วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > เมเจอร์ฯ พลิกเกมใหม่ เจาะอีสปอร์ตชิงหมื่นล้าน

เมเจอร์ฯ พลิกเกมใหม่ เจาะอีสปอร์ตชิงหมื่นล้าน

ข้อมูลจากอินเทลคอร์ปอเรชั่นระบุว่า ประชากรทั่วโลก 7,700 ล้านคน มีคนเล่นเกมถึง 2,000 ล้านคน ซึ่ง 1 ใน 3 จะเล่นเกมผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือผ่านคอนโซลแพลตฟอร์ม ขณะที่ประเทศไทยมีประชากร 68 ล้านคน อย่างน้อย 1 ใน 3 ของประชากร หรือเกือบ 40% นิยมเล่นเกมผ่านคอมพิวเตอร์พีซี และอัตราการเข้าชมอีสปอร์ตในไทยจากปี 2560-2564 แนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% จากปัจจุบันอุตสาหกรรมเกมในไทยติด 1 ใน 20 ประเทศที่มีรายได้จากเกมมากที่สุดในโลก

ขณะที่บริษัท ทรู แอกซิออน อินเตอร์แอคทีฟ ระบุว่า ปี 2560 ตลาดเกมทั่วโลก มีรายได้ 121,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท ทิ้งห่างรายได้ของอุตสาหกรรมเพลงและภาพยนตร์รวมกัน และปี 2561 คาดว่าตลาดเกมจะสร้างรายได้สูงถึง 137,900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีกลุ่มเกมมือถือครองตลาดมากที่สุดกว่า 51% อัตราการเติบโตเฉลี่ย 11% ตามมาด้วยเกมบนเครื่องคอนโซลและเกมพีซี

สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดเกมมีรายได้รวม 2.2 พันล้านเหรียญ โดยมีเกมเมอร์รวมกว่า 135 ล้านคน และมีผู้นำตลาด ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ตามลำดับ

กระแสความร้อนแรงของตลาดเกมส่งผลให้อุตสาหกรรมการแข่งขันวิดีโอเกม หรืออีสปอร์ต (Esport) เติบโตและมีความต้องการมากขึ้น เพื่อเป็นเวทีโชว์ความสามารถ โดยเฉพาะหลังจากภาครัฐขึ้นทะเบียนอีสปอร์ตให้เป็นกีฬาอย่างเป็นทางการ รวมทั้งมีการบรรจุเป็นกีฬาชนิดใหม่ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2022 และโอลิมปิกเกมส์ในอนาคต

มีการประเมินตลาดอีสปอร์ตในประเทศไทยคาดมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท อัตราเติบโตมากกว่า 12%

จำนวนผู้เล่นและผู้ชมกีฬาชนิดนี้ในไทย มีจำนวน 1.1 ล้านคน เทียบกับสิงคโปร์มีประมาณ 2 แสนคน มาเลเซีย 1.8 ล้านคน เวียดนาม 2.8 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 1.4 ล้านคน อินโดนีเซีย 2 ล้านคน ทั้งยังคาดการณ์ว่า ภายในปี 2562 จำนวนผู้เล่นและผู้ชมอีสปอร์ตในภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน

ขณะเดียวกัน หากวัดกับตัวเลขอีสปอร์ตทั่วโลก มีผู้เล่นเกมรูปแบบดังกล่าวประมาณ 394 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 518 ล้านคน ในปี 2563 และมีการประเมินอุตสาหกรรมเกมในส่วนอีสปอร์ตเพียงอย่างเดียวจะมีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 46.7 ล้านล้านบาท

นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมเจอร์ฯ เห็นกระแสอีสปอร์ตที่สะท้อนผ่านการจัดอีเวนต์ต่างๆ และจำนวนกลุ่มผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในฐานะผู้นำธุรกิจไลฟ์สไตล์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เรามองช่องทางการขยายฐาน ทั้งฐานลูกค้าเป้าหมายและฐานรายได้ เพื่อเจาะตลาดใหม่ โดยตัดสินใจจับมือกับ เดลล์ เกมมิ่ง ผู้นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ชั้นนำของโลกสำหรับชาวเกมเมอร์ เปิดให้บริการโรงภาพยนตร์อีสปอร์ตแห่งแรกในโลก ณ โรงภาพยนตร์ที่ 4 เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา ภายใต้ชื่อ “Dell Gaming Esports Cinema” รวมทั้งดึงบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีไอทีและคอมพิวเตอร์อย่างอินเทล และนีโอ ลูชั่น รวมถึง “ทรูออนไลน์” สนับสนุนไฟเบอร์อินเทอร์เน็ตใน eSport Cinema ระดับ Gigabit แห่งแรกในไทย

