดสินใจ เนื่องจากเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

จะมีก็เพียงเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ที่ออกมาขานรับคำประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยระบุว่าเป็นวันประวัติศาสตร์และอิสราเอลรู้สึกซาบซื้งต่อการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นอย่างมาก

ความไม่พอใจที่แพร่กระจายไปทั่ว ในด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วง และกองทัพทหารอิสราเอลหลายร้อยคน ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา เพื่อต่อต้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล จนเกิดเป็นกระแสข่าวรายวัน แต่นั่นอาจไม่ใช่เรื่องหนักหน่วงที่รอคอยการแก้ปัญหา เมื่อเทียบกับชนวนระเบิดแห่งสงครามครั้งใหม่ที่พร้อมจะปะทุและแตกออกในห้วงเวลานับจากนี้

ท่วงทำนองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนี้ นับเป็น “การเรียกแขก” ที่กระตุ้นความไม่พึงพอใจในหมู่ประเทศมุสลิมอย่างกว้างขวางและนำไปสู่การผนึกกำลังในหมู่โลกมุสลิม เพื่อแสวงหาหนทางในการตอบโต้การประกาศรับรองเยรูซาเลม ประหนึ่งการเติมเชื้อฟืนเข้าสู่กองไฟให้กลับมาคุกรุ่นและลุกโชนขึ้นอีกครั้ง

องค์กรความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) ซึ่งมีสมาชิกรวม 57 ประเทศ และเป็นประหนึ่งที่รวมเสียงของโลกมุสลิม ได้ประกาศประณามการรับรองเยรูซาเลมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากจะไม่สอดรับกับข้อเท็จจริงแห่งสถานะของเยรูซาเลมแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้นานาชาติร่วมประณามสหรัฐอเมริกา และไม่ยอมรับบทบาทของสหรัฐฯ ที่มีอคติโอนเอียงเข้าอิสราเอล ในกระบวนการสันติภาพอีกต่อไป

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ นับตั้งแต่ปี 1989 อิสราเอลได้ให้สหรัฐอเมริกาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งในนครเยรูซาเลม เพื่อสร้างสถานทูตสหรัฐฯ แห่งใหม่ที่นั่น ภายใต้สัญญาเช่า 99 ปี ในราคาปีละ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ และรัฐสภาสหรัฐอเมริกามีมติในปี 1995 ให้มีการย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทล อาวีฟไปสู่ที่ใหม่ในเยรูซาเลม หากแต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่ว่าจะในสมัยของประธานาธิบดีคลินตัน บุช และโอบามา ต่างหยิบยกประเด็นว่าด้วยความมั่นคงขึ้นเป็นประเด็นพิจารณาในการย้ายสถานทูต และหลีกเลี่ยงที่จะเล่นกับไฟให้ร้อนมือ

การเล่นกับไฟของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนี้จึงไม่อาจมองเป็นเพียงความไม่เจนจัดของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้ประกาศนโยบาย American First รวมถึงท่วงทำนองและการดำเนินนโยบายหลากหลายที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึงมาก่อนหน้านี้

บางทีในโอกาสครบรอบ 1 ปีของ โดนัลด์ ทรัมป์ บนตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ชื่อของเขาอาจได้รับการจารึกในฐานะผู้จุดชนวนระเบิดเพื่อสร้างสันติภาพ ภายใต้ “ข้อตกลงสุดท้าย” ที่ไม่มีสหรัฐอเมริกามีส่วนเกี่ยวข้องก็เป็นได้

ใส่ความเห็น