ที่สำคัญ การเปิดโรงภาพยนตร์อีสปอร์ตถือเป็นเกมต่อยอดธุรกิจโรงภาพยนตร์ให้เป็นมากกว่าโรงภาพยนตร์ หลังจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เริ่มทดลองรุกเข้าสู่ธุรกิจเกมส์ครั้งแรก โดยร่วมกับเอไอเอสและไอแมกซ์ เปิดให้บริการเอไอเอส ไอแมกซ์ วีอาร์ (AIS IMAX VR) ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ทั้งดูหนังและเล่นเกมผ่านแว่นวีอาร์คุณภาพสูง HTC Vive และ StarVR ให้คนไทยได้สัมผัสประสบการณ์ Virtual Reality ในโลกเสมือนจริง ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 200-300 คนต่อวัน

“โรงหนังอีสปอร์ตจะเป็นโรงภาพยนตร์ไอเดียใหม่แห่งแรกในโลก รูปแบบ Mixed-use ทั้งการจัดฉายภาพยนตร์และจัดกิจกรรมด้านอีสปอร์ต ด้วยเครื่องฉายระดับ 4K หน้าจอขนาดใหญ่ 14.6 x 6.1 เมตร เทียบได้กับจอทีวีขนาด 622 นิ้ว ระบบเสียงดอลบี้ 7.1 และที่นั่งแบบ สเตเดียม รองรับผู้เข้าแข่งขันสูงสุดครั้งละ 60 คน และผู้เข้าชมอีกกว่า 200 คน ทำให้การแข่งขันอีสปอร์ตในโรงภาพยนตร์แตกต่างจากการแข่งขันในสถานที่ทั่วไป เพราะได้ทั้งภาพและเสียงที่มีคุณภาพคมชัด” นรุตม์กล่าว

สำหรับค่าบริการของโรงภาพยนตร์อีสปอร์ต มี 2 ประเภทราคา คือ ราคาเหมาทั้งวัน 200,000 บาท และราคาเหมาครึ่งวัน 100,000 บาท แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาให้เลือก คือ ช่วงเวลา 10.00-15.00 น. และ ช่วงเวลา 17.00–22.00 น. ซึ่งค่าบริการจะรวมอุปกรณ์ทุกอย่างและอินเทอร์เน็ต โดยโรงหนังอีสปอร์ตสามารถรองรับการแข่งขัน Tournament แบบ Offline ทุกรูปแบบ การคัดเลือกนักกีฬาชาวไทย ทั้งระดับประเทศและระดับโลก การถ่ายทอดสดสัญญาณการแข่งขันระดับโลก หรือการจัดงานคอมมูนิตี้ Official Thailand Fanclub จากเกมต่างๆ เช่น เกม DoTA, Overwatch, PubG, FIFA หรือการจัดงานเปิดตัวสินค้า Gaming

“สิ่งที่เราต้องการตอบโจทย์กับลูกค้าที่ใช้สถานที่ของเมเจอร์ในการจัดงานอีสปอร์ตเป็นเรื่องการให้บริการที่ครบวงจร เพราะที่ผ่านมาลูกค้าใช้สถานที่ของเมเจอร์ที่โรงภาพยนตร์สยามภาวลัยจัดอีเวนต์การแข่งขันหรือกิจกรรมอีสปอร์ตต้องเสียค่าเช่าสถานที่ 500,000 บาทต่อวัน ไม่รวมค่าออร์แกไนซ์และเครื่องมือต่างๆ แต่โรงหนังอีสปอร์ตบริการให้ลูกค้าทั้งหมด ซึ่งเราตั้งเป้าหมายรายได้จากโรงหนังอีสปอร์ตปีแรก 120 ล้านบาท” นายนรุตม์กล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนขยายโรงหนังอีสปอร์ตสาขาใหม่ๆ ในปีหน้า โดยเน้นสาขาตามทำเลติดรถไฟฟ้า อยู่ในแหล่งบริษัทไอที สถานศึกษาและแหล่งรวมกลุ่มวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ เนื่องจากอุตสาหกรรมเกมหรือธุรกิจเกมมีกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนเล่นเกม แต่ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้และสร้างอาชีพ ตั้งแต่นักกีฬาอีสปอร์ต โค้ช ผู้จัดการทีม ผู้จัดการแข่งขัน กรรมการ ผู้ดูแลเกม (Game Master) นักออกแบบเกม นักพัฒนาเกม แคสเตอร์เกม นักพากย์ (Shoutcast) นักสร้างคอนเทนต์ และอาชีพที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย

แน่นอนว่า จึงไม่ใช่มีเพียงค่ายโรงหนังอย่างเมเจอร์กรุ้ปที่จะรุกเข้าช่วงชิงตลาดอีสปอร์ตเท่านั้น แต่ความร้อนแรงของธุรกิจเกมยังดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการหลายค่ายกระโดดเข้าสู่สมรภูมินี้อย่างต่อเนื่อง

วีรฤทธิ์ สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้จัดการบริหารทรัพย์สิน ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเห็นแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมอีสปอร์ตร่วมสองปีและได้ปรับแบรนด์ “พันธุ์ทิพย์” สู่การเป็นคอมมูนิตี้สำหรับคนรักเกมและกีฬาอีสปอร์ต เน้น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มการจัดแข่งขัน(ลีก) กลุ่มการให้ความรู้และทักษะ (Academy) และการเป็นสปอนเซอร์ร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ โดยสร้างอารีน่าหรือสนามแข่งอีสปอร์ตที่ พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ เป็นสาขาแรกและขยายไปที่พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ ซึ่งได้ผลตอบรับดีมาก

ขณะที่บริษัท ทรู แอกซิออน อินเตอร์แอคทีฟ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ AXION VENTURES จากประเทศแคนาดา ประกาศลงทุนกว่า 300 ล้านบาท เปิดสตูดิโอเกมในไทย และดึงบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเกมจากหลากหลายประเทศ อาทิ แคนาดา สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อิตาลี และเยอรมนี เพื่อเป็นสตูดิโอผลิตเกมในระดับ AAA หรือ ทริปเปิล เอ จากฝีมือนักพัฒนาเกมคนไทย และตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ต แชร์) ของเกมไทยให้ได้ 10%

เบื้องต้นทรู แอกซิออน อินเตอร์แอคทีฟตั้งเป้าหมายเพิ่มนักพัฒนาเกมคนไทย 300 คนใน 2 ปีข้างหน้า โดยเกมแรกที่ถูกคิดค้นและออกมาจากสตูดิโอทรู แอกซิออน อินเตอร์แอคทีฟ คือเกม INVICTUS (อินวิคตัส) เป็นเกมรูปแบบใหม่ ที่มีการผสมผสานระบบการเล่นของการ์ดเกม และเกมต่อสู้แบบเรียลไทม์ด้วยกราฟิก และแอนิเมชั่นสมจริง ซึ่งเหมาะกับการแข่งขันอีสปอร์ต คาดจะเปิดให้บริการเกม INVICTUS อย่างเป็นทางการประมาณไตรมาสแรก ปี 2562

ด้านร้านค้าปลีกสินค้าไอที “ไอทีซิตี้” ล่าสุดเปิดให้บริการร้านใหม่ ภายใต้ชื่อทางการค้า “เอซ” (ACE) คอนเซ็ปต์ Ultimate Gamer หรือ “ที่สุดของนักเล่น” จัดจำหน่ายอุปกรณ์การเล่นเกมทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ Gaming แบบครบวงจร เป็นสาขาแรกในศูนย์การค้าเมกาบางนา

ทั้งหมดสะท้อนศักยภาพของอุตสาหกรรมเกมที่กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งธุรกิจอีสปอร์ตมีโอกาสขยายตัวก้าวกระโดดเช่นกัน แต่แผนของเมเจอร์กับเกมรุกใหม่ โปรเจกต์ “อีสปอร์ตซีนีม่า” จะเข้าเป้าระยะยาว หรือแค่แว้บๆ หลังจากเคยวูบๆ กับธุรกิจ Non-Movie อย่างโบว์ลิ่งและคาราโอเกะมาแล้ว

ใส่ความเห็